More
    Sunday, March 6, 2022

    ข้าวโพดเงินล้านบนทางหลวงหมายเลข12

    -

    ไม้ไผ่ที่ถูกเหลาให้เรียวเล็กกระชับจับถนัดมือปลายผูกด้วยถุงพลาสติกคล้ายพู่ ถูกโบกสะบัดบนทางหลวงหมายเลข 12 เพื่อเชื้อเชิญผู้สัญจรผ่านไปมาให้ลิ้มลองรสข้าวโพดพันธุ์ข้าวเหนียวอันขึ้นชื่อของชาวบ้านหนองบัว ต.หนองบัว อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น เราก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกสะกดด้วยปลายพู่ที่โบกสะบัดขึ้น-ลง

    “เอาข้าวโพดแบบได๋ดีจ้า” เสียงทักทายด้วยสำเนียงอีสานจากหญิงวัยกลางคนปลุกให้เราตื่นจากภวังค์ ภาพเบื้องหน้าคือรอยยิ้มอย่างเป็นมิตรจากแม่ค้าขายข้าวโพด เราตัดสินใจสั่งข้าวโพดเพื่อลองลิ้มรส แม่ค้าเจ้าของรอยยิ้มจัดแจงเอาข้าวโพดลงถุงอย่างทะมัดทะแมง ระหว่างนั้นเราก็พูดคุยถามไถ่กัน ว่าเหตุใดจึงเป็นของขึ้นชื่อ คุณป้าไม่รอช้ารีบเล่าให้ฟังถึงที่มาของข้าวโพดประจำหมู่บ้านแห่งนี้

    การจัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดบ้านหนองบัวเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2541 เพื่อจัดระเบียบและดูแลสมาชิกในกลุ่มได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 76 ครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวโพดของสมาชิกในกลุ่มคิดเป็นจำนวน 385 ไร่ แต่จำนวนการปลูกข้าวโพดจริง ๆ รวมชาวบ้านที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกลุ่มด้วย จะอยู่ที่ประมาณ 500-600 ไร่

    20160311

    ข้าวโพดสัญลักษณ์บ้านหนองบัว

    ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเรื่องข้าวโพด เราตัดสินใจเดินทางไปภายในบ้านหนองบัว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากซุ้มขายข้าวโพดมากนัก ไม่นานรถก็แล่นมาจอดหน้าบ้าน มองจากในรถเป็นร้านค้าขนาดใหญ่หลังหนึ่ง ที่มีลักษณะชั้นล่างเป็นปูน ชั้นบนเป็นไม้ คาดว่าน่าจะเป็นร้านค้าประจำหมู่บ้าน

    ด้วยความสังเกตของพวกเราพบว่ามีแผ่นไม้สี่เหลี่ยมที่ถูกตอกด้วยตะปูติดอยู่เสากลางบ้าน ไม้แผ่นนั้นมีอยู่ทุกหลังคาเรือน เป็นไม้ที่ระบุชื่อเจ้าบ้านพร้อมบ้านเลขที่ของบ้านแต่ละหลัง และแผ่นไม้ที่อยู่ด้านหน้าระบุชื่อเจ้าบ้านว่า “สมหมาย สีดาคุณ” ซึ่งเป็นบ้านของบุคคลที่เราหยุดรถและคาดว่าน่าจะทราบเรื่องข้าวโพดเป็นอย่างดี

    เรารีบก้าวลงจากรถเข้าไปแนะนำตัวกับชายสูงวัยรูปร่างสันทัดที่กำลังยิ้มต้อนรับพวกเราอย่างใจดีพร้อมเอ่ยแทนตัวเองว่า “พ่อสมหมาย” เราพูดคุยทักทายแบบเป็นกันเอง ก่อนเริ่มบทสนทนาถึงอาชีพการปลูกข้าวโพด

    “ข้าวโพดก็ปลูกอยู่ทั่วหมู่บ้านนั่นแหละ เดี๋ยวพ่อจะพาไปดู อยู่ใกล้ ๆ ก็มี” พ่อสมหมาย ชายสูงวัย หัวหน้ากลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดบ้านหนองบัวเอ่ยปาก ก่อนขึ้นรถมาพร้อมกับพวกเรา ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที รถคันเล็กสีดำก็จอดเทียบกับไร่ข้าวโพดสีเขียวยาวสุดลูกหูลูกตา

    “ข้าวโพดเหล่านี้เป็นพันธุ์ที่ชาวบ้านหนองบัวปลูกกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ นับเป็นเวลายาวนานหลายปี ถือได้ว่าเมื่อก่อนข้าวโพดเป็นอาหารหลักของคนหนองบัว เพราะชาวบ้านมีฐานะยากจน ต้องอดข้าวอดน้ำ กินข้าวโพดแทนข้าวเป็นอาหารหลักมากกว่าเผือก มัน กลอย ข้าวโพดพันธุ์นี้จึงถือเป็นอัตลักษณ์ของคนที่นี่ไปโดยปริยาย” พ่อสมหมายพูดขณะก้าวลงจากรถ

