เมื่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นศัตรูข้าวของชาวนา
และเป็นปัญหาที่เกษตรกรแก้ไม่ตกมาโดยตลอด
จนกระทั่งมีโครงการอบรมวิชาชีพของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ซึ่งเป็นการนำเปลือกหอยเชอรี่มาแปรสภาพเป็นสิ่งของประดับ
ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนบ้านดอนสวน ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
เปลือกหอยสีน้ำตาลอ่อนที่ดูไร้ค่า ไร้ประโยชน์ ถูกประดับบนแจกัน กล่องใส่ทิชชู
จนเกิดเป็นลวดลายต่างๆ สวยงามสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้า
ใส่ความตั้งใจของชาวบ้านที่ช่วยกันประติดประต่อเปลือกหอยทีละชิ้นๆ อย่างประณีตและชำนาญ
จุดเริ่มต้นของเปลือกหอยสร้างรายได้
ผืนดินที่ถูกปกคลุมด้วยต้นข้าวอันเขียวขจีในวัยกำลังตั้งท้อง
มันคือทุ่งนาที่เปรียบเสมือนชีวิตและจิตใจของเกษตรกรไทยทุกคน และนั่นก็เป็นที่อยู่ของศัตรูพืชตัวฉกาจอย่าง
“หอยเชอรี่” เช่นกัน เห็นทีจะเป็นตามสำนวนไทยที่ว่า เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้
เพราะหอยเชอรี่นั้นทำลายข้าวในนาจนหมดสิ้น แถมยังส่งกลิ่นเหม็นโชยไปทั่วสารทิศ
เราได้พูดคุยกับหญิงวัยกลางคน รูปร่างสันทัดนามว่า แม่อำพร บรรเทา
หัวหน้ากลุ่มผู้สูงอายุบ้านดอนสวน เล่าถึงความเป็นไปเป็นมาของโครงการนี้
“คนอีสานนิยมนำหอยเชอรี่มาประกอบอาหาร ส่วนเปลือกก็จะทิ้ง แต่เอาไปทิ้งที่ไหนมันก็เหม็น
อีกอย่างหอยเชอรี่มันก็เป็นศัตรูพืช เพราะชอบกินต้นข้าวในนา ต้องหาทางกำจัด
แล้วก็ได้อาจารย์จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าให้เปลือกหอย
และจัดตั้งเป็นกลุ่มประจำหมู่บ้านขึ้น” แม่อำพร
เล่าให้เราฟังในขณะที่มือยังประติดประต่อเปลือกหอยลงบนกล่องกระดาษทิชชูอย่างเบามือ
โครงการกำจัดขยะเปลือกหอยเชอรี่
เป็นโครงการหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของคนในชุมชนบ้านดอนสวน
โดยได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์กุสุมา พรหมคุณ อาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการรีไซเคิลเปลือกหอยแปรรูปเป็นสินค้า OTOP
และจัดจำหน่ายตามงานประจำจังหวัดทั่วภาคอีสาน
นอกจากนี้ยังมีการอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านหมู่บ้านดอนสวน และหมู่บ้านแหย่งในเขตอำเภอกันทรวิชัย
จนเกิดการตั้งกลุ่มประจำหมู่บ้านขึ้น เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มได้นำความรู้ไปประกอบเป็นอาชีพเสริม
ทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของคนในชุมชนอีกด้วย
เปลือกหอยแปรรูป
“แกร๊บๆๆๆ” เสียงของกรรไกรที่กระทบกับเปลือกหอยเชอรี่ ตัดเป็นชิ้นๆ
เพื่อนำไปติดบนกล่องกระดาษทิชชู แจกันดอกไม้ และกระถางต้นไม้
กลายเป็นสินค้าแฮนเมดที่สร้างรายได้และอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน
การทำงานของบรรดาพี่ ป้า น้า อา เป็นไปอย่างเรียบง่ายและต่อเนื่องตามกำลังจะไหว
ทุกคนทำงานกันด้วยความตั้งใจ พร้อมใบหน้าที่ยิ้มแย้มเสมอ เช่นเดียวกับแม่อำพร
ที่ยังคงขะมักเขม้นติดเปลือกหอยลงบนกล่องกระดาษทิชชู
ในขณะที่ยังคงพูดคุยกับเราอย่างเป็นกันเองเรื่องการแปรรูปเปลือกหอยสู่อัญมณีล้ำค่าแห่งท้องทุ่ง
“เริ่มมาจากเก็บเปลือกหอยเชอรี่ที่อยู่ในทุ่งนา นำมาต้มแล้วตากให้แห้ง จากนั้นก็ตัดก้นเปลือกหอยออก
และตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วก็นำขี้เลื่อยและกาวมาผสมให้เข้ากัน ทาลงไปที่ภาชนะที่จะติดเปลือกหอย
เมื่อเสร็จแล้วจึงนำเปลือกหอยที่ตัดไว้มาแปะทับลงบนกาวแบบนี้” แม่อำพร
เล่ากรรมวิธีการแปรรูปเปลือกหอยอย่างละเอียดพร้อมกับลงมือทำให้เห็นภาพ ด้วยความคล่องแคล่ว
จากนั้นก็นำไปตากแดด
รอจนกาวแห้งก็นำยาแนวกระเบื้องมาทาตามภาชนะที่นำเปลือกหอยมาแปะเพื่อที่จะให้เปลือกหอยยึดติ
