More
    Monday, March 7, 2022

    ป้าหมวย : แม่ค้าอาหารอีสานกับชีวิตที่ต้องสู้เพื่อน้องชายและความฝัน

    -

    “เฮ้อ” ผมถอนหายใจพร้อมกับพยุงตัวเองให้ลุกขึ้นจากเตียงและดูเวลาที่มือถือ “เผลอหลับไปตอนเย็นอีกแล้วสินะเรา” บ่นพึมพำคนเดียวในห้อง “จ๊อกกก…. โอ๊ย หิวข้าวจังตื่นมาเวลานี้จะมีอะไรให้เรากินบ้างไหมเนี่ย” พูดไปก็พรางเลื่อนหน้าจอมือถือเพื่อที่จะแชตถามเพื่อนในกลุ่มว่าหิวเหมือนกันไหม

    “ทุกคน……”

    “ว่าไงตะวัน” เจมส์ตอบกลับ

    “หิวข้าวรึเปล่า”

    “กำลังหิวอยู่พอดีเลย ออกไปหาอะไรกินข้างนอกกันดีไหม” เจมส์ตอบกลับ

    “โอเคเลย เจอกันหน้าหอนะ”

    “ฟิล์มกับปอมล่ะ” ผมถามอีกสองคนที่เหลือ

    “เดี๋ยวเราตามไปทีหลังนะ” ฟิล์มและปอมตอบกลับ

    หลังจากนั้นเราก็ขับรถหาร้านอาหารเพื่อจะกินให้หายหิวในคืนนี้ ด้วยความหิวที่มากเกินจะทนไหวจึงไม่เลือกร้านอาหาร เรามุ่งตรงไปจอดที่ร้านอาหารอีสานข้างถนนร้านเล็ก ๆ ร้านหนึ่ง ด้วยความหิวโหย ก็สั่งอาหารมาเยอะแยะ ทั้งจุ่มจิ้มที่เป็นชื่อเรียกเมนูของทางร้าน หมูย่างน้ำตก ส้มตำ ต้มแซ่บหมูและตบท้ายด้วยข้าวเหนียว 4 จาน แต่ก็ไม่ลืมบอกสองคนนั้นที่กำลังจะตามมาว่าเราสองคนอยู่ที่ไหน

    ระหว่างรออาหารเรามองไปรอบ ๆ มีลูกค้าเข้ามาเรื่อย ๆ โต๊ะหนึ่งเข้าโต๊ะหนึ่งออก บ้างก็ผ่านมาสั่งกลับบ้าน เราเริ่มคิดในใจว่ารสชาติของร้านนี้คงจะอร่อยไม่น้อย จากการแวะไปเวียนมาของลูกค้า และแล้วก็ถึงเวลาที่แม่ค้าว่างเราจึงเริ่มบทสนทนากันกับแม่ค้า ด้วยความที่อยากรู้จักสนิทสนมเผื่อจะได้เป็นเจ้าประจำ

    5

    …เพื่อบ้านหลังใหม่กับน้องชายที่พิการ…

    “ป้าครับ….ป้าชื่ออะไรหรอครับ” ผมเริ่มต้นบทสนทนากับเจ้าของร้าน

    “ป้าชื่อหมวยลูก” ป้าตอบกลับด้วยความเอ็นดู
    ป้าหมวยหรือพรกนก ชินหา ปัจจุบันอายุ 60 ปี และยังเป็นแม่ค้าขายอาหารอีสานที่ขึ้นชื่อย่านมอใหม่ อีกไม่นานเราจะได้รู้เบื้องหลังของหญิงวัยกลางคนผู้นี้ ที่มีรอยยิ้มบนใบหน้าที่เป็นภาพจำ แต่ใครจะไปรู้ว่าเธอผ่านเรื่องราวอะไรมามากมายก่อนที่จะมาเสิร์ฟอาหารอร่อย ๆ ให้พวกเราได้กินกัน
    เราไปพบกับเบื้องหลังของป้าหมวยกันดีกว่า……….

