การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน
การละเมิดสิทธิและเสรีภาพของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา นำไปสู่ข้อถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวางถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ขัดกับหลักการของสิทธิมนุษยชน เช่น การประจานนักเรียนเพื่อให้เกิดความอับอาย การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับผู้ที่มีเพศวิถีแตกต่างจากเพศกำเนิด การคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ รวมไปถึงการคุกคามเด็กและลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนกระทั่งการวางกฎระเบียบของสถานศึกษาที่ขัดกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน และการปฏิบัติที่ขัดต่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา
นายจรัญ สร้างอำไพ รองผู้อำนวยการฝ่ายปกครอง (ร.ก.) โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม กล่าวว่า “การลงโทษเด็กนั้น ทำได้ แต่ต้องผิดกฎระเบียบจริง การลงโทษโดยการตัดกระโปรง มันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธินักเรียน และในการลงโทษมีหลายวิธี เช่น การพูดคุยด้วยวาจา การตักเตือน ไปจนถึงการเรียกผู้ปกครองมาพูดคุยถึงพฤติกรรมของนักเรียน โรงเรียนท่าขอนยางฯ มีการให้ครูที่ปรึกษาเป็นผู้ตักเตือน และจดลงสมุดบันทึกพฤติกรรมของนักเรียนที่โรงเรียนท่าขอนยางจัดทำขึ้น แต่ในการตักเตือนของโรงเรียนจะเป็นการพูดคุยและถามถึงสาเหตุ เพราะเด็กบางคนก็มีปัญหาไม่ได้อาศัยกับครอบครัว ก็ทำให้เกิดผลกระทบด้านอื่นตามมา”
“การลงโทษเด็กโดยการตีถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เพราะเด็กจะเกิดการต่อต้านต่อครูและโรงเรียน การลงโทษโดยการตีจึงไม่ค่อยเกิดขึ้นในโรงเรียนท่าขอนยาง ส่วนมากจะเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ ทำจิตสาธารณะแก่โรงเรียน เช่น การเก็บขยะ การลงโทษก็มีให้วิ่งรอบสนามกีฬาของโรงเรียนบ้าง แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นการประจาน หรือทำให้อับอาย เพราะเด็กครูก็จะถามนักเรียนก่อนว่าจะวิ่งหรือจะบำเพ็ญประโยชน์ ให้เด็กเป็นคนเลือกเอง เราไม่ได้ลงโทษสุ่มสี่สุ่มห้า การตัดผมเด็กที่โรงเรียน มี แต่เป็นกรณีที่ครูเตือนไปหลายครั้งแล้ว แต่นักเรียนก็ยังไม่ตัดผมให้ถูกต้อง และเจรจาก่อน ว่าทำผิดกฎระเบียบนะ ชี้แจงให้นักเรียนทราบ”นายจรัญกล่าว
ซึ่งการถูกผู้อื่นมาตัดผมโดยที่ไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของเส้นผมนั้น ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิเจ้าของร่างกายอย่างชัดเจน อีกทั้งการลงโทษด้วยวิธีการเช่นนี้เป็นการละเมิดกฎระเบียบกระทรวง จึงถือเป็นการกระทำผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ครูละเว้นการปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวง จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายของนักเรียน
นายจรัญกล่าวอีกว่า “ตอนนี้ยุคสมัยมันเปลี่ยน คำว่า ไม้เรียวสร้างคน ใช้ไม่ได้แล้ว สมัยก่อนครูลงโทษโดยการใช้ไม้เรียวมีแทบทุกโรงเรียน เพราะเป็นการลงโทษให้นักเรียนเข็ดหลาบ ครูตีด้วยความหวังดี แต่ถามว่ามีข้อดีหรือข้อเสียไหม มีแน่นอนครับ เพราะว่ามันเกิดผลกระทบต่อร่ายกายและจิตใจของนักเรียน ปัจจุบันจึงเกิดการยกเลิกการลงโทษด้วยไม้เรียว และสร้างกฎเกณฑ์ในการลงโทษที่เหมาะสมที่สุด เพื่อป้องกันการละเมิดกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาด้วย”
การลงโทษที่เหมาะสมโรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคมได้ลงโทษตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2550
โดยกฎหมายนี้บังคับใช้กับทุกโรงเรียน ทั้งรัฐบาลและเอกชน ซึ่งกำหนดให้การลงโทษเด็กทำได้แค่ 5 สถาน เท่านั้น
1. ว่ากล่าวตักเตือน
2. ทำทัณฑ์บน
3. ตัดคะแนนความประพฤติ
4. จัดกิจกรรมที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
5. พักการเรียน (ที่มา https://thaipublica.org/2020/08/newground12/ )

นายจรัญเผยว่า ตนและครูท่านอื่นในโรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคมพยายามที่จะไม่ลงโทษเด็กตามอารมณ์ แต่จะพูดคุยและตักเตือนกับนักเรียน เพื่อที่จะให้นักเรียนปรับปรุงตัวให้ถูกกฎระเบียบของโรงเรียน
นางสาวสุพิชญา อาจสุรินทร์นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม กล่าวว่า “ที่โรงเรียนส่วนมากจะไม่มีการลงโทษโดยการตี คุณครูที่โรงเรียนจะใช้วิธีการตักเตือนมากกว่า แต่หนูเคยโดนครูตำหนิ เรื่องที่ไม่ใส่เสื้อซับในและใส่กระโปรงสั้น ครูก็ถามถึงเหตุผลก่อน ไม่ได้ลงโทษโดยทันที”
“ถ้าเกิดมีปัญหาครูจะแจ้งผู้ปกครองให้ทราบด้วย จะได้ทราบทั้งสองฝ่าย ว่าหนูทำผิดจริงๆ เพราะอะไร แบบนี้ค่ะ แต่ถ้าเกิดหนูโดนครูตีเพราะเรื่องเล็กน้อย หนูคงรู้สึกไม่ดีมากเลยค่ะ เพราะว่าหนูเห็นข่าวเยอะมากๆ ที่ครูตีเด็ก ถ้าเป็นหนูคงไม่โอเค หนูเคยโดนครูเรียกไปด่าหน้าห้องครั้งหนึ่งค่ะ ตอนนั้นเสียความรู้สึกมากค่ะ แต่ว่าหนูก็กลับไปปรับความคิดใหม่ว่าทำไมหนูถึงโดนด่าโดยไม่มีสาเหตุ หรือหนูทำอะไรผิด ควรแก้ไขตรงไหน ในส่วนที่เราทำผิดบ้าง” น.ส.สุพิชญากล่าว
“หนูคิดว่าเรื่องผมมันไม่เกี่ยวเลยกับการเรียน เกรดมันไม่ได้วัดกันที่ทรงผม การที่ครูตัดผม หรือตัดกระโปรงเป็นเรื่องที่ควรตักเตือนก่อนดีกว่าค่ะ เพื่อนหนูบางคนก็รักผมของเขา หรือว่า กระโปรงบางตัว กว่าจะได้เงินมาซื้อ มันก็แพงค่ะ” น.ส.สุพิชญากล่าว
น.ส.สุพิชญากล่าวต่ออีกว่า “คำว่า ไม้เรียวสร้างคน หนูไม่เคยได้ยินเลยค่ะ แต่มันไม่ใช่เลยค่ะ ยิ่งครูทำร้าย ประจานนักเรียน ทำให้นักเรียนดูต่ำตมลงไป หนูคิดว่ายิ่งจะทำให้เด็กเสียความรู้สึกมากกว่าค่ะ ควรจะพูด ปรึกษากันดีกว่าค่ะ ดีกว่าจะมาทำร้ายร่างกายกัน หนูว่ามันผิดค่ะ”
ปัจจุบัน อาจจะเป็นเรื่องที่เห็นจนชินตาแล้วกับเรื่องครูทำโทษนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการตัดผม การตัดเสื้อผ้า การใช้กำลัง หรือการประจาน เมื่อนักเรียนทำผิดกฎระเบียบของโรงเรียน แต่เมื่อทำผิด ก็ต้องได้รับบทลงโทษที่ถูกต้อง โดยมีการกำหนด และพูดคุยกับนักเรียนก่อน มิใช่การทำตามเจตนาของครู และที่เหมาะสมที่สุด คือลงโทษตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อที่จะป้องกันการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน
นาราภัทร กองเพชร ทีมข่าวหนังสือพิมพ์สื่อมวลชนรายงาน