More
    Monday, March 7, 2022

    นิสิต มมส หันพึ่งเงินนอกระบบ ชี้ใช้สิทธิ กยศ. ค้ำ

    -

    นิสิต มมส หันพึ่งเงินนอกระบบ โดยใช้สิทธิ กยศ. ค้ำ เหตุเงิน กยศ. ออกล่าช้า  ผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบเผยผู้กู้ที่เป็นนิสิต กยศ. คิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน หักดอกเบี้ยรวบยอดครั้งเดียวจากเงินต้น ตามจำนวนเดือนที่ผู้กู้ต้องการ ขณะที่นักวิชาการระบุการการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีถือว่าผิดกฎหมาย

    จากการณีที่เมื่อต้นภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ที่ผ่านมา กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มีการดำเนินงานที่ล่าช้า ส่งผลให้เงินค่าเทอม ค่าครองชีพของนิสิตนักศึกษาผู้กู้ยืมออกล่าช้ากว่ากำหนดนานถึง 4 เดือน ทำให้กลุ่มนิสิตผู้กู้ยืม กยศ. มหาวิทยาลัยมหาสารคามหลายราย ต้องหันหน้าเข้าหาบริษัทเงินกู้นอกระบบ โดยใช้สิทธิการเป็นนิสิตกู้ยืมเงินจาก กยศ. เป็นหลักค้ำประกัน

    นางสาวแก้ว (นามสมมติ) นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ผู้กู้เงินนอกระบบ โดยใช้สิทธิ กยศ. ค้ำประกัน เปิดเผยว่า ตนรู้จักบริษัทปล่อยเงินกู้เอกชนแห่งหนึ่งที่ปล่อยเงินให้นิสิตนักศึกษาผู้กู้ยืม กยศ. จากรุ่นพี่ที่เรียนด้วยกัน เหตุผลที่ทำให้ตนพึ่งเงินกู้นอกระบบก็เพราะ กยศ. มีความล่าช้า ตนมีความเดือดร้อนเรื่องเงินค่าครองชีพมาก เพราะต้องมีการใช้จ่ายในแต่ละวัน ส่วนการกู้ยืมนอกระบบนั้น ตนได้ปรึกษากับทางบ้านก่อนทุกครั้ง

    “ครั้งนี้ครั้งที่ 2 แล้ว เงินต้น 3 เดือน 6,600 บาท หักดอกเบี้ยไป 850 บาท จะได้เงินมา 5,750 บาท ซึ่งดอกเบี้ยก็ถือว่าแพง แต่เรามีความจำเป็น ก็ต้องยอมเสียไป นิสิตใช้สิทธิการเป็นผู้กู้ กยศ. จะกู้ได้ง่าย เพราะเหมือนเรามีหลักประกันที่ว่าเรามีเงินมาจ่ายเขาคืน เอกสารที่ต้องยื่นก็มีสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน อย่างละ 2 ชุด และบัตร ATM พร้อมรหัส สมุดบัญชี รหัสผู้ใช้งาน กยศ. พร้อมรหัสผ่าน รหัสนิสิตพร้อมรหัสผ่าน สำหรับการเข้าระบบมหาวิทยาลัย

    เราต้องเอาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้เขา เพื่อเช็คว่าเงิน กยศ. เข้าระบบหรือยัง แล้วก็คงเผื่อเราหนีด้วย ไม่งั้นคงไม่เอารหัสนิสิตพร้อมรหัสผ่านไว้ เพราะรุ่นพี่ที่แนะนำเคยบอกว่า ถ้าเราหนีหาย ทางบริษัทคงเข้าไปในระบบมหาวิทยาลัย เพื่อยกเลิกผลการลงทะเบียนเรียน ไม่ให้เราได้เรียนในเทอมนั้น ๆ เมื่อครบกำหนด 3 เดือน หรือเงิน กยศ. เข้าครบตามจำนวนเงินต้นที่เราเอามา เขาก็จะคืนของพวกนั้นให้เราและทำลายเอกสารทิ้ง” นางสาวแก้ว กล่าว