ดกับภาชนะได้อย่างเหนียวแน่น และรอจนแห้งอีกครั้ง ตามด้วยลงน้ำยาแลคเกอร์เพื่อความเงางามของสินค้า
เป็นอันเสร็จสิ้นกรรมวิธีการเจียระไนอัญมณีชิ้นนี้
ส่งออกสินค้าสู่ภายนอก
สินค้า OTOP ในประเทศไทยมีมากมายหลายชนิด และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป
การที่จะสร้างสรรค์สินค้าสักชิ้นออกสู่ท้องตลาด จึงต้องมีความโดดเด่น แตกต่าง
เพื่อสร้างจุดยืนดึงดูดให้คนสนใจในสินค้านั้นๆ
ซึ่งสินค้าจากเปลือกหอยของบ้านดอนสวนนั้นจะมีความโดดเด่นทั้งลวดลาย ความเงางาม
ความเป็นธรรมชาติของสีจากเปลือกหอย รวมไปถึงการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าที่ไร้ประโยชน์
สามารถใช้สอยได้จริงในชีวิตประจำวัน จึงทำให้เป็นที่ต้องการในท้องตลาด
แสงแดดยามบ่ายลอดผ่านชายคาบ้านหลังหนึ่งที่เราได้ร่วมวงสนทนากันอย่างสนุกสนานและเป็นกันเอง
เราไม่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปนาน ได้โอกาสจึงถามเรื่องการส่งออกสินค้าสู่ท้องตลาดในทันที
“จะนำสินค้าไปขายตามงานต่างๆ เช่น งานไหมประจำจังหวัด งานโชว์สินค้า OTOP
โดยจะวางขายในราคา 100-200 บาท ซึ่งรายได้จากการขายสินค้า
ส่วนหนึ่งจะนำมาเป็นต้นทุนในการผลิตครั้งต่อไป และอีกส่วนจะนำมาแจกจ่ายให้สมาชิกในกลุ่มอย่างเท่าๆ กัน
ประมาณเดือนละ 600-700 บาท
ถือเป็นการให้ผู้สูงอายุในชุมชนที่ว่างงานได้ประกอบอาชีพเสริมและสร้างรายได้จากการเข้าร่วมโครงการในครั้
งนี้” แม่อำพรตอบคำถามเราอย่างเป็นกันเองอีกเช่นเคย และไม่วายส่งยิ้มให้อย่างเอ็นดู
นอกจากนี้ เปลือกหอยสารพัดประโยชน์ยังได้เข้าร่วมแข่งขันประกวดในโครงการกรุงไทยต้นกล้า
เมื่อช่วงเดือนมีนาคม ปี 2560 ติดอันดับที่ 2 จาก 130 ทีมทั่วประเทศ ได้รับเงินสนับสนุน 400,000 บาท
และเงินนั้นนำมาพัฒนาและบริหารภายในกลุ่ม
สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน
การสนทนาของผมกับแม่อำพรล่วงเลยมาพักใหญ่
แดดยามบ่ายยังคงสาดลงพื้นปูนซีเมนต์อย่างไม่ลดละ แต่ยังดีที่พอมีลมพัดให้คลายร้อนได้บ้าง
ระหว่างนั้นก็ได้พูดคุยกับแม่ทองสุข แท่นทองจันทร์
หนึ่งในสมาชิกโครงการกำจัดขยะเปลือกหอยเชอรี่ของชุมชนบ้านดอนสวน ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 30 คน
นอกจากถามสารทุกข์สุกดิบแล้ว เราก็ได้พูดคุยการเข้ามาทำงานในส่วนนี้
“พอดีแม่ว่างจากการทำงานประกอบกับมีคนในชุมชนมาชักชวน
จึงเกิดความสนใจและได้เข้าร่วมอบรมฝึกอาชีพกับคณะอาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับการรีไซเคิลเปลือกหอยและนำมาประดับสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น
และการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ช่วยแบ่งเบาภาระภายในครอบครัว”
แม่ทองสุขเล่าการเข้ามาทำอาชีพเสริมนี้ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
สังคมในชนบทมีความแตกต่างจากสังคมเมืองทั้งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การประกอบอาชีพ
รวมไปถึงรายได้ เนื่องจากในชนบทไม่ได้มีแหล่งทำงานประจำอย่างโรงงานอุตสาหกรรมมากนัก
ถ้าไม่ประกอบอาชีพเกษตรกร ค้าขาย ก็ทำงานโรงงาน ซึ่งส่วนมากจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ทำอาชีพเกษตรกร
และเมื่อไม่ใช่ฤดูทำนาคนส่วนใหญ่ก็จะว่างงาน
ท้ายที่สุดแล้ว ตราบใดที่ระบบนิเวศยังคงสมบูรณ์ หอยเชอรี่ก็จะยังอยู่คู่กับเกษตรกร
ถึงแม้ว่าจะเป็นศัตรูตัวฉกาจในนาข้าว แต่ขณะเดียวกัน ก็มีเกษตรกรบางกลุ่มที่นำเปลือกหอยเชอรี่ธรรมดา
มาเพิ่มมูลค่าให้กลายเป็นสินค้าที่ใช้สอยได้ในชีวิตประจำวัน นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้เสริม
ยังทำให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำในแต่ละวัน ซึ่งถือเป็นเพื่อนยามเหงาได้ดีทีเดียว
รวมถึงเป็นการวางอาชีพให้กับลูกหลานในอนาคต
หวังว่าเปลือกหอยเชอรี่ของชุมชนบ้านดอนสวนจะคงอยู่ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น