More
    Sunday, February 27, 2022

    พิมายเมืองเก่า ที่เล่าผ่านมุมมองใหม่

    -

    ผมเริ่มออกเดินทางจากบ้านในอำเภอชุมพวงประมาณเก้าโมงกว่า ๆ ซึ่งห่างจากอำเภอพิมายประมาณ 40 กิโลเมตร คาดการณ์เวลาไว้แล้วว่า หนึ่งชั่วโมงก็คงถึง “ปราสาทหินพิมาย” พอดี ระหว่างนั่งรถโดยสารสายชุมพวง-พิมาย-โคราช เข้าเขตอำเภอพิมาย อยู่ ๆ ความทรงจำเมื่อตอนมัธยมปลายก็ผุดขึ้นมาในหัว มันคือความเคยชินกับการนั่งรถสายนี้ ตั้งแต่เช้าเพื่อมาเรียน ตอนเย็นก็ต้องรีบแย่งกันขึ้นรถ เพราะเดี๋ยวไม่ได้นั่ง ฮ่า ๆ  และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้จากการขึ้นรถสายนี้เมื่อครั้งยังอยู่ม.ปลาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ๆ ที่ได้รู้จักกันบนรถและกลายมาเป็นเพื่อนสนิทกันจนถึงปัจจุบัน หรือแม้แต่ได้ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการจะเดินทางไปโคราชแต่สื่อสารพนักงานบนรถไม่รู้เรื่องกัน เพราะคุยคนละภาษา “บ.ข.ส.เก่าพิมายครับ บ.ข.ส.เก่ามีลงขอทางเลยนะครับ!”เสียงตะโกนดังลั่นของพนักงานบนรถ ที่บอกระยะกับผู้โดยสาร ทำให้ผมสะดุ้งหลุดจากความคิดนั้น และเตรียมตัวลงที่นี่เพราะถึงปราสาทหินพิมายแล้ว….

    ป้าวาลย์เจ้าหน้าที่ต้อนรับหน้าปราสาทฯ

    “สวัสดีค่ะ…มากี่คนคะ” เสียงอันอ่อนนุ่มของพนักงานหญิงวัยกลางคนที่กล่าวต้อนรับพร้อมกับรอยยิ้มที่สดใส สร้างความประทับใจกับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ผมจึงรีบตอบกลับไป “ป้าวาลย์ วัดดี๋ครับ จ๋ำได้ไหม?” สำเนียงที่คุ้นชิ้นของภาษาโคราชนี้ทำให้ป้าสังวาลย์ที่เป็นพนักงานต้อนรับนั่งคิดอยู่สักพัก แล้วตอบกลับผมมาว่า “ใครฮึ คุ่นๆ จ๋ำเสียงได่ยุแต่นึกมิออก” เพื่อไม่ให้ป้าแกสงสัยไปกว่านี้ผมเลยรีบเฉลยและตอบกลับแกไปว่า “เอ๋าแต่ก่อนกะเคยมาส่งข้าวให้นั่นเดะ” ป้าแกรีบอ๋อเลยล่ะครับ ขอเล่าถึงที่มานะครับ เมื่อก่อนตอนที่ผมเรียนจบม.ปลายเป็นช่วงที่ว่างไม่มีอะไรทำบวกกับรอมหาลัยเปิดเทอม ผมเลยรับทำงานพิเศษที่ร้านอาหารตามสั่งในระแวกนั้น บ่อยครั้งที่ผมได้มาส่งข้าวให้ป้าวาลย์แกเลยทำให้สนิทกับแก “เท่าไหร่ครับป้าวาลย์” ผมถามราคาค่าเข้าชมอุทยานฯหลังจากที่ไถ่ถามสาระทุกข์กันไปแล้ว ป้าแกรีบตอบมา “20 บาทเท่าเดิมแหละ แต่วันนี้ป้าออกให้เด้อ…นานๆทีจิได้มาเนาะ” ถือเป็นน้ำใจและการต้อนรับที่ผมประทับใจที่มาครั้งไหนๆก็ได้รับตลอด ซึ่งปกติแล้วอัตราค่าบริการการเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์พิมายนั้นคนไทยจะมีอัตราค่าบริการอยู่ที่ 20 บาท ชาวต่างชาติค่าบริการอยู่ที่ 100 บาท ส่วนนักเรียน/นักศึกษาในเครื่องแบบ  และภิกษุสามเณรยกเว้นค่าเข้าชม ซึ่งอุทยานประวัติศาสตร์พิมายเปิดให้บริการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 7.00 – 18.00 น. หลังจากที่รู้ตัวว่าได้เข้าฟรีผมก็รีบขอบคุณป้าวาลย์เป็นการใหญ่และขอตัวจากป้าไปชมปราสาทด้านใน

