More
    Wednesday, March 2, 2022

    แม่กำปอง : จาก “คน  ป่า เมี่ยง” ถึงหมู่บ้านในนิทานที่มีชีวิต

    -

    อากาศเย็นชื้นบวกกับเสียงน้ำตกที่ดังแว่วตลอดเวลาเป็นความรู้สึกแรก ในเช้าวันนั้น เมื่อเงยหน้าสูงจากระดับสายตาเล็กน้อย สายหมอกลอยละเลียดเล่นล้อกับยอดไม้ช่วยแต่งเติมให้ที่นี่มีเสน่ห์น่าหลงใหล  บวกกับภาพของบ้านเรือนบนเนินเขาเหมือนขนมชั้นลดหลั่นไล่ระดับมองดูแล้วช่างสวยงามราวกับหมู่บ้านในเทพนิยาย จึงไม่แปลกใจที่มีคนกล่าวถึงหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “แม่กำปอง … หมู่บ้านในนิทาน”

    บ้านแม่กำปองตั้งอยู่ใน อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลนับพันเมตร ความรื่นรมย์ของสภาพอากาศบวกกับผู้คนยิ้มแย้ม เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ตกหลุมรักได้ไม่ยาก จนอยากรู้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมจึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องมาปักหมุดที่นี่ จนได้คำตอบจาก ธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน ที่ชาวบ้านในหมู่บ้าน หรือในภาษาถิ่นเรียกว่า “พ่อหลวง”

    แม่กำปอง6

    1. คน : จากพื้นราบสู่ที่สูง

    พ่อหลวงธีรเมศร์ เล่าให้ฟังว่า ไม่ใช่คนแม่กำปองตั้งแต่กำเนิด หากแต่ย้ายมาจาก อำเภอดอยสะเก็ด เมื่อแต่งงานกับผู้หญิงที่นี่ ต้องปฏิบัติตามวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ผู้ชายต้องไปอยู่บ้านผู้หญิง ทำให้ได้ย้ายไปอยู่หมู่บ้านแม่กําปอง

    “สมัยก่อนชาวบ้านที่นี่ ต้องเดินเท้าใช้ม้าใช้วัว แต่พอถึงปี พ.ศ. 2517 ก็มีถนนแต่เป็นถนนดินลูกรังไม่ได้ดีอะไรมากเดินทางก็ยังลำบากอยู่” เมื่อก่อนท่านก็ประกอบอาชีพทำสวนเมี่ยงเก็บเมี่ยงตามป่า คนที่แม่กำปองทำอาชีพเก็บเมี่ยงกันเป็นหลัก

    พ่อหลวงธีรเมศร์ ได้เข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้านในปี พ.ศ. 2539  ตอนนั้นหมู่บ้านแม่กำปองไม่ได้เป็นที่รู้จักในการท่องเที่ยวแต่อย่างใด จึงตั้งใจพัฒนาให้การกินอยู่ดีขึ้น เป้าหมายที่สำคัญคือการพัฒนาชุมชน ด้วยสายตาที่เล็งเห็นศักยภาพของหมู่บ้านแห่งนี้ จึงนำเอาการท่องเที่ยวเข้ามาพัฒนาหมู่บ้านคือการทำโฮมสเตย์ขึ้น โดยที่นักท่องเที่ยวสามารถไปอาศัยอยู่กับชาวบ้าน ร่วมกินอยู่  และแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ทำให้ปัจจุบันแม่กำปองเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนแห่งแรกในประเทศไทย เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวิถีชุมชน

    หากถามถึงจุดเด่นของหมู่บ้านที่เป็นรากฐานสำคัญในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พ่อหลวงยกสรุปว่า มี 3 ปัจจัยหลัก ปัจจัยที่ 1 คือ ดิน น้ำ ป่า อากาศอุดมสมบูรณ์มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ปัจจัยที่ 2 มีวิถีชีวิตชุมชนที่แตกต่างจากชุมชนอื่น คือที่นี่เป็นคนพื้นเมืองแต่อาศัยอยู่บนเขา และปัจจัยที่ 3 มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่างวัฒนธรรมล้านนา

    “คนที่นี่ก็ยังภูมิใจในความเป็นแม่กำปอง ที่หมู่บ้านแม่กำปองมีถนนเกิดขึ้นได้ก็เพราะการท่องเที่ยว ถนนเส้นนี้สร้างต่อไปถึงจังหวัดลำปาง” อดีตพ่อหลวงบอกเล่า

