More
    Sunday, March 6, 2022

    เกษตรกรรมทางเลือก ทางออกของเกษตรกร

    -

    การทำเกษตรในอดีตที่ผ่านมานั้น ผู้คนที่ทำอาชีพเป็นเกษตรกร ย่อมได้รับการปลูกฝังว่า ถ้าหากปลูกพืชได้ผลผลิตมากจะนำพาเงินทองให้ไหลมาเทมาอย่างล้นหลาม  นั่นหมายความว่า หากต้องการทำไร่ทำนา เกี่ยวกับการเกษตรให้ได้ผลผลิตอย่างมากถึงที่สุดคงหนีไม่พ้นการใช้ปุ๋ยเคมี เช่นเดียวกับวิถีชีวิตเรา ที่มีคนเคยนิยามเอาไว้ ให้ตัวเราเดินไปบนเส้นแบบนี้ และความสำเร็จจะรอเราอยู่ปลายทาง แต่ในขณะเดียวกันหลายคนอาจรู้สึกว่ายิ่งเดินไปบนเส้นทางนี้เท่าไหร่ก็ไม่ถึงปลายทางสักที  และยิ่งทำให้เกิดหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและสุขภาพยังเสียอีกด้วย

    ในปัจจุบันมีแนวคิดเรื่องเกษตรทางเลือกเข้ามา เป็นการทำเกษตรที่ปราศจากการใช้สารเคมี เน้นการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ซึ่งใช้ธรรมชาติควบคุมไปในตัว  โดยเกษตรทางเลือกมีเป้าหมายในการผลิตอาหารเพื่อดำรงชีวิตมากกว่าการผลิตเพื่อส่งขาย หากเริ่มปลูกพืชที่ปราศจากสารเคมีแรกๆอาจจะยังได้ผลผลิตน้อย  แต่ในอนาคตจะได้รับผลตอบแทนคือ สุขภาพดีทั้งทางร่างกายรวมไปถึงสุขภาพจิตก็ดีตามไปด้วย  เกษตรกรสามารถบริโภคอาหารที่ปลอดสารเคมีตกค้างได้อย่างมั่นใจและอาจจะสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้อีกทาง

    จุดเริ่มต้นของการทำเกษตรทางเลือก

    ณ บริเวณบ้านที่เต็มไปด้วยพืชผลทางการเกษตรหลากหลายอย่าง ทำให้บริเวณบ้านดูร่มรื่นสบายตาเพราะเต็มไปด้วยสีเขียวของต้นไม้  เป็นการทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมีของนายสมควร ไชยสุข หรือพี่ต๊อก ชาวอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม  เกษตรกรยุคใหม่ที่ผันตัวเองจากวิศวะกรหนุ่มมาทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี พี่ต๊อกเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการทำการเกษตรว่า “เราก็เกิดมาเป็นชาวนาและเกษตรกร เกิดมาก็ทำไร่ทำนาอยู่แล้ว  ตอนแรกพี่ก็ทำงานประจำแต่พอมีลูกแล้วไม่มีคนดูแลลูก พี่เลยอยากทำสิ่งที่ทำแล้วเราได้เลี้ยงลูกไปด้วย ได้อยู่กับลูกของเรา พอดีที่บ้านก็พอมีที่มีทาง จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำเกษตร”

    “ความตั้งใจแรกของพี่เลยถ้าหากมาทำเกษตร พี่คิดไว้เลยว่าจะไม่ใช้สารเคมีเลย เพราะปลูกพืชผลอยู่บริเวณบ้านและเราก็มีลูกตัวเล็กๆ กลัวว่าเขาจะได้รับอันตรายจากสารเคมีและเพื่อสุขภาพของคนในครอบครัวด้วย พี่จึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆเพื่อมาทำเกษตรแบบไร้สารเคมี ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง เริ่มจากตรงไหน พี่ก็ค่อยทำค่อยปรับไปเรื่อยๆ จนวันนี้ก็เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ” พี่ต๊อกเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นในการทำการเกษตรแบบไร้สารเคมี

                   แนวคิดในการทำเกษตรแบบไร้สารเคมี

    “ในเมื่อเราจะซื้อเขากินอยู่แล้ว ทำไมเราถึงไม่ปลูกกินเองเลย”  พี่ต๊อกกล่าวถึงเหตุผล “หากเราไปซื้อเขากินเราก็ไม่รู้ว่าผักหรือผลไม้ที่เราซื้อมานั้นมีสารเคมีไหม เพราะเราก็ต่างรู้ๆกันดีอยู่แล้วว่าสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นพี่จึงคิดว่าเราควรปลูกเพื่อไว้บริโภคเอง อย่างน้อยเราก็มั่นใจได้ว่าสิ่งที่เรากินไปนั้นปลอดภัย”