    อุทยานประวัติศาสตร์พิมายหรือ “ปราสาทหินพิมาย”เป็นพุทธศาสนสถานในนิกายมหายาน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากตัวจังหวัดนครราชสีมาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 60 กิโลเมตร ซึ่งเป็นปราสาทหินที่มีความเก่าแก่และสำคัญอีกที่หนึ่งในประเทศไทย โดยมีอายุราว 1,000 ปีมาแล้วครับ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์แห่งอาณาจักรเขมรโบราณ ผมเริ่มเดินจากจุดเริ่มต้นโดยสิ่งแรกที่เราจะพบคือ พลับพลาเปลื้องเครื่อง ตั้งอยู่บริเวณด้านซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาทโดยมีการสันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้ คงใช้เป็นสถานที่พักเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูงที่เสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่พักจัดขบวนสิ่งของถวายต่าง ๆ จากนั้นเดินตรงมาก็จะพบกับภาพวิวที่สวยมากๆ สิ่งที่ตั้งอยู่ตรงหน้าคือทางทอดยาวนเป็นเส้นนำสายตาให้มองเห็นปราสาทองค์กลางอยู่ไกลๆ ซึ่งก็ชวนให้คิดว่าคนสมัยก่อนเขาใช้กลวิธีใดในการสร้างสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าได้ถึงขนาดนี้

    ต่อจากพลับพลาเปลื้องเครื่องผมเดินขึ้นสะพานนาคราชซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นทางเชื่อมเข้าสู่ตัวปราสาทโดยมีผังเป็นกากบาทที่ปลายสะพานจะมีรูปนาคราชชูคอเป็นรูปนาค 7 เศียรซึ่งตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลแล้วสะพานนี้คือจุดเริ่มต้นที่จะนำพาเข้าสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยเชื่อว่าจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างโลกสวรรค์กับโลกมนุษย์ เมื่อผ่านบันไดนาคราชแล้วจะถึงซุ้มประตูและกำแพงแก้ว

    ชาลาทางเดิน

    จากนั้นจะเข้าสู่ ชาลาทางเดินเป็นลานชั้นนอกของปราสาท ปรากฏแนวทางเดินทอดไปยังซุ้มประตูระเบียงคดด้านทิศใต้ แนวทางเดินนี้ก่อด้วยหินทราย ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่องทางเดินเมื่อเดินมาถึงจุดนี้สถานที่ตรงหน้าคือสิ่งที่ดึงดูดใจที่ทำให้ไม่อยากละสายตาไปไหนเลยเส้นชาลาทางเดินที่นำสายตาเข้าสู่ปรางค์ทั้ง 3 องค์เรียงกันสูงตระหง่านตรงหน้าประกอบกับต้นไม้เขียวขจีรอบข้างที่ตัดกับสีของหินยิ่งทำให้ตัวปราสาทโดดเด่นขึ้นมา ทำให้ผมไม่พลาดที่จะเก็บภาพสวยๆจากร่องรอยของอารยธรรมนี้ไว้

    ปราสาทประธานที่ภายในเรือนมีห้องครรภคฤหะ

    ผมเดินต่อไปจนถึงปราสาทประธาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางและจุดสำคัญที่สุดของปราสาทหินพิมายแห่งนี้ ปราสาทประธานสร้างด้วยหินทรายสีขาว สูง 28 เมตร หันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งแตกต่างจากศาสนสถานเขมรในที่อื่นๆ ซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ มณฑปและเรือนธาตุ มีการสลักลวดลายประดับตามส่วนต่างๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง ด้านนอกสลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ด้านในสลักภาพเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาคติมหายาน ภายในเรือนธาตุเป็นส่วนสำคัญที่สุดเรียกว่า “ห้องครรภคฤหะ” เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก

    ห้องครรภคฤหะที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก

    หลังจากที่ไหว้พระในห้องครรภคฤหะเพื่อเป็นสิริมงคลเสร็จแล้ว ผมตัดสินใจเดินเล่นและเก็บภาพรอบปราสาทต่อ หวังว่าจะได้ภาพสวยๆของร่องรอยอารยธรรม ระหว่างเดินไปถ่ายรูปไปก็คิดไปถึงเมื่อตอนม.ปลายที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่องของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเกี่ยวกับความสำคัญของปราสาทหินพิมายกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนเมืองพิมายลุ่มแม่น้ำมูลแห่งนี้ ว่ามันคืออารยธรรม ซึ่งอารยธรรมก็คือรากเหง้าของสังคมที่สืบทอดกันมากลายมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนให้เห็นประวัติความเป็นมา วิถีชีวิต บรรพบุรุษ และการเจริญเติบโตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนลุ่มแม่น้ำมูลแห่งนี้ ซึ่งปราสาทหินนี้เป็นการบอกความเป็นมาของตัวตนของคนในชุมชนว่า คนในชุมชนมีความเป็นมาหรือชาติพันธุ์มาจากที่ใด ซึ่งส่งถึงปัจจุบันด้วย นั่นคือกลายมาเป็นแหล่งเศรษฐกิจในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเศรษกิจทางสังคม ทางวัฒนธรรม ทางด้านการเมืองและการท่องเที่ยว หรือกล่าวโดยสรุปก็คือปราสาทหินพิมายนั้นทำให้ทุกคนรู้จัก “อำเภอพิมาย”

    ขณะคิดเพลินๆอยู่นั้น จู่ ๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ผมเคยได้ยินเรื่องการต่อต้านของชาวบ้านเกี่ยวกับการเสนอรายชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พิมายแห่งนี้ขึ้นเป็นมรดกโลก UNESCO แต่ผมก็ยังไม่รู้ข้อมูลอะไรมาก แต่ด้วยความสงสัยเลยตัดสินใจเดินเข้าไปขอข้อมูลกับพี่เจ้าหน้าที่กรมศิลป์ที่ดูแลอุทยานประวัติศาสตร์พิมายแห่งนี้โดยพี่เจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลว่า เกิดจากการที่ชาวบ้านนั้นเข้าใจว่าทางกรมศิลปากรจะเวนคืนที่ดินรอบอุทยานฯ แต่ความเป็นจริงนั้นคือทางกรมศิลปากรนั้นเพียงแค่จะกำหนดของเขตโบราณสถานพิมายเพื่อเป็นการควบคุมอาคารและสิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อตัวปราสาท แต่ด้วยความที่เมื่อกำหนดของเขตและควบคุมก็ย่อมมีผู้เสียผลประโยชน์นั่นคือนายทุน ดังนั้นนายทุนอาจสร้างความเข้าใจผิดกับชาวบ้านทำให้เกิดกระแสต่อต้าน แต่ขณะนี้ได้พักการยื่นเสนอรายชื่ออุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้เพื่อเป็นมรดกโลก UNESCOไว้ก่อน

    การเดินทางครั้งนี้นอกจากทำให้ผมได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของผมเองแล้วยังทำให้รู้ระบบเบื้องลึกเบื้องหลังทางการสังคมอีกด้วย นอกจากนี้การเดินทางไม่จะจำเป็นต้องออกไปเรียนรู้สิ่งต่างๆให้ไกลสุดแดนแต่แค่เรามองให้เป็น มองให้เห็นหลายๆมุมก็จะทำให้เราได้อะไรที่มากกว่าจากการเดินทางนั้น ทุกๆเส้นทาง ทุกสถานที่ที่เราได้ออกเดินทางไปถึง แน่นอนว่าเราต้องพบเจอกับสิ่งต่างๆมากมายทั้งสิ่งที่เราคุ้นชินและสิ่งที่เราไม่เคยเห็นไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรมหรือผู้คน อีกสิ่งหนึ่งที่นักเดินทางต้องพบเจอระหว่างการเดินทาง คือเพื่อนร่วมทาง เราไม่รู้หรอกว่าจุดหมายการเดินทางของเพื่อนร่วมทางนั้นจะเหมือนกับเราหรือเปล่า เขาอาจจะเพียงผ่านมาเพื่อแลกเปลี่ยนหรือให้ประสบการณ์บางสิ่งบางอย่างกับเรา และเมื่อถึงจุดหมายของแต่ละคน เราก็ต้องแยกทางจากกัน แต่สิ่งที่จะยังคงอยู่คือ…..ความทรงจำและเป็นประสบการณ์ที่มีค่าที่เราได้เรียนรู้ตลอดการเดิน

    ข้อมูลอ้างอิง : https://www.museumthailand.com/th/museum/Phimai-Historical-Park

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