More
    Wednesday, March 2, 2022

    อิสรภาพทางความคิดไม่มี เสรีภาพทางวิชาการไม่เหลือ

    -

    “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” สำนวนนี้พอเหมาะพอสมกับสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) เสียจริงๆ ไม่รู้ว่าเป็นปีชงของผู้บริหารท่านใดที่ทำให้เกิดเรื่องเกิดราวใหญ่โตสนั่นโซเชียลได้ภายในเดือนเดียว หากเป็นเรื่องดีๆ ก็คงไม่มีใครแชร์ แต่หากเป็นเรื่องแย่ๆ พร้อมแชร์ทันที

    หลังจากกรณีผู้บริหารเลือกข้างผิดทิ้งนิสิตคนดีไว้แล้วไปช่วยอาจารย์สั่งกราบแทนจนโลกออนไลน์ก็พากันรุมสะกรำจนอ่วมทั้งอาจารย์และผู้บริหารแล้ว ล่าสุดยังมาเจอป้ายบิลบอร์ดปริศนาสีดำกลางสามแยกไฟแดงหน้าป้ายทางเข้า มมส ที่สร้างความฮือฮาไม่น้อย กับข้อความที่ว่า “พวกเราชาวคณะวิทยาศาสตร์ มมส ไม่เอาคณบดีคนนอกคณะวิทย์ เราต้องการคนของเรา เพื่อคณะของเรา”

    แน่นอนว่าไม่ใช่ป้ายที่ มหาวิทยาลัยสั่งทำ และไม่ใช่ป้ายขายสินค้าหรือบริการแต่อย่างใด แต่เป็นป้ายที่เช่าพื้นที่เอกชนภายนอกมหาวิทยาลัยเพื่อประกาศให้โลกรู้ว่ามีความขัดแย้งภายในคณะวิทยาศาสตร์ มมส จนเหลืออดถึงขนาดลงทุนเช่าป้ายขนาดใหญ่ติดประท้วง

    หากวิเคราะห์กันทีละคำ ก็จะพบว่า “พวกเราชาวคณะวิทยาศาสตร์” ย่อมไม่ใช่บุคลากรแค่ 1-2 คนที่ไม่เอา แต่ต้องเป็นคนส่วนใหญ่ ซึ่งมากถึง 102 คน ที่ร่วมลงชื่อคัดค้านการเอาคนนอกมาเป็นคณบดีจาก 152 คน

    ส่วน “คณบดีคนนอก” แม้จะไม่ระบุชื่อ เพื่อไม่ให้เกิดการถูกฟ้องร้องกันขึ้น แต่เมื่อภาพถูกแชร์ ทุกอย่างก็เปิดเผยว่าคนนอกก็คือคนเดิมที่บริหารมาแล้ว 4 ปี ที่กำลังหมดวาระในปีนี้ และยังเป็นคนนอกคนเดียวที่ผ่านเข้าไปเสนอวิสัยทัศน์เพื่อต่ออายุให้ตนเองอีกรอบโดยไม่ฟังอีร้าค้าอีรมหรือเสียงทัดทานจากผู้ใด โดยดูเหมือนจะมีความเป็นไปได้สูงที่กลับมานั่งเก้าอี้ตัวเดิมเสียด้วย

    สำหรับเรื่องของ “สี” คงไม่ใช่เรื่องดีแน่กับการใช้พื้นดำ แสดงถึงการไว้อาลัยให้กับอำนาจมืดที่ปกคลุมในคณะ ขณะที่ตัวอักษรสีแดง ก็คือความรุนแรง ความอันตราย การต่อต้าน และการเตือนให้ระวัง!!

    แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่พีคเท่ากับบิลบอร์ดที่ติดได้เพียงสองวัน แล้วมีใครสักคนที่แสลงใจสั่ง รปภ.มมส ปลดป้ายดังกล่าวลง ทั้งที่เป็นพื้นที่นอกมหาวิทยาลัย และเป็นของเอกชน ทำให้โลกออนไลน์ที่ยังไม่เห็นป้ายนี้ก็ได้เห็นเร็วขึ้น ใครกันสามารถสั่ง รปภ. ได้? นี่เข้าข่ายลักทรัพย์ และทำลายทรัพย์ ใช่หรือไม่?

    การปลดหรือไม่ปลดป้าย อะไรจะเสียหายกว่ากัน?