    “ป้าเปิดร้านนี้มานานหรือยังครับ”  ผมถามต่อ

    “ป้าเปิดร้านนี้ได้เกือบ ๆ 2 เดือนแล้วล่ะลูก”

    “ก่อนหน้านี้ป้าเคยทำงานอะไรมาก่อนไหมครับ”

    “ก่อนที่ป้าจะเริ่มมาเปิดร้านนี้ ตอนอายุ 19 ปี งานแรกที่ป้าทำคือ เป็นเสมียนที่สมิตโมคอนสิเนชัน ก่อสร้างถนนรัตนาธิเบศร์อาคารของเทคโนกรุงเทพฯ 4 ปี แล้วก็มาทำงานห้าง ตำแหน่ง PC (Product Consultant หรือพนักงานแนะนำสินค้าในห้าง) ทำเกือบ 10 ปี ทำที่ Central, Robinson, World trade, BigC แล้วแต่บริษัทจะส่งไป ป้าใช้ชีวิตกับการทำงานห้างมานาน อาชีพเสริมอย่างอื่นก็มีบ้าง เช่น ร้องเพลงตอนเย็นที่คาเฟ่ สวนอาหาร อันไหนที่ทำแล้วได้เงิน ป้าทำหมดแต่ก็ไม่ได้ทำทุกวันนึกอยากไปก็ไป ทำเดือนสองเดือนแล้วก็หยุดพอหันเหออกมาจากงานห้าง ก็มาสมัครกับในเท็ก ป.กุ้งเผา ในตำแหน่ง supervisor (ผู้ดูแลร้าน) แล้วก็เปิดร้านอาหารเองแนวอนุรักษ์เพลงเก่าแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เลยต้องกลับมาอยู่ที่บ้านเปิดร้านอาหาร ร้านแรกคือร้าน ครัวพี่อ๋อมแอ๋ม ต่อมาก็เป็นเหน่งหน้ามอ คุณแม่ใจดี แล้วก็ร้านนี้ปัจจุบันร้านอีสานแซ่บกระด้อ”

    ผมได้ยินคำตอบของป้าก็ฉุกคิดขึ้นในใจว่า ทำไมป้าต้องทำงานหนักขนาดนี้ ทำไมถึงต้องเปลี่ยนงานบ่อย มีเหตุผลอะไรรึเปล่า จึงได้ถามคำถามเหล่านั้นออกไป

    “ป้าอยากมีบ้านหลังใหม่เพื่อจะอยู่กับน้องชายที่พิการ”

    “แล้วบ้านที่ป้าอยู่ตอนนี้ของใครหรอครับ”

    “บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่แม่ของป้าปลูกเอาไว้ แต่ปลูกไว้ในที่ดินของน้องสาวที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ตอนนี้น้องสาวเขาก็โอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของลูกสาวเขาไปแล้ว กลายเป็นว่าป้าต้องอาศัยในที่ของหลานสาวตัวเองวันไหนเขาไม่พอใจเขาก็ไล่ วันไหนเขาใจดีเขาก็พูดดีด้วย”

    เมื่อได้ยินเช่นนั้นผมและเจมส์ยิ่งรู้สึกหดหู่ในใจ ผมจึงถามต่อไปว่า

    “แล้วน้องชายของป้าที่พิการล่ะครับ”

    “น้องชายของป้าพิการตั้งแต่เกิด ตอนนั้นป้าอายุได้ 17 ปีน้องชายของป้าก็เกิดช่วงนั้นพอดี ตอนเด็ก ๆ ที่เขาอายุได้ 6 เดือน แม่ของป้าออกไปขายของป้าก็อยู่กันสองคนกับน้อง น้องเป็นไข้ตัวร้อนก็พาไปหาหมออนามัย ก็หายหลังจากนั้นก็ไม่เดิน ไม่คว่ำ ไม่อะไรเลย แต่ก็ยังดูไม่ออกว่าพิการเพราะตอนนั้นยังเด็กมากเลยดูไม่ออก มารู้อีกทีก็ตอนที่ถึงวัยต้องนั่ง แต่กลับไม่นั่ง ไม่ตั้งไข่ ไม่เดิน ก็เลยได้มารู้ว่าเขาพิการตอนเข้าอายุได้ 1 ขวบ”