    สำหรับการบริหารกิจการการท่องเที่ยวทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน และไม่ได้มีแค่โฮมสเตย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นยังมี มัคคุเทศก์ หมอนวด แพทย์แผนไทย เป็นอาชีพเสริมที่ทำให้คนที่นี่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทุกอย่างมีการจัดคิวเป็นลำดับเพื่อไม่ให้เกิดการเหลื่อมล้ำกัน

    แม่กำปอง3

     

    1. ป่า : มรดกจากธรรมชาติ

    เช้าวันต่อมาได้มีโอกาสเดินสำรวจป่าที่หมู่บ้านแม่กำปอง สภาพป่าที่นั่นเป็นสีเขียวตลอดทั้งปีมีความชื้นสูง ส่งผลให้อากาศเย็นสบาย ผมและเพื่อนๆ รู้สึกไม่เหนื่อยเวลาเดินมากนัก เสียงของน้ำตกดังตลอดเวลา เหมือนมีดนตรีธรรมชาติเล่นบรรเลงทำให้รู้สึกผ่อนคลายเวลาเดิน

    ตั้งแต่ที่ผมก้าวเข้ามาในป่าสิ่งที่ทำให้สะดุดตามากคือ ต้นไม้ส่วนใหญ่จะมีผ้าสีเหลืองผูกไว้ จึงได้สอบถามมัคคุเทศก์จนได้คำตอบว่า นั่นคือการบวชป่า การบวชป่าคือ ต้นไม้ที่มีอายุยาวนานหลายปี มีไว้เพื่อเป็นกุศโลบาย ในการรักษาป่าของชาวบ้าน ความเชื่อว่าป่าเขาล้วนแต่มีผีปกปักรักษา มิให้ใครมารุกล้ำทำลาย ทำให้รู้ว่าคนที่นี่รักและศรัทธาในป่าอย่างมาก

    มัคคุเทศก์ได้สาธิตการเก็บใบเมี่ยงให้ดู โดยจะใส่ปลอกมีดที่ปลายนิ้วเพื่อทำการเก็บเมี่ยง โดยที่จะเก็บแต่ยอดอ่อน ส่วนใบที่แก่ก็สามารถนำไปทำเป็นหมอนใบชาได้

    ต่อจากนั้น พวกเราได้เดินทางไปเจอกับพ่อหลวงอยู่ที่โรงคั่วกาแฟ พ่อหลวงบอกว่าตอนนี้กำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับเมล็ดกาแฟเพื่อส่งออกต่างประเทศและหารายได้เข้าสู่หมู่บ้านแม่กำปอง กาแฟที่นี่จะมีเอกลักษณ์คือ มีกลิ่นที่หอมและขมไม่มาก ซึ่งเป็นที่ถูกปากของใครหลายๆ คน

    มัคคุเทศก์ยังบอกอีกว่า คนที่หมู่บ้านแม่กำปองจะไม่ตัดต้นไม้ในการเพาะปลูกแต่จะทำการปลูกตามป่าให้พืชพรรณดูแลกันเอง เป็นระบบนิเวศแบบหมุนเวียนเพื่อเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด พืชส่วนใหญ่ที่ปลูกคือ ต้นเมี่ยงและต้นกาแฟ ทำให้ผมรู้ด้วยว่า  หัวใจหลักของแม่กำปองก็คือป่าไม้ที่ทุกคนต่างรักและหวงแหน

    แม่กำปอง2

     

    1. เมี่ยง : พืชพื้นถิ่นแม่กำปอง

    พอตกบ่ายพวกเราได้มีโอกาสเดินสำรวจหมู่บ้านแม่กำปอง ด้วยความที่อยากรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน ผมเดินมาหยุดอยู่ที่บ้านหลังหนึ่ง ด้านหน้าบ้านเขียนไว้ว่า ขายหมอนใบชา  ด้วยความอยากรู้ว่าหมอนใบชาเป็นยังไง จึงเดินเข้าไปที่บ้านพบกับหญิงสูงอายุ รูปร่างมีน้ำมีนวล นัยน์ตาเป็นมิตรพร้อมยิ้มรับ ผมจึงกล่าวคำทักทาย และได้ทำความรู้จักกับหญิงสูงอายุคนนี้ที่ชื่อว่า คุณยายรจนา พงค์ยา

    คุณยายเล่าให้ฟังว่า  ตั้งแต่จำความได้คุณยายก็อยู่ที่บ้านแม่กำปองแล้ว ตอนที่ยังเป็นเด็ก หมู่บ้านนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ น้ำประปาก็เข้าไม่ถึง ชาวบ้านต้องใช้ไฟจากตะเกียงน