More
    Thursday, March 3, 2022

    ครอบครัวรังแกฉัน : ความรุนแรงจากคนใกล้ตัว

    -

    ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิเด็ก นอกเหนือความรุนแรงจากภายนอกแล้ว อีกความรุนแรงหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไปคือ ความรุนแรงที่เกิดจากคนในครอบครัว  คนในสายเลือดเดียวกัน จากความเคารพ ความศรัทธา แต่อาจแลกมาด้วยการถูกล่วงละเมิดสิทธิของเด็กในหลายรูปแบบ จากสถิติการรายงานข่าวของเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561ได้รายงานว่า ความรุนแรงในครอบครัวช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม พ.ศ. 2561 จะเห็นได้ว่า สถิติพุ่งถึง 83.6% เป็นผู้หญิงและเด็กถูกทำร้าย 5 คนต่อวัน ล่าสุดจากเพจอีจัน รายการข่าวเกี่ยวกับการกระทำชำเราเด็ก อายุไม่เกิน 15 ปี จำนวน 10 คน ภายในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ล้วนเป็นปมมาจากปัญหาในครอบครัวที่ทำร้ายร่างกาย ข่มขืนลูกในไส้  ตั้งท้องก่อนวัยอันควรและยังมีการฆ่าลูกของตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาที่เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้น ส่วนใหญ่มาจากบุคคลใกล้ตัวและคนที่มีสายเลือดเดียวกัน

     

    เลือดข้น ความรุนแรงเข้ม

    ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและได้พูดคุยกับ ด.ญ พลอยไพริน (นามสมมุมติ) อายุ 14 ปี เล่าว่า ตนเป็นลูกสาวคนเดียวในครอบครัว เคยอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในเขตพระราม 2  แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ครอบครัวของตนมีแม่เป็นหัวหน้าครอบครัว และมีอำนาจตัดสินใจทุกอย่าง ทั้งการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ก็ต้องถูกแม่บังคับเสมอ เช่น กลับบ้านให้ตรงเวลา เพราะตนต้องกลับมาช่วยแม่ขายผลไม้ทุกวันหลังเลิกเรียน และไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ หากขัดคำสั่งจะโดนตีด้วยไม้กวาด หรือปาสิ่งของจนได้รับบาดเจ็บตามร่างกาย บางครั้งถึงขั้นขังไว้ในห้องไม่ให้ไปไหนจนกว่าพ่อแม่จะกลับจากที่ทำงาน พอถึงบ้านก็จะมาเปิดประตูห้องให้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเตรียมตัวออกไปขายผลไม้ นับว่าเป็นกิจวัตรประจำวันของตนไปแล้ว ทุกครั้งที่เจอหน้าก็จะพูดประโยคซ้ำๆ ว่า ทำตัวไร้สาระไม่มีประโยชน์วันๆ ตั้งใจเรียนหนังสือให้จบ หางานทำ เก็บเงินสร้างอนาคตให้ตนเอง เป็นประโยคที่แม่มักจะพูดทุกครั้งที่เจอหน้า

    พลอยไพริน เล่าต่อว่า  ในส่วนของการศึกษาเป็นคนเรียนหนังสือไม่เก่ง ซึ่งตนได้พยายามเต็มที่แล้ว แต่แม่กลับไม่เข้าใจแล้วตวาดใส่หน้า ทำให้รู้สึกเสียใจเพราะการที่ทำผลการเรียนออกมาไม่ดีนั้น ตนก็อยากได้กำลังใจจากครอบครัวเป็นหลัก แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คิดจึงน้อยใจถึงขั้นไม่อยากอยู่กับครบครัว ปัจจุบันได้ขอพ่อกลับมาอาศัยอยู่กับป้าที่กาฬสินธุ์ ทำให้รู้สึกเป็นอิสระและมีความสุขมากขึ้น ผลการเรียนก็ดีขึ้นจนไม่อยากกลับไปอยู่ที่บ้านแล้ว

    ปัญหาเกิดจากครอบครัว

    จากสถิติที่ได้รับเคสการรักษาทางการแพทย์  แพทย์หญิงกนกวรรณ ศรีรักษา กุมารแพทย์โรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยว่า ในเคสที่เด็กเข้ารับการรักษาส่วนที่พบบ่อยคือ เด็กจะถูกทำร้ายร่างกาย สาเหตุมาจากปัญหาภายในครอบครัว รวมถึงการถูกล่วงละเมิด ข่มขืนจากผู้ปกครอง เนื่องจากแพทย์มองว่าภายในครอบครัวต้องมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมรูปแบบไหนก็ตามแต่ปัจจัยหลัก เกิดจากบริบทของสังคม สภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ ยาเสพติด ค่านิยมทางเพศ พฤติกรรมการเสพสื่อลามกในโลกออนไลน์   เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวและส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือการทะเลาะวิวาทของผู้ปกครองทำให้ตัวเด็กถูกลูกหลงจนได้รับบาดเจ็บ ส่วนเรื่องการเสพสื่อลามกอาจจะทำให้บุคคลในบ้านเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นจนทำการล่วงละเมิดเด็ก