    “อ๋อออออ ครับ” ผมกับเจมส์อุทานขึ้นมาหลังจากสิ้นเสียงเจมส์ก็ได้ถามต่อไปว่า “แล้วช่วงที่ป้าออกไปทำงานที่อื่นใครดูแลน้องชายคุณแม่หรอครับ”

    “แม่ของป้าจะเป็นคนที่ดูแลน้องชาย ส่วนตัวป้าจะทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ มีกลับมาเยี่ยมอยู่บ้าง แต่ตอนนี้แม่ของป้าก็เสียชีวิตไปได้ 10 เดือนแล้ว ป้าก็เลยต้องเป็นคนรับภาระเลี้ยงดูน้องชาย”

    “มีคนเคยเข้ามาช่วยเหลือป้าไหมครับ” เจมส์ถามต่อ ในขณะที่ป้าหมวยก็กำลังวุ่นอยู่กับการทำอาหารให้เรา แต่ป้าก็ใจดี ไม่บ่นสักคำและยังยินดีที่จะให้เราทั้งคู่ถามต่อด้วยรอยยิ้มที่ปนกับหยาดเหงื่อบนใบหน้าของป้า

    “เคยมีคนเข้ามาช่วยแต่ว่าสิทธิ์ในการช่วยเหลือต่าง ๆ ก็หายไปกับแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งป้าก็เคยไปถามกับ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) เขากลับบอกให้ป้ามาถามผู้นำหมู่บ้าน พอมาถามผู้นำหมู่บ้านเขาก็ตอบมาว่า “ไม่รู้ จำไม่ได้” เขาไม่แนะนำเลยว่า แม่พี่ตายไปแล้วพี่ต้องเอาชื่อพี่มาเดี๋ยวผมทำเรื่องให้ เขาไม่เสนอแบบนี้มาเลย เขาปฏิเสธเราเลยว่า ไม่รู้ จำไม่ได้ เขาพูดเท่านี้”

    3

    …ชีวิตต้องสู้…

    จากที่เราได้ยินป้าเล่าให้ฟัง รู้สึกว่าเหมือนป้าสู้มาเพียงลำพัง ทั้งการทำงานที่เคยเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ เพื่อหาเงินส่งมาเลี้ยงน้องที่พิการและแม่ด้วยตัวเพียงคนเดียว ก็เลยอยากรู้ว่าป้ามีลูกและสามีรึเปล่า ผมจึงเอ่ยปากถามออกไปด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความสงสัย

    คนถูกถามตอบกลับมาด้วยใบหน้าเดิมที่ยังยิ้มแย้ม “ป้าเลิกกับสามีตั้งแต่ลูกคนเล็กอายุได้ 4 ขวบแล้วไม่เคยติดต่อกันอีกเลย” หลังจากสิ้นคำตอบ ผมและเจมส์ได้แต่นั่งนิ่งมองหน้ากันด้วยสายตาที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่ารู้สึกเศร้าขนาดไหนกับเรื่องที่ป้าเล่าให้ฟัง

    หลังจากเงียบไปสักพักหนึ่ง บรรยากาศรอบ ๆ ได้ยินเพียงเสียงรถที่ขับผ่านไปมาและน้ำต้มแซ่บที่กำลังเดือด ปุด ปุด ผมจึงตัดสินใจที่จะถามต่อเพราะยังอยากรู้เรื่องราวของคุณป้าอีก จึงถามออกไปก่อน “ป้าครับ ผมขอถามป้าต่อได้ไหมครับ”