    ทุกวันนี้ผู้คนหันมารักสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้สินค้าทางการเกษตรแบบปลอดสารเคมีก็ยังคงเป็นความต้องการของตลาด “พี่ปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูก หากมีเยอะเกินไปเราก็นำไปขาย เรามีกลุ่มที่จะนำผักและผลไม้ที่เราปลูกเองไปขาย กลุ่มของเราชื่อว่า กลุ่มยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์  เราจะนำพืชผลทางการเกษตรไปขายตามงานต่างๆ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เพิ่มรายได้ให้กับเรา”  พี่ต๊อกเล่าให้ฟังพลางพาเดินชมสวนเกษตร

    “สวนของพี่ก็ปลูกหลายอย่าง เช่น มะนาว ชะอม ม่อน กล้วย ถั่วฝักยาว และอีกหลายๆอย่างที่ปลูกแทรกๆกันไป รวมทั้งยังมีนาข้าวที่เลี้ยงปลาด้วยไปในตัว เรียกได้ว่าไม่ต้องออกไปตลาดเลยก็ว่าได้ แค่เดินไปข้างๆบ้านก็มีอาหารกินแล้ว ในอนาคตพี่ก็คิดว่าจะให้เป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรแบบพอเพียง ให้บุคคลที่สนใจเข้ามาเรียนรู้” พี่ต๊อกเล่าด้วยรอยยิ้มที่ภูมิใจในอาชีพของตนเอง

    4

    จากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์

    การทำเกษตรอินทรีย์เป็นระบบการผลิตทางการเกษตรทางเลือกที่หลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนต่างๆ ที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและ เน้นการใช้อินทรียวัตถุเช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ การปลูกพืชหมุนเวียน รวมทั้งใช้หลักการควบคุมศัตรูพืชโดยชีวภาพ และเน้นการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน เรียกได้ว่าการใช้ธรรมชาติเข้ามาควบคุม

    อย่างไรก็ตาม ระบบการเกษตรเชิงเดี่ยวสมัยใหม่ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีได้ยาก เนื่องจากต้องถูกกำหนดมาตรฐานจากนายทุน และต้องผลิตในปริมาณมาก ทุกวันนี้จึงยังมีเกษตรกรที่ใช้สารเคมีจำนวนมาก   แม้จะต้องแลกมาด้วยความเสื่อมโทรมของสุขภาพก็ตาม  ดังเช่น นายสิรภพ  เสริมส่าย หรือพี่หรั่ง  เกษตรกรบ้านพงสว่าง ตำบลหนองสิม อำเภอบรบือ จ.มหาสารคาม ที่เมื่อก่อนใช้สารเคมีอย่างหนักในการทำการเกษตรแต่ก็ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมีเพราะเป็นห่วงในเรื่องสุขภาพของตนและครอบครัว

    IMG_7944.jpg

    “เมื่อก่อนพี่ก็ใช้สารเคมีอย่างหนัก เพราะพี่คิดว่าใช้แล้วผลผลิตมันดีและรวดเร็ว แต่เมื่อใช้ไปนานๆ พี่รู้สึกตัวเองว่าสุขภาพตัวเองมันแย่ลงเรื่อยๆ บวกกับที่ลูกของพี่ป่วยแบบไม่ทราบสาเหตุ พี่เลยคิดว่าต้องเกี่ยวกับสารเคมีที่พี่ใช้ในการทำเกษตร พี่จึงเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรมาเป็นแบบไม่ใช้สารเคมีเลย” พี่หรั่งเล่าถึงเหตุผลที่เลิกใช้สารเคมีในการทำเกษตร

    พี่หรั่งเล่าต่ออีกว่า “เมื่อเราเลิกใช้สารเคมีในการทำเกษตรแล้ว พืชผลที่เราปลูกก็มีความปลอดภัย บริเวณสวนหรือแปลงผักเราก็ปลอดภัย ครอบครัวเราก็สามารถเข้าไปอยู่ในพื้นที่ได้ ลูกของเราก็สามารถเข้าไปวิ่งเล่นในสวนได้ สุขภาพกายและสุขภาพใจของเราก็ดีตามไปด้วย”