     

    ข้าวโพดโอทอประดับ 3 ดาว

    พ่อสมหมาย เล่าต่อถึงที่มาว่าเมื่อ พ.ศ.2547 มีนโยบายจากรัฐบาล ให้จัดตั้งโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือเรียกย่อๆ ว่าโอทอป (OTOP) เป็นโครงการกระตุ้นธุรกิจของผู้ประกอบการในท้องถิ่น

    “ข้าวโพดเป็นผลผลิตเพียงอย่างเดียวที่เรามี ชนะการประกวดโอทอปทุกปี ตั้งแต่ปี 2547เพราะมีลักษณะที่แตกต่างจากข้าวโพดพันธุ์อื่น รสชาติหวาน เนื้อเหนียวนุ่ม กินง่ายไม่ติดฟัน ต้องเก็บมาต้มทันที น่าเสียดายที่มาไม่ทันช่วงเช้าที่ชาวบ้านเขาเก็บข้าวโพดมาต้มกัน ต้มกันสด ๆ ตรงนี้เลย เก็บแล้วก็เอามาต้มขาย” พ่อสมหมายยิ้มกว้าง ขณะบรรยายให้ฟังระหว่างพาเราลงสำรวจไร่ข้าวโพดกัน เมื่อพูดถึงปัญหาการส่งเข้าประกวดสินค้าโอทอป สีหน้าของพ่อก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

    พ่อสมหมาย เล่าต่อด้วยสีหน้าภูมิใจว่า “ข้าวโพดของเราได้โอทอป 3 ดาว ไม่สามารถไปถึง 5 ดาวได้ เพราะการประกวดต้องส่งเข้าไปประกวดที่กรุงเทพฯ ระหว่างการขนส่งอาจจะทำให้ข้าวโพดของเราเกิดความเสียหาย ข้าวโพดเป็นอาหารสด ที่ต้องต้มกินสดๆ ถึงจะได้รสชาติที่หวาน อร่อย แล้วถ้าเอาฝักดิบไปต้มที่กรุงเทพฯ รสชาติของข้าวโพดก็จะเปลี่ยนไป ไม่คงรสชาติเดิม ชาวบ้านจึงคุยกันว่าเอาแค่ 3 ดาวก็พอจึงหยุดการส่งเข้าประกวดไว้แค่นั้น เราก็ขายกันตามปกติที่เป็นมา ไม่ได้หาตลาดรองรับเพิ่ม ถ้าช่วงที่ข้าวโพดล้นตลาดเราก็จะขายให้เกษตรกร เอาไปเป็นอาหารสัตว์ในหมู่บ้าน”

    DSC_8212

    เคล็ด (ไม่) ลับความอร่อย

    เคล็ดลับความอร่อยของข้าวโพดบ้านหนองบัว ไม่ใช่แค่เพราะดินที่นี่เป็นดินร่วนปนทรายที่เหมาะแก่การปลูกข้าวโพดเท่านั้น แต่คนที่ปลูกข้าวโพดต้องใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดินให้ร่วนซุย เวลาฝนตกน้ำไม่สามารถท่วมขังได้ การหว่านเมล็ดก็จะหว่านแถวเดียว มีระยะห่างกันประมาณ 25 ซม. แต่ไม่เกิน 30 ซม. สำหรับ 1 เมล็ด และในระยะห่างทางเดินจะเว้นไว้ 80 ซม.หากหยอด 2 เมล็ดระยะห่างจะประมาณ 50 ซม. และในปัจจุบันมีการพัฒนาปลูกแบบฟันปลาเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีกว่าราว 90-95 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

    DSC_8241

    การเข้ามาของบริษัทเอกชน

    อย่างไรก็ตาม มีชาวบ้านบางส่วนประสบปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวหนองบัวเป็นโรค เช่น ฝักลีบ แมลงเจาะ ฝักไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากมีการปลูกข้าวโพดเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดปัญหานี้ทำให้บริษัทเอกชนหลายแห่งยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือในเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพด

    แต่มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่เข้ามาเป็นผู้พัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดนี้ให้มีความแข็งแรง สามารถต้านทานโรคได้ดี แต่ยังแฝงรสชาติดั้งเดิมคงไว้อยู่ และสิ่งที่ได้เพิ่มเติมมาจากการพัฒนาสายพันธุ์คือสีสันที่แปลกใหม่ จนชาวบ้านพากันเรียกว่า “พันธุ์ลูกผสม” เมื่อประสบความสำเร็จจากการปรับปรุงพันธุ์แล้ว บริษัทเอกชนแห่งนี้จึงได้นำเมล็ดพันธุ์มาจำหน่ายแก่ชาวบ้าน ในราคาถุงละ 500 บาท บรรจุ 6,000 เม็ด