    แพทย์หญิงกนกวรรณ เผยต่อว่า นอกจากการทำร้ายร่างกายและถูกล่วงละเมิด อีกหนึ่งปัจจัยหลักคือ การทอดทิ้งบุตรให้อยู่กับญาติหรือคุณตาคุณยาย ซึ่งตรงนี้แพทย์มองว่าเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะการที่พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัดและให้คนอื่นดูแลลูก เป็นอีกปัจจัยที่เสี่ยงสูงต่อการละเมิดสิทธิเด็ก เพราะเด็กไม่ได้รับความเอาใจใส่มากพอจากญาติที่รับอุปถัมภ์ ทั้งด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ จนถึงขั้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรงตามมา เช่น การติดเชื้อเอดส์ การตั้งครรภ์ก่อนวัย ติดการพนัน และยาเสพติด เป็นต้น

    กฎหมายมีไว้คุ้มครองสิทธิเด็ก

    ด้านนักกฎหมาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อมรเทพ  เมืองแสน ภาควิชากฎหมายมหาชน รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษาและวิจัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทางอาญา เนื่องจากเป็นการกระทำที่มีองค์ประกอบทั้งเรื่องการทำร้ายร่างกาย  ถูกกักขัง หรือทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ตามกฎหมายอาญา หากกรณีเป็นผู้ปกครองทำร้ายร่างกายเด็กจะได้รับโทษจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่กรณีที่เด็กได้รับการทำร้ายร่างกายถึงขั้นสาหัสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตโทษจะเพิ่มหนักขึ้นตามรูปคดีความ นอกจากจะได้รับโทษทางกฎหมายอาญายังได้รับโทษทางกฎหมายแพ่งอีก ซึ่งจะมีการกล่าวถึงค่าสินไหมทดแทนให้กับเด็กที่ถูกละเมิด เพื่อให้เด็กได้กับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติและต้องแยกเด็กออกจากผู้ปกครองที่ทำร้ายร่างกายตามกฎหมายแพ่งที่กำหนดไว้ แต่ต้องใช้อำนาจของศาลเข้าไปช่วยเหลือเด็ก

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อมรเทพ เผยต่อว่า นอกจากกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง ถ้าหากเน้นถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ส่งผลกระทบโดยตรงจากกรณีข้างต้น จะมีส่วนของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงภายในครอบครัวปี พ.ศ 2550 เป็นกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อต้องการสร้างความเท่าเทียมกันตามหลักสิทธิมนุษยชนและลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้งเป็นการเปิดช่องทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนในการดำเนินคดีอาญาในกรณีละเมิดสิทธิเด็ก เพราะนอกจากกระบวนการยุติธรรม ยังมีสหวิทยา นักจิตวิทยา  นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความเข้าใจถึงประเด็นความรุนแรง สำหรับพระราชบัญญัติกฎหมายฉบับนี้ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ หากมีผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับ 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อมรเทพ เล่าต่อว่า กรณีที่มีการนำภาพเด็กหรือคลิปวิดีโอที่ใช้ความรุนแรงจากครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นญาติหรือบุคคลรอบข้างที่กระทำการลงภาพและคลิปวิดีโอในโซเชียลจะมีการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ ทั้งคนที่เข้ามาแชร์ และแสดงความคิดเห็น นับว่าเป็นการกระทำความผิดจึงมีบทลงโทษทางกฎหมายอาญาในข้อหาละเมิดสิทธิเด็กทำให้เด็กได้รับความเสียหาย

    “หลักกฎหมายบัญญัติไว้สำหรับควบคุมความประพฤติของบุคคลในสังคม ในกรณีปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็กตามหลักกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งจะไม่สามารถยอมความได้ แต่ในทางระเบียบปฏิบัติดำเนินคดีเกี่ยวกับครอบครัวนั้น โดยส่วนใหญ่เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องอาจพยายามหาทางออกให้ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็เป็นได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อมรเทพ กล่าวทิ้งท้าย

    แนวทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด

    สำหรับแนวทางการแก้ไขหรือลดทอนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แพทย์หญิง กนกวรรณ  เผยว่า อันดับแรกต้องแก้ไขในส่วนของปัญหาภายในครอบครัวให้มีความสุข และทุกคนควรมีสิทธิเท่ากัน เข้าใจกันและกัน สามารถแสดงความคิดเห็นถึงปัญหาภายในครอบครัวพร้อมกับมีคนกลางเป็นคนตัดสินใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การทะเลาะวิวาทของเด็ก บุคคลภายในครอบครัวดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

    ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อมรเทพ เปิดเผยว่า ในมุมมองตนมองว่าหลักกฎหมายบัญญัติไว้ สำหรับควบคุมความประพฤติของบุคคลในสังคม ในกรณีปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็กตามหลักกฎหมายอาญาและแพ่งจะไม่สามารถยอมความได้ แต่ในทางระเบียบปฏิบัติดำเนินคดีเกี่ยวกับครอบครัวนั้น โดยส่วนใหญ่เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องอาจพยายามหาทางออกให้ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ฉะนั้นการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวควรแก้ไขจากภายในสถาบันครอบครัว มีการจัดวางระบบโครงสร้างของบริบทสังคม วัฒนธรรม จริยธรรมในสังคมไทย ตนเชื่อว่าจะส่งผลให้ลดปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวได้หากหวังพึ่งทางกฎหมายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายเดียวคงไม่ประสบความสำเร็จ ครอบครัวควรเป็นกลไกสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหา  

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