    เมื่อได้ทราบถึงเหตุผลของบุคคลที่เคยใช้สารเคมีอย่างหนัก แต่ปัจจุบันกลับหันหลังให้การใช้สารเคมี จึงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าแล้วผลผลิตจะลดลงหรือต่างกันมากน้อยเพียงใด พี่หรั่งจึงอธิบายให้ฟังว่า “ผลผลิตก็ต่างกันครับแต่ต่างกันไม่มาก แต่เพื่อแลกกับสุขภาพที่ดีขึ้นของเราและคนในครอบครัวพี่ก็ถือว่าคุ้ม แรกๆ เราอาจจะได้ผลผลิตน้อย แต่พอเราปรับได้แล้วผลผลิตก็ถือว่าต่างกันไม่มาก เพราะเราทำแบบเอาใจใส่ในการปลูกและดูแลพืชผลของเรา เรามีน้ำหมักที่ผลิตใช้เอง มีมูลสัตว์ที่ไว้เป็นปุ๋ย เท่านี้ก็หมดปัญหาเรื่องการซื้อปุ๋ยหรือสารเคมี เพราะราคายาแบบสารเคมีขวดหนึ่งก็หลายบาท”

    ความรู้ที่บอกต่อกัน

    การทำเกษตรแบบอินทรีย์แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หากเกษตรกรบางรายที่ยังไม่เคยศึกษาในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์มาก่อนอาจจะยังไม่รู้ว่าจะเริ่มที่ตรงไหนเป็นอันดับแรก จึงเกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในการทำเกษตรแบบอินทรีย์ นำความรู้จากบุคคลที่เชี่ยวชาญนำมาเผยแพร่เพื่อให้เกิดการทำเกษตรอินทรีย์ที่ได้ผลมากที่สุด

    “เมื่อเราได้เข้ามาทำเกษตรอินทรีย์ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ในหลายๆเรื่อง ทุกคนในกลุ่มก็อยู่กันแบบครอบครัว มีอะไรเราก็เผื่อแผ่กันไป ใครเก่งทางด้านไหนหรือมีความรู้ทางด้านไหนเราก็จะนำมาแลกเปลี่ยนกัน ทางเราก็ไม่เคยหวงวิชาที่เราได้ศึกษามา หากมีเกษตรกรท่านใดที่อยากจะเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบไร้สารเคมีเราก็พร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ในการทำให้” พี่หรั่งกล่าว

    2

     

    ผลกระทบรอบข้างจากเกษตรแบบใช้สารเคมี

    แม้จะหันมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง แต่ก็ยังมีได้รับผลกระทบจากพื้นที่รอบข้าง ที่ทำเกษตรแบบใช้สารเคมี พี่หรั่งเล่าให้ฟังว่า “ทุกวันนี้พี่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด บนเนื้อที่  47 ไร่ พี่ไม่ใช้สารเคมีเลย แต่พี่ก็ยังได้รับผลกระทบจากที่ดินรอบข้างที่เขายังทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีอยู่  แต่เราก็พยายามที่จะบอกเขาถึงผลกระทบจากสารเคมีที่เราเคยได้รับ เขาก็มีมาขอเราดูบ้าง ว่าเราทำอย่างไร ทำแบบไหน เขาก็สนใจอยู่ เพียงแต่เขายังไม่กล้าเปลี่ยน เราก็ต้องทำให้เขาเห็นว่าการทำเกษตรแบบนี้มันก็ได้ผลผลิตดีเหมือนกันและที่สำคัญที่สุดเลยคือมันดีต่อตัวเรา ”

    “หากเขาจะทำเกษตรแบบใช้สารเคมีพี่ก็คงไปห้ามเขาไม่ได้ มันเป็นสิทธิของเขา แต่เราก็ได้รับผลกระไปด้วยเพราะเราทำแบบไม่ใช้สารเคมี เราก็คงต้องทำให้เขาเห็นนั้นละว่ามันสามารถที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางในการทำเกษตรกันได้ อาจจะเปลี่ยนใจเขาได้บ้าง” พี่หรังเล่าด้วยสีหน้าที่ดูมีความหวัง