    นางสาวพิมพ์ (นามสมมติ) นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ผู้กู้เงินนอกระบบ โดยใช้สิทธิ กยศ. ค้ำประกัน เปิดเผยว่า ตนรู้จักการกู้ยืมเงินประเภทนี้เพราะเพื่อนแนะนำ และขั้นตอนการกู้ยืมเงินของบริษัทคือจะให้เราเซ็นสัญญากู้ยืม พร้อมแนบเอกสารประกอบการกู้ยืม มีสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน อย่างละ 2 ฉบับ เมื่อทำสัญญาเงินกู้เสร็จเรียบร้อยแล้ว บริษัทจะยึดสมุดบัญชีธนาคารคู่สัญญา กยศ. และบัตร ATM คู่สัญญา กยศ. ของเราไว้ พร้อมทั้งให้รหัสบัตร ATM เขาไป ก่อนจะให้เงินเราตามจำนวนที่กู้ยืม ซึ่งจะหักอัตราค่าบริการและค่าดอกเบี้ยจากจำนวนเงินต้นที่เรากู้ยืม

    เมื่อถามถึงอัตราดอกเบี้ย นางสาวพิมพ์ กล่าวว่า “อัตราดอกเบี้ยแบบนี้ถือว่าแพงมาก และมีค่าดำเนินการเอกสารในแต่ละเดือน ซึ่งคิดว่าในส่วนการดำเนินการเอกสารในแต่ละเดือนนั้นไม่น่าจะคิดเงิน เพราะเราทำสัญญาเพียงแค่ครั้งเดียว ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอนนั้น จำไม่ได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทคิดมีจำนวนกี่บาท คิดเป็นร้อยละเท่าไร เพราะเงินกู้ที่ได้มาก็จำไม่ได้เช่นกัน รู้แค่ว่าอัตราดอกเบี้ยไม่มีความสมเหตุสมผลเท่าที่ควร

    นางสาวพิมพ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้กู้ยืมเงินเช่นนี้มาแล้ว 3-4 ครั้ง เหตุผลที่ตัดสินใจกู้ยืมเงินเพราะช่วงนั้นตนมีความจำเป็นต้องนำเงินมาจ่ายค่าหอพัก และเงิน กยศ. ก็ยังไม่ออก จึงตัดสินใจกู้ยืมเงินนอกระบบนี้

    “การกู้ยืมเงินแบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง ควรไม่ควรคงตอบไม่ได้ ถ้ามองทางกฎหมายก็ถือว่าไม่ควร เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่ากฎหมายกำหนด แต่หากมองในทางความรู้สึกก็คงคิดได้ว่าควร เพราะหากไม่มีการกู้เงินแบบนี้ อาจทำให้เราไม่มีเงินจ่ายค่าหอ” นางสาวพิมพ์ กล่าว

    ส่วนนายแมน (นามสมมติ) ผู้ประกอบกิจการเงินกู้นอกระบบ เปิดเผยว่า นิสิตที่สามารถกู้ยืมเงินได้ จะเป็นกรณีผู้กู้ยืม กยศ. เท่านั้น โดยอัตราดอกเบี้ยของทางร้านจะแยกดังนี้ 1. พนักงานเงินเดือนประจำ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน 2. นิสิต กยศ. คิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน หักดอกเบี้ยรวบยอดครั้งเดียวจากเงินต้น ตามจำนวนเดือนที่ผู้กู้ต้องการ แต่ไม่มีอัตราค่าธรรมเนียมในการกู้

    “ผู้กู้ต้องเซ็นสัญญากู้ยืม ถ้าหมดสัญญาเราจะทำลายเอกสารสัญญาในส่วนที่ได้เซ็นไว้ ส่วนบัตร ATM สำเนาทะเบียนบ้านก็จะคืนเขาไป จำนวนนิสิตไม่ค่อยเยอะเท่าไร เพราะจะมีมาเฉพาะคนที่เดือดร้อนจริง ๆ แล้วเราก็อนุมัติแค่บางราย บางกลุ่มเท่านั้น บางรายเราก็ไม่อนุมัติ” นายแมน กล่าว

    ด้านแหล่งข่าวซึ่งเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยว่า ตามข้อบังคับของกฎหมายแล้ว การปล่อยเงินกู้นั้นให้คิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หากผู้ประกอบการรายใดมีการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราดังกล่าว ดอกเบี้ยจะถือเป็นโมฆะ แต่เงินต้นไม่นับเป็นโมฆะ การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราเช่นนี้ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญาตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา และผู้เสียหายสามารถดำเนินคดีทางกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา มาตรา 3 (ก) ได้

    เรื่อง วรางคณา พงษ์สพัง

    ภาพ จิรวัฒน์ บรรจง

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