    “ได้สิลูก อยากรู้อะไรถามมาได้เลยป้ายินดีตอบให้” ป้าตอบกลับมาด้วยใบหน้าเดิม ขณะที่ตัวเองนั้นก็กำลังปรุงต้มแซ่บอยู่ด้วย ผมไม่รอช้าที่จะถามคำถามต่อไปที่ผมสงสัยจากคำตอบที่แล้วของป้าหมวย “แล้วลูกของป้าล่ะครับ ป้ามีลูกกี่คน”

    “ป้ามีลูกสองคนคนโตอยู่โพนทอง คนเล็กอยู่กรุงเทพฯ แต่ว่าไม่เคยส่งข่าวไม่เคยมาหา” ยิ่งได้ยินคำตอบนี้ผมและเจมส์ยิ่งหดหู่ใจ มองหน้ากันด้วยใบหน้าที่เศร้าเคล้าน้ำตานิด ๆ และป้าก็เล่าต่อ “เมื่อก่อนเขาก็อยู่ที่นี่กับป้าแหละ แต่เขาไม่ถูกกับบ้านนู้น (บ้านของน้องสาว) ไม่ถูกกับยายบ้าง เลยตัดสินใจไปอยู่กรุงเทพฯ เขาก็ไปอยู่กับเพื่อนกับฝูงเขาที่นั่น”

    เมื่อสิ้นคำตอบของป้าหมวยผมก็วกกลับไปที่เรื่องของน้องชาย “แล้วตอนที่มาเปิดร้านแบบนี้ ใครช่วยดูแลน้องชายหรอครับ”

    “ป้าก็เทียวไปเทียวมา แต่จะมาตั้งร้านไว้ก่อน แล้วก็ฝากน้องร้านซ่อมรถ เขาก็มีน้ำใจเฝ้าให้ ป้ากลับไปที่บ้านไปป้อนข้าว ป้อนน้ำเพราะเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ป้อนเสร็จป้าจะปิดประตูบ้านไว้ แกก็อยู่คนเดียว เปิดไฟไว้ให้ เปิดพัดลมไว้ ตกดึกมาป้ากลับบ้านถึงจะได้กางมุ้งกันยุงให้ จ้างใครเขาก็ไม่ค่อยอยากจะมาดูให้ จ้าง 20-30 บาท แค่ป้อนข้าวเขาก็ไม่อยากจะทำให้ บางทีจ้างน้องสาวที่เป็นลูกของน้า 50 บาทป้อนข้าวตอนเย็นแต่ก็ไม่ได้จ้างทุกวัน”

    หลังจากสิ้นเสียงจากคำตอบนั้น ผมถามต่อไปว่า “ป้าเคยคิดที่จะทิ้งน้องชายไหมครับ”

    ป้าหมวยยิ้มและตอบ “ไม่… ไม่เคย เมื่อก่อนนี้เราก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอหลังจากที่แม่เสียชีวิตไปก็คือต้องดูแลอะ”

    2

    4

    …ความสุขของป้าหมวย…

    ในระหว่างนั้นก็เริ่มนำอาหารออกมาเสิร์ฟให้เราเรื่อย ๆ เริ่มจาก ต้มแซ่บสีสันฉูดฉาดที่ใครเห็นก็ต้องซีดปาก พร้อมกับหมูน้ำตกที่สีสันน่าทานไม่แพ้กัน

    แค่ได้เห็นสองอย่างนั้นก็น้ำลายแตกแล้วเราเลยส่งแชตไปหาฟิล์มกับปอมเพื่อให้ทั้งสองรีบตามมา

    “ต้มแซ่บกับน้ำตกหมูยั่ว ๆ จ้า” ผมส่งแชตไป ตามด้วยข้อความของเจมส์

    “รีบมานะ ถ้าช้าหมดก่อนไม่รู้ด้วยนะจ๊ะ”

