รถรางไฟฟ้า หนึ่งในบริการฟรีจากทางมหาวิทยาลัยที่นิสิตและบุคลากรควรได้รับ ซึ่งงบประมาณที่ได้มาจากกิจกรรมที่สร้างรายได้ของทางมหาวิทยาลัย ใช้เงินกว่า 6.17 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาการจราจร ลดการใช้รถส่วนบุคคลที่ล้นหลามจนเกิดเป็นปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ ให้หันมาใช้บริการรถสาธารณะ เป็นแผนการพัฒนาสู่การเป็น “Green University” หรือมหาวิทยาลัยสีเขียว
รถราง แก้ปัญหาการจราจรอย่างไร บริการรถรางไฟฟ้าสาธารณะจะออกทุกๆ 15 นาที จุดจอดที่แรกหลังตลาดน้อย เริ่มเวลา 07.00 น. วิ่งวนไปแต่ละคณะตลอดทั้งวัน แต่ปัญหาอยู่ที่รถรางยังไม่เพียงพอต่อจำนวนนิสิตที่ใช้บริการ
เพิ่มความถี่ในการให้บริการ จะช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ ด้วยขนาดของรถที่บรรจุคนได้เพียง 24 ที่นั่ง เล็กลงจากรถรางคันเดิมที่เคยใช้ แต่ลดอันตรายได้มากกว่า เนื่องจากไม่มีพื้นที่ที่คนจะสามารถยืนโหนได้ หลายความเห็นจากนิสิตที่ใช้บริการเสนอว่า ให้เปลี่ยนจากรถรางเป็นรถเมล์ไฟฟ้าอย่างของมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือเพิ่มจำนวนรถรางขึ้นอีกเท่าตัว ทั้งหมดล้วนมีความเป็นไปได้ แต่ต้องรอให้หมดสัญญากับรถรางเจ้านี้เสียก่อน เพราะเป็นการเช่าปีต่อปี และต้องใช้งบประมาณที่มากกว่าเดิมด้วย ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่มีการปรับค่าเทอมขึ้นจากเดิมที่จ่ายตามหน่วยกิตเป็นระบบเหมาจ่าย ขั้นต่ำอยู่ที่ 10,000 บาท จากที่เคยจ่ายหน่วยกิตละ 200-400 บาท เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการเพิ่มค่าเทอม มหาวิทยาลัยก็จะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณในแต่ละด้านก็มีแนวโน้มที่จะต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของนิสิตตามที่ได้วางจุดประสงค์ไว้ เมื่อครั้งก่อนที่จะปรับขึ้นค่าเทอม สิ่งที่สะท้อนว่ารถรางช่วยแก้ปัญหาการจราจรภายในมหาวิทยาลัยได้จริงหรือ เห็นได้จากจำนวนรถจักรยานยนต์ของนิสิตกับพื้นที่จอดรถที่หลายคนเรียกร้อง ให้ขยายเพิ่มขึ้น ในเมื่อจำนวนนิสิตที่ทางมหาวิทยาลัยรับเข้ามาในแต่ละปีมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมากกว่าจำนวนบัณฑิตที่จบใหม่เสียอีก และการขนส่งสาธารณะที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้เพียงพอต่อการใช้บริการได้ จึงกลายเป็นปัญหาที่คาราคาซังอยู่อย่างที่เห็น