    หากไม่ปลดป้าย สังคมก็แค่ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับคณะวิทยาศาสตร์ เหตุใดจึงต่อต้านคณบดีคนนอกคนเดิม ในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาการบริหารงานเป็นอย่างไร แล้วทำไมถึงอยากอยู่ต่ออีกสมัย

    แต่เมื่อสั่งปลดป้ายแล้ว จากเรื่องไซส์ M กลายเป็นเรื่องไซส์ XL ทันที จากคนนอกมหาวิทยาลัย ที่ยังไม่เห็นก็เลยได้เห็น จากคนที่ไม่รู้เรื่องก็ได้รู้เรื่องมากขึ้น และเกิดคำถามเพิ่มขึ้นว่า ใครทนไม่ได้ที่เห็นป้ายนี้ นี่จะเป็นการเลือกข้างผิดอีกรอบใช่หรือไม่ โดยเลือกเอาคนๆ เดียวไว้แลกกับความไม่พอใจของบุคลากรนับร้อยกว่าคนทั้งคณะ น้ำผึ้งหยดเดียวแท้ๆ

    จากที่ไม่น่าจะรุนแรงกลับรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดการโต้กลับในทางมิชอบและไปยุ่งเกี่ยวกับกฎหมายลักทรัพย์ด้วย สะท้อนให้เห็นว่าผู้มีอำนาจนอกจากไม่รับฟังเหตุผลและความเห็นที่แตกต่างแล้ว ยังดื้อดึงทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยอีกต่างหาก จากหนังสั้นกลายเป็นหนังยาวทันที เพราะมันคือการลิดรอนอิสรภาพทางความคิดในฐานะวิญญูชนอย่างชัดเจน รวมถึงการลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการในฐานะนักวิชาการด้วย เมื่อขาดสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลเสียต่อมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน

    คำว่าเสรีภาพทางวิชาการ ไม่ใช่เพียงแต่การสอนการทำวิจัยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาการอื่นๆ ด้วย ดังที่ ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวณิช เคยกล่าวไว้ว่า เสรีภาพทางวิชาการมีความหมายใหญ่ๆ 3 ประเด็น ประเด็นแรกหมายถึง เสรีภาพที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องการจะมีในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียนก็ตาม โดยที่เขาไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกผู้บังคับบัญชาในมหาวิทยาลัย หรือผู้มีอำนาจทางการเมืองนอกมหาวิทยาลัยขัดขวาง

    ความหมายรองลงมา เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงในสังคมกับสถาบันการปกครอง หมายถึงการที่สถาบันการศึกษาต้องการและเรียกร้องที่จะมีสิทธิที่จะวางนโยบายและระเบียบปฏิบัติการเอง โดยไม่ถูกควบคุมจากองค์การภายนอก

    สุดท้าย คือการเรียกร้องที่จะมีเสรีภาพในการสอนโดยปราศจากข้อจำกัดตามกฎหมาย หรือระเบียบของสถาบันที่ปราศจากเหตุผล

    ชัดเจนว่าสิ่งที่ 102 คนแสดงออกนั้น เป็นอิสรภาพทางความคิดและเสรีภาพทางวิชาการที่ถูกต้อง แต่กลับถูกสกัดกั้น จึงถามกลับไปยังผู้บริหารและคณะกรรมการสภา มมส ว่าเข้าใจคำๆ นี้ลึกซึ้งมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่เข้าใจ ก็ควรพิจารณาตัวเองว่าเหมาะสมกับตำแหน่งที่ดำรงอยู่หรือไม่

    ความขัดแย้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาระดับคณะแล้ว แต่บานปลายไปยังระดับมหาวิทยาลัย และกำลังเป็นวิกฤตการศึกษาไทยเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่ใช่แค่คณะวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่คณะอื่นใน มมส ก็มีปัญหาคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ไม่มีบุคลากรที่กล้าหาญเท่ากับคณะวิทยาศาสตร์ลุกขึ้นมาพร้อมใจกันเช่าป้ายบิลบอร์ดประท้วงอย่างที่เห็น และเชื่อเหลือเกินว่าคงไม่ได้มีแค่ มมส ที่ประสบปัญหานี้ แต่เป็นเช่นนี้เกือบทุกมหาวิทยาลัยของรัฐที่อำนาจมืดๆ เทาๆ ยังคงวนเวียนอยู่เหมือนเงาทะมึนที่ครอบงำวงการการศึกษาไทย

    อีกไม่ช้า จากน้องแบมโมเดล อาจจะมีคณะวิทยาศาสตร์โมเดลก็เป็นได้ ใครจะไปรู้ โลกนี้ต้องการแค่คนกล้า!

    เจอสถานการณ์นี้แล้วก็ชวนให้นึกถึงหนังฝรั่งเรื่อง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri แต่สำหรับที่นี่คือ One Billboard Outside MSU, Maha Sarakham

    และหนังที่สร้างจากเรื่องจริงเรื่องนี้จะจบแบบไหน ให้คุกกี้ทำนายกัน!

     

    เรื่อง : ชญานุช วีรสาร

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