    “ค่าาา กำลังออกไปค่าาา” ฟิล์มตอบกลับข้อความ ตามด้วยข้อความของปอม

    “แป๊บนึงนะ รอก่อนเรากำลังออกไปแล้ว แต่ถ้าหิวก็กินก่อนได้เลยนะ”

    “โอเค รีบมานะ หิวมากแล้ว” ปิดท้ายด้วยข้อความของผม

    ในระหว่างนั้นก็ยังไม่มีลูกค้าใหม่เข้ามาคงเป็นเพราะเวลาที่ดึกมากแล้ว มีเพียงโต๊ะข้าง ๆ ที่กำลังทานอย่างเอร็ดอร่อยกับเราสองคนที่กำลังรอทั้งเพื่อนและอาหารที่สั่ง อาจจะช้านิดหน่อยแต่คงเป็นเพราะเราสองคนถามป้าหมวย ป้าก็ทำไปด้วยตอบคำถามของเราไปด้วย

    หลังจากวางแชตจากสองคนนั้น ก็เงียบไปสักพักหนึ่ง เจมส์และผมนั่งมองป้าที่กำลังตั้งใจปรุงส้มตำให้กับเราอยู่

    จู่ ๆ เจมส์ก็ถามขึ้นมาว่า “ป้าเคยท้อแท้กับชีวิตไหมครับ??” ผมนั่งนิ่งพร้อมรอฟังคำตอบ

    “เคยนะ แต่ไม่ถึงกับคิดว่าจะฆ่าตัวตาย เคยท้อแบบนั่งร้องไห้ ไม่มีที่ไป ทำไมชีวิตเราลำบากทั้ง ๆ ที่เราก็สร้างแต่ความดี เราไม่เคยใส่ร้าย ไม่เคยให้ร้าย ไม่เคยเบียดเบียนใคร ไม่เคยเอาเปรียบใคร คบใครเราก็คบด้วยใจ แต่มันก็ไม่เคยที่จะสมหวัง สู้ไม่เคยถอยแต่ก็ไม่เคยเอาชนะอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น ชนะตัวเองก็ไม่ได้ยังเหนื่อยอยู่เหมือนเดิม ทุกวันนี้ทำมาเหนื่อยก็ต้องทนก็ต้องสู้ เหนื่อย ท้อ แต่ก็ต้องสู้เพื่อน้องที่พิการเนี่ยแหละ เขาก็ไม่มีอะไรหรอก แต่ก็จะดูแลเขาไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่”

    เราทั้งสองยังคงนั่งฟังอย่างใจจดใจจ่อกับคำตอบของป้า

    “ความสุขของป้าคือการได้ทำสิ่งเหล่านี้ แล้วก็คือการได้ให้เพื่อนมนุษย์ได้พอใจในตัวเรา แต่สรุปแล้วก็ไม่มีใครมองเห็น”

    ยิ่งได้ยินคำตอบแบบนี้ ทำให้ผมยิ่งอยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้ป้ายังสู้อยู่จนถึงทุกวันนี้

    “ปัญหาเยอะขนาดนี้ เหนื่อยขนาดนี้ ป้าเอากำลังใจมาจากที่ไหนหรอครับ” ผมถามไปด้วยความอยากรู้

    “ก็คือคนพิการ คือกำลังใจหลักใหญ่ ๆ เลยของป้า ป้าไม่อยากให้เขาอยู่ ในที่ของญาติ อยากให้เขาอยู่ในที่ของตัวเอง อยากมีเงินปลูกบ้านหลังเล็ก ๆ เพื่ออยู่กันสองคนกับน้องที่พิการโดยที่ไม่ไปอยู่ในที่ของเขา” ป้าหมวยตอบมาด้วยน้ำเสียงที่เบาลงกว่าเดิมเล็กน้อย แต่ป้าก็ยังคงมีใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความหวังและความสุข

