ปัจจุบันช่องทางในการติดต่อซื้อขายสินค้าออนไลน์มีหลายช่องทาง ทำให้มีมิจฉาชีพที่หวังผลประโยชน์แฝงตัวอยู่ในนั้น เพื่อหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อ
นางสาว แก้ว (นามสมมติ) ชั้นปีที่ 4 คณะการบัญชีและการจัดการ เล่าว่า เคยสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่มีชื่อเสียงยี่ห้อหนึ่ง หนึ่งเดือนจะสั่งซื้อไม่ต่ำกว่า 5-10 ครั้ง ซึ่งไม่เคยโดนโกงหรือได้ของผิดแต่อย่างใด แต่เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้สั่งซื้อกล้องในช่วงลดราคาประจำเดือนของบริษัท
ในราคา 1,000 กว่าบาท แต่กลับได้ฟิล์มกล้อง Instax mini มาแทน ทำให้เราต้องส่งข้อความไปยังแอปพลิเคชั่นดังกล่าว เพื่อคืนสินค้าและเอาเงินที่เสียไปคืนมา แต่เมื่อส่งข้อความไปแล้วกลับต้องกรอกข้อมูลเยอะและบ่อยมาก เนื่องจากเป็นข้อความอัตโนมัติทำให้เสียเวลากับการให้ข้อมูล และเสียเวลาเเพ็คสินค้าส่งไปรษณีย์กลับคืน
นางสาวแก้ว เล่าต่อไปว่า ส่วนเวลาคืนเงินของทางแอปฯดังกล่าว จะต้องรออีกประมาณ 7 วัน โดยจะมีการแจ้งสถานะการคืนเงินผ่านทางอีเมลที่เราได้กรอกข้อมูลไปในตอนแรก เพื่อโอนเงินคืนผ่านบัญชีธนาคารหรือช่องทางที่เราชำระเงินในการสั่งซื้อสินค้านั้นเอง ซึ่งทำให้ตนไม่กล้าสั่งซื้อของออนไลน์แม้จะสั่งซื้อสินค้าผ่านบริษัทใหญ่ยังโดนโกง ถ้าเป็นในเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมก็มีความเสี่ยงต่อการโกงอีกเช่นกัน
นางสาวอนัญญา ชายฝั้น พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง เล่าว่า ตนเคยสั่งซื้อรองเท้าผ้าใบยี่ห้อ adidas รุ่น stan smith ในราคา 2,500 บาท ผ่านร้านค้าจากทวิตเตอร์ เมื่อมีการติดต่อขอซื้อ ตกลงราคาและบอกที่อยู่ของตนเองไปพร้อมแนบหลักฐานการโอนเงินไปให้ทางร้านค้าแล้ว แต่เมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ก็ยังไม่ได้รับของ ก็เริ่มที่จะสงสัยว่าตนเองจะถูกโกงหรือไม่ จึงเริ่มมีการตรวจสอบบัญชีร้านและเลขพัสดุสินค้าจากการจัดส่งของลูกค้าคนก่อนที่ร้านค้าเคยโพสว่า ได้มีการส่งสินค้าไป พอลองตรวจทั้งหมดแล้วพบว่า บัญชีร้านเป็นบัญชีขึ้นลิตต์รายการบัญชีมิจฉาชีพ อีกทั้งเลขพัสดุสินค้ายังไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี ทางตำรวจก็ให้ลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน มีการสอบถามถึงวิธีการโดนโกง
ด้าน ดร.ติณณ์ ชัยสายัณห์ อาจารย์ภาควิชากฎหมายเอกชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ปัจจุบันมีมิจฉาชีพออนไลน์จำนวนมาก ใช้วิธีขายของแล้วไม่ส่งของให้ ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น ผู้เสียหายต้องเก็บหลักฐานให้เรียบร้อยถ้ามีการโอนเงินให้เก็บหลักฐานการโอนเงินไว้ด้วย แล้วไปแจ้งความหรือบันทึกประจำวันไว้ ถ้าแจ้งความไว้แล้วตำรวจไม่ได้ดำเนินคดีต่อให้เราไปที่ติดต่อศูนย์ดำรงธรรมของแต่ละจังหวัดว่า โดนโกงจากจากซื้อขายออนไลน์และไม่ดำเนินการส่งสินค้าตามระยะเวลาที่กำหนด โดยศาลจะดำเนินการให้เรามีที่ร้องทุกข์ เพราะตำรวจจะไม่ค่อยดำเนินการต่อให้เพราะคิดว่าไม่ได้อะไรหรือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ผลงาน ดังนั้นไปแจ้งศูนย์ดำรงธรรมหรือหน่วยงานไกล่เกลี่ยของศาลจะรวดเร็วขึ้น เราสามารถหาทนายความต่อสู้กับคดีนี้ได้ และสามารถฟ้องร้องคดีเองได้ในทางคดีแพ่งและทางอาญา
“โทษทางกฎหมายมีความผิดฐานฉ้อโกง นับตามความผิด ถ้าโกงหลายคนโทษก็จะบวกเพิ่ม ในความเป็นจริงก็ติดคุกไม่เกิน 20 ปี ส่วนของไม่ตรงตามสเปกที่สั่งผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กรณีนี้ต้องร้องเรียนสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของแต่ละจังหวัด ในประเด็นของการที่ไม่ได้รับสิ่งของตามที่สั่ง ส่วนการเก็บหลักฐานให้แคปภาพโปรไฟล์หรือหลักฐานแชทไว้” ดร.ติณณ์ กล่าว