ผ้าไทย กลายเป็นมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรมตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ย้อนกลับไปสัก 10-20 ปี เราจะเห็นภาพยายจับกี่ทอผ้าพร้อมกับสอนแม่ที่นั่งข้างๆกัน ภาพแม่ช่วยยายหมุนไหม ภาพเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของใครหลายๆคน ปัจจุบันเราก็จะยังเห็นอยู่บ้างประปรายในสังคมชนบท เป็นภาพที่จำลองวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในยุคสมัยนั้น ในยุคที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวกระโดดไปไกลอย่างเช่นปัจจุบัน
การที่ผ้าไทยถูกมองว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม มันคือการนิยามให้ดูเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้อยาก ยิ่งทำให้เด็กยุคใหม่เริ่มห่างไกลจากผ้าไทยไปเรื่อยๆ เนื่องจากไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการ ไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นสักเท่าไหร่นัก แต่เน้นที่ผู้ใหญ่เสียมากกว่า ทำให้ผ้าไทย ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมหรือผ้าภูไท ถูกซื้อเป็นของขวัญ ของฝาก ให้คนรุ่นแม่ รุ่นย่า รุ่นยาย ไม่ได้ถูกซื้อเพื่อใส่ได้ในชีวิตประจำวันบ่อยนัก
เราขอพาทุกคนไปสัมผัสกับเมืองรองที่ขึ้นชื่อว่า “เกษตรอินทรีย์ วิถีอีสาน” บ้านหนองแซง ต.หนองแซง อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีชาวภูไท หรือผู้ไทอาศัยอยู่ และยังคงมีเอกลักษณ์ความเป็นภูไทที่แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน ทั้งภาษา การแต่งกาย ประเพณีและวัฒนธรรม ไปดูกันว่าเขาทำให้ผ้าภูไทก้าวไปพร้อมกับเด็กยุคใหม่ได้อย่างไร
แม่แก้ว เจริญตา ปราชญ์ชาวบ้านการทอผ้าพื้นเมือง-ผ้ามัดหมี่ เล่าถึงจุดเด่นของผ้าไหมภูไทห้องแซงว่า “เมื่อก่อนใช้ผ้าฝ้าย แต่ปัจจุบันพัฒนาเป็นผ้ามัดหมี่ เพื่อให้ดูทันสมัยและสวยงามมากขึ้น ซึ่งลายหมากจับเป็นลายประจำท้องถิ่นนำมาประยุกต์ต่อเป็นลายสนหยาดเพชร เอกลักษณ์อยู่ที่สี จะใช้สีกรมท่าลายขาวเท่านั้น ”
ซึ่งมีกรรมวิธีการทอที่ประณีตกว่าที่จะได้ผ้าไหมลายต่างๆผืนหนึ่ง ด้วยความตั้งใจที่ต้องการจะอนุรักษ์ผ้าพื้นเมืองให้คงอยู่สืบไป ทำให้ชาวภูไทห้องแซงร่วมแรงร่วมใจกัน ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ โดยร่วมมือกับโรงเรียนจัดให้มีการแต่งกายชุดพื้นเมืองทุกวันศุกร์ เป็นการปลูกผังให้เด็กๆได้เห็นคุณค่าของเอกลักษณ์ผ้าพื้นเมืองและภูมิใจในความเป็นภูไทของบ้านห้องแซง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเด็กๆที่นี่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์การแต่งกายตามสไตล์หนุ่มสาวภูไทไม่น้อย เพราะเท่าที่กวาดสายตามองไปรอบๆก็เห็นแต่เสื้อผ้าสีครามเต็มไปหมด อาจเป็นเพราะหมู่บ้านแห่งนี้พยายามที่จะผลักดันให้ผ้าภูไทสามารถสร้างรายได้ สามารถแสดงออกความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ ผ่านการจัดกิจกรรมในงานตลาดต้องชม วิถีถิ่นภูไทห้องแซง พัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แต่ที่ต้องตาตรึงใจที่สุดคือ การแสดงฟ้องรำที่รวมเอาทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่มาสวมใส่ชุดชาวภูไทตามแบบฉบับพื้นเมือง ถือเป็นการสร้างโอกาสให้วัยรุ่นได้สัมผัสกับสิ่งที่พวกเขาถุกปลูกฝังมาตลอดว่ามันคือ “มรดกล้ำค่า”
แม่แก้วยังเล่าอีกว่า ในอนาคตนั้น ผ้าภูไทจะถูกพัฒนาให้ทันสมัยมากขึ้น จะนำไปทำเป็นชุดสำหรับใส่ทำงาน ชุดที่วัยรุ่นสามารถใส่ได้ในหลายๆโอกาส ให้ดูมีความเป็นแฟชั่นขึ้นมา สร้างคุณค่าที่คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทำให้คนหยิบจับมาใส่มากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงซื้อเป็นของขวัญเก็บไว้โชว์ในตู้โชว์ของเท่านั้น