    “อย่าไปคิดเลย ไม่ต้องไปคิดว่าหมดปัญญาแล้วอยากตาย เราไม่ต้องคิด คิดแต่ว่าต้องสู้ มันก็มีล้มบ้าง ลุกบ้าง เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง ไม่ต้องคิดหรอกว่าตัวเองจะนอนอย่างเดียวหรือนั่งอยู่อย่างเดียวมันไม่ไช่ ฝากเป็นข้อคิดกับทุก ๆ คนให้มีแรงบันดาลใจ สู้ชีวิตให้ได้อย่างเรา ถึงเราจะไม่ประสบผลสำเร็จแต่มันก็เป็นรางวัลที่ดีสำหรับชีวิตเรา เราจะได้มีแรงก้าวเดินต่อไป สู้ ทุกคนเกิดมาต้องสู้ สู้ในสิ่งที่ถูก สิ่งที่ควร สู้ในสิ่งที่เราทำได้ อย่าไปสู้ในสิ่งที่เราทำไม่ได้ ถ้าเรารู้ว่าอันไหนทำไม่ได้เราก็ไม่ต้องไปทำมันเราก็ทำในสิ่งที่เราทำได้ ป้าคิดว่าสักวันมันต้องเป็นโอกาสของเรา”

    เมื่อได้ยินเช่นนี้แล้ว แววตาของเราทั้งสองก็เปลี่ยนไป จากแววตาที่เศร้าหมองเหมือนคนที่พร้อมจะร้องไห้กันตลอดเวลากลับกลายเป็นแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความสุข สุขที่ได้ฟังเรื่องราวของป้าหมวยทั้งหมด

    ถึงจะเป็นเรื่องราวที่น่าเศร้า แต่ผู้หญิงคนนี้กลับมีความสุข กลับรู้สึกไม่ได้เป็นทุกข์กับชีวิตของตัวเองเท่าไหร่นัก แถมยังได้มอบพลังให้กับเราทั้งสองที่ได้ฟังเรื่องราว จากกำลังใจของป้าที่ส่งมาถึงเราจากคำตอบทั้งหมด

    ผมได้แต่นั่งยิ้มไปกับคำตอบสุดท้ายของป้า อีกคนก็ดูยิ้มมีความสุขไม่แพ้กันหลังจากที่ได้กำลังใจ

    และป้าก็ยังพูดต่อ

    “แต่ก็อย่างว่าล่ะนะ……คนแก่หาก็ไม่เหมือนเด็ก ๆ สาว ๆ หาหรอก แก่แล้วโอกาสก็น้อยลง โอกาสที่จะฟลุคก็แทบจะมองไม่เห็น แต่มันก็ต้องสู้ให้กำลังใจทุกคนให้สู้ สู้เพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อสิ่งที่เราอยากจะได้ อยากจะมี”

    หลังจากพูดจบ ก็ตบท้ายด้วยรอยยิ้มเช่นเดิมอย่างที่เคยยิ้มมาตลอด

    ผมจึงพูดออกไป “ชีวิตคนเราเกิดมาแล้วมันก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด จะยอมแพ้กับอะไรง่าย ๆ ได้ยังไง แต่ถ้าจะสู้ กองทัพมันก็ต้องเดินด้วยท้องสินะครับ”

    “จ๊อกกกกก” เสียงท้องของผมดังออกมาจนคนรอบข้างได้ยิน

    “ ฮ่า ฮ่า ฮ่า ” ป้าหมวยหัวเราะพร้อมกับเดินมาเสิร์ฟส้มตำกับข้าวเหนียวร้อน ๆ 4 ที่ ให้กับสองคนที่มารอก่อนหน้าและอีกสองคนที่กำลังจะตามมา