    การทำเกษตรแบบอินทรีย์แม้จะดีต่อตัวของเกษตรกรเอง แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับมากเท่าที่ควร เพราะด้วยยังเชื่อในความคิดเดิมๆ ที่ว่าการใช้สารเคมีจะช่วยทำให้เพิ่มผลผลิต ทำให้รวดเร็วในการเพราะปลูก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่ จึงเริ่มมีหน่วยงานที่เริ่มตระหนักถึงผลเสียที่จะตามมาในระยะยาว

    กลุ่มคัดค้านสารเคมีทางการเกษตร

    นางสาวมาลี สุปันตี  ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ให้ข้อมูลว่า ทางเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเชื่อมโยงความรู้ของชาวบ้าน  ลักษณะการทำงานก็จะเป็นกลุ่มไปหาเครือข่าย เชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่มหนึ่งไปอีกกลุ่มหนึ่ง ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ของอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นการส่งเสริมกลุ่มให้มีทางเลือก เช่น การทำปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพปรับปรุงดิน ช่วงหลังก็จะเป็นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและการค้นหาตลาด  การทำตลาดนัดสีเขียว การศึกษาหาความรู้ จึงทำให้มีเครือข่ายมากพอสมควร

    นอกจากจะเป็นเครือข่ายที่ส่งเสริมในการทำเกษตรกรรมแบบทางเลือกแล้ว ทางกลุ่มยังเดินหน้าคัดค้านการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรที่ส่งผลเสียต่อตัวของเกษตรกรและผู้บริโภค ทางกลุ่มได้ไปยื่นหนังสือที่ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม เป็นการสนับสนุนการทำงาน ของเครือข่ายนักวิชาการของคณะทำงานจากส่วนกลาง  โดยร่วมเป็นเครือข่ายทำเกษตรอินทรีย์  เกษตรปลอดสาร ตลาดนัดสีเขียว ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของกลุ่มคนที่ไม่ใช้สารเคมี คนที่ไปคือคนที่ไม่ใช้สารเคมีและยากำจัดวัชพืช  ส่วนเรื่องหลักๆที่ยื่นไปมี 2 เรื่อง ได้แก่

    เรื่องแรกให้มีการเพิกถอนทะเบียนและไม่ต่ออายุทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความสี่ยงสูง ๒ ชนิด ได้แก่พาราควอต สารเคมีกำจัดวัชพืชซึ่ง ๔๘ ประเทศยกเลิกการใช้แล้วเพราะพิษเฉียบพลันสูงและเป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสัน และคลอร์ไพริฟอส สารเคมีกำจัดแมลงซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กทารกอย่างถาวรและหลายประเทศทั่วโลกห้ามการใช้ในพืชผักและอาหาร

    เรื่องที่สองเรียกร้องให้มีการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต สารเคมีกำจัดวัชพืช ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสารน่าจะก่อมะเร็ง สอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในประเทศไทย โดยห้ามใช้ในเขตชุมชน พื้นที่ต้นน้ำ แหล่งน้ำ เป็นต้น

    “จริงๆ ก็ตามเรื่องนี้มานานแล้ว ผ่านการทำงานในพื้นที่ของชาวบ้านได้มีโอกาสไปทำงานวิจัยกับทางชุมชน  เกี่ยวกับเรื่องทำการเกษตรที่ชุมชนบ้านม่วงใหญ่  อำเภอโกสุมพิสัย  จังหวัดมหาสารคาม  ได้มีการไปเก็บข้อมูลทางเราก็พบว่ากลุ่มที่ชาวบ้านปลูกผักก็มีการใช้สารเคมีเยอะ   มีหลายตัวที่เป็นสารเคมีอันตรายและมีสารตกค้าง หลังจากนั้นทางเราก็ติดตามเรื่องมาเรื่อยๆ จึงได้มีการยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านการนำเข้าสารเคมีที่ส่งผลเสียต่อตัวของเกษตรกร” มาลีกล่าว

    ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวย้ำว่า  “การยื่นหนังสือในครั้งนี้ก็เหมือนเป็นการสร้างกระแสถามความเห็นของคนส่วนใหญ่  โดยกรมวิชาการเกษตรมีอำนาจในการตัดสินใจ ว่าจะให้นำเข้าหรือไม่นำเข้า แต่ก็อาจสัมพันธ์กับผลประโยชน์และรายได้  แต่ฝ่ายที่นำเข้ายังมีคามเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้เพื่อที่จะปกป้องพืช เพราะถ้าไม่ใช้มันก็เสียหายเป็นเหมือนเรื่องยื้อกันระหว่างคณะทำงาน และกรมวิชาการเกษตรเหมือนกับจะผลักเรื่องนี้ให้การตัดสินใจไปอยู่กับฝ่ายกระทรวงอุตสาหกรรม  ซึ่งใช้กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ฝั่งกระทรวงสาธารณสุขได้เห็นผลกระทบทางด้านสุขภาพ และความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น  จึงเป็นการสู้ด้วยข้อเท็จจริงและความรู้แต่ในอีกฝั่งหนึ่งมันคือผลประโยชน์  เค้าไม่ได้มองถึงผลกระทบเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเลย เรื่องนี้ก็คงต้องสู้กันอย่างถึงที่สุด”

    ลงไปสร้างความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้าน

    การที่จะให้ชาวบ้านเลิกใช้สารเคมีโดยทันทีย่อมเป็นเรื่องยาก เพราะชาวบ้านยังยึดติดกับความคิดเดิมๆที่ว่าการใช้สารเคมีในการผลิตย่อมเร็วกว่าและได้ผลผลิตที่มากกว่าการทำเกษตรแบบอื่น ดังนั้นการที่จะให้ชาวบ้านหันมาทำเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมีจะต้องค่อยๆปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้าน แสดงให้เห็นถึงผลดีของการไม่ใช้สารเคมีและผลเสียของการใช้สารเคมี “ช่วงแรกๆที่ลงไปในชุมชนซึ่งเขาใช้สารเคมีที่มีความเข้มข้นสูงกับการปลูกผักเยอะมาก ตอนแรกๆ ที่เข้าไปลงพื้นที่เขาก็ไม่ค่อยพูดคุยด้วยเท่าไหร่นัก เพราะดูเหมือนว่าเราชัดเจนในเรื่องของเราที่ไม่เอาสารเคมี แต่ว่าเขาใช้กันทั้งชุมชน พอได้มีโอกาสคุยด้วย รวมไปถึงเจตนา และให้ข้อมูลบางส่วนกับคนในชุมชน หลังๆมาคนในชุมชนก็ยินดีต้อนรับและเข้าใจเรามากขึ้น และคิดค้นหาทางออกร่วมกัน เพราะบางส่วนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำแล้วให้เกิดผลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์  บางคนเขาก็แค่ฟังผ่านๆก็ไม่ได้เชื่อเรา โดยจากประสบการณ์แล้วเราก็เชื่อว่าเขามีความเชื่อแบบเดิม ในเรื่องการผลิตเชิงเดี่ยว เป็นการใช้สารเคมีมาเกือบ 20-30 ปี แต่เราเพิ่งลงไปทำงานและรู้จักกับเขามันก็ยากที่จะเปลี่ยน ก็ต้องค่อยๆปรับเปลี่ยนเขาไป”  มาลีกล่าว

    มาลียังเสริมต่อถึงเหตุผลการใช้สารเคมีของชาวบ้านต่ออีกว่า “ปัจจัยที่เสริมให้พวกเขาใช้สารเคมีส่วนหนึ่งก็อาจมาจากการที่ร้านค้าสามารถที่จะให้เกษตรกรนำสารเคมีจำพวกยากำจัดศัตรูพืชไปใช้ก่อนได้ แล้วค่อยจ่ายที่หลัง ซึ่งก็อาจเป็นหนึ่งแรงจูงใจที่ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงสารเคมีพวกนี้ได้ง่าย และอีกสาเหตุน่าจะมาจากการโฆษณาของผลิตภัณฑ์นั้นๆที่เราจะเห็นได้ว่ามีการโฆษณาที่เกินจริง ทำให้เกษตรกรหลงเชื่อ ทางเราก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุมในเรื่องของการโฆษณานี้”

    แน่นอนว่า การต่อสู้กันในเชิงกฎหมายเพื่อลดการใช้สารเคมียังคงดำเนินต่อไป ไม่ต่างอะไรจากหนังยาวที่ยังไม่มีจุดจบ ขณะเดียวกัน เรื่องราวของเกษตรกรบางกลุ่มที่พยายามจะปรับเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์เพราะคำนึงถึงสุขภาพของตนและสุขภาพของผู้บริโภค  แม้อาจจะยังไม่เห็นผลทันทีแต่ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเรื่อยมา   จนสามารถยืนยันได้ในวันนี้ว่า การลด ละ เลิก จากสารเคมีสร้างผลดีกับเกษตรได้ไม่ต่างกัน

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