    “หนึ่งถุงสามารถนำไปปลูกได้ประมาณ 1 ไร่ ทำผลผลิตได้ถึง 6,000 ฝักต่อไร่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการของชาวบ้านว่าทำได้ดีถึง 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ผลผลิตที่เสียส่วนมากจะอยู่ในลักษณะของการดูแลที่ไม่ดีหนูแทะ หนอนกินและระยะห่างในการปลูกไม่มีระบบ อาจทำให้ต้นข้าวโพดถี่เบียดกันได้ ” พ่อสมหมายอธิบายด้วยใบหน้าจริงจัง พร้อมยื่นถุงเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดให้พวกเราดู

    DSC_7390

    แตกไลน์จัดจำหน่ายขึ้นท็อปส์ มาร์เก็ต

    ในส่วนของการจัดจำหน่าย มีศูนย์จำหน่ายสินค้าท็อปส์ มาร์เก็ต (TOPSMARKET) ที่กรุงเทพฯ ได้เข้ามาสนับสนุนเปิดตลาดให้กับชุมชน โดยการเข้ามารับซื้อผลผลิตข้าวโพดฝักดิบของชาวบ้าน

    พ่อสมหมายอธิบายให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า “เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา มีการขยายตลาดขึ้น ท็อปส์ มาร์เก็ตที่เข้ามาซื้อผลผลิตจากเราสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 3,000–5,000 ฝัก โดยมีคนเข้ามารับเองถึงที่ ซึ่งบางครั้งผลผลิตที่มีในชุมชนก็ไม่เพียงพอตามออเดอร์ที่เขาสั่งซื้อ เพราะทุกฝักที่ถูกส่งออกไปล้วนถูกคัดสรรมาแล้วเป็นอย่างดี เป็นผลผลิตเกรดพรีเมียมที่ชาวบ้านมี เขาจะมารับทุกวันพุธ ราคาขายเป็นราคาส่งต่อตันได้กำไรไม่มาก เมื่อเทียบกับการขายที่ซุ้มข้างถนนบนทางหลวงหมายเลข 12” พ่อสมหมายเล่าให้พวกเราฟังรายได้หลักล้านจากการปลูกข้าวโพด

    แม้ชาวบ้านหนองบัวจะนิยมปลูกข้าวโพดขายกันเป็นจำนวนมาก แต่นี่เป็นเพียงอาชีพรองของพวกเขาเหล่านั้น เพราะอาชีพหลักคือการเป็นเกษตรกรทำไร่ทำนาเป็นหลัก ซึ่งน่าแปลกว่าอาชีพรองดังกล่าว กลับเป็นตัวสร้างรายได้จำนวนมากให้พวกเขาได้กินดีอยู่ดีหรือที่ภาษาอีสานเรียกว่าอยู่ดีมีแฮง

    “ หากพูดถึงรายได้พ่อคงไม่สามารถตอบเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ แต่จากกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดนั้นมีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่รวมกับชาวบ้านนอกกลุ่ม นับว่าเม็ดเงินเหล่านี้เป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลสำหรับอาชีพรองของคนที่นี่” พ่อสมหมายย้ำ

    เมื่อได้ฟังเราก็รู้สึกประหลาดใจกับตัวเลขรายได้ที่พ่อสมหมายบอก เพราะไม่คิดว่าข้าวโพดจะสามารถสร้างรายได้มหาศาลเช่นนี้ เราจึงพูดทีเล่นทีจริงว่า “หากเรียนจบแล้วไม่มีงานทำพวกหนูคงต้องมาปลูกข้าวโพดกับคุณพ่อแล้วล่ะ”พ่อสมหมายได้ยินอย่างนั้นก็หัวเราะเสียงดังออกมาทันที

                “การปลูกข้าวโพดก็เหมือนการเลี้ยงลูก เราจะรู้ว่าเขาชอบอะไร

                      ไม่ชอบอะไร หากไม่ดูแลเอาใจใส่ก็คงไม่ได้ผลผลิตที่ดี”

     

    แม้ข้าวโพดเป็นผลผลิตที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับชาวบ้านหนองบัว แต่ชาวบ้านยังคงปลูกข้าวโพดด้วยความสุขและดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ไม่ใช่ปลูกเพื่อมุ่งเน้นผลผลิตทางการค้า เพราะข้าวโพดเป็นอัตลักษณ์ประจำหมู่บ้านที่เปรียบเสมือนลมหายใจของคนที่นี่ไปเสียแล้ว

    20160311

    “กลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดมีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อปี”

     

     

     

     

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