    “สวัสดีค่าาาาาา” เสียงทักทายของคนที่เราก็น่าจะรู้ว่าเป็นใครดังมาจากทางด้านหลัง

    “แหม มาถูกจังหวะพอดีเลยนะ” เจมส์พูดแซะคนต้นเสียง

    “แน่นอนค่ะ คนสวยต้องมาในเวลาแบบนี้ ที่ทุกอย่างพร้อมแล้วแบบนี้ล่ะค่ะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า” เสียงหัวเราะที่ดูมีความสุขเหมือนตัวร้ายในดิสนีย์ของฟิล์ม ทำให้เราหัวเราะกันทั้งคู่รวมทั้งปอมที่มาพร้อมกับฟิล์มด้วย

    พวกเราหัวเราะไปพร้อมกับการยื่นช้อน ส้อมให้กัน ระหว่างนั้น เมนูสุดท้ายของโต๊ะเราก็มาถึงพอดี

    นั่นก็คือ “จุ่มจิ้ม”

    “ทำไมถึงเรียก จุ่มจิ้ม ไม่เรียก จุ้มจิ่ม หรอครับ” ปอมถามคุณแม่ พวกเราทั้งหมดหลุดขำออกมารวมทั้งตัวคนถามเองด้วย

    “จิ้มจุ่ม ปะปอม” ฟิล์มช่วยแก้มุกที่ปอมเล่น ไม่รู้ว่าด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจแต่ก็ทำให้ขำกันทั้งโต๊ะ

    คุณแม่หมวยที่กำลังยิ้มงง ๆ กับการหัวเราะของพวกเรา อธิบายว่า “ที่เรียกว่าจุ่มจิ้ม เพราะว่ามันต้องเอาลงไปจุ่มในหม้อก่อน แล้วค่อยเอาขึ้นมาจิ้มน้ำจิ้มไง เลยเรียกว่าจุ่มจิ้ม”

    “อ๋ออออออ” ทั้ง 4 คนอุทานพร้อมกันด้วยความเข้าใจ

    หลังจากที่ทุกคนเข้าใจแล้วก็ไม่รอช้า ลงมือจกข้าวเหนียวขึ้นมาปั้นกินกับต้มแซ่บ ส้มตำ คอหมูย่าง สลับกับการกินจุ้มจิ่ม เอ้ย จิ่มจุ้ม เอ้ย จุ่มจิ้ม เอ้ย!!!! ถูกแล้ว

    ระหว่างที่กินอยู่นั้นผมกับเจมส์ก็ได้เล่าเรื่องราวของป้าหมวยให้กับทั้งสองคนได้ฟัง สองคนนั้นรู้สึกอะไรไม่ต่างกับผมและเจมส์ แต่สุดท้ายเมื่อได้ฟังจนจบแล้วก็ยิ้มเหมือนกับผมและเจมส์ ที่ยิ้มเมื่อฟังจนจบถึงคำตอบสุดท้ายที่ป้าหมวยทิ้งไว้ให้กับเรา ได้นำไปคิดและนำไปใช้ต่อในชีวิตของพวกเราทั้งสี่คน

    นอกจากเรื่องราวของคุณป้าหมวยนั้นจะเป็นข้อคิดและแรงบันดาลใจให้พวกเราทุกคนแล้ว ฝีมือการทำอาหารของคุณป้าหมวยก็ใช่ย่อยจนพวกเราทุกคนต้องบอกคำเดียวกันเลยว่า “แซ่บหลาย” หากอยากรู้ว่า “แซ่บ” จริงไหมก็ต้องลองไปพิสูจน์ พิกัดร้านคุณป้าหมวยอยู่เขตหน้ามหาวิทยาลัย (หน้า ม.) ร้านป้าชื่อร้านอาหารอีสานแซ่บกระด้อเยื้อง ๆ ร้านโจ๊กหน้ามอ

    เรื่องและภาพ : นางสาวกัญญารัตน์ เจริญรัตน์ , นายธนวัฒน์ เอี่ยมเสริม , นายอมรวิวัฒน์ แต้มพิมาย , นายอานนท์ อินทร์สงเคราะห์ 

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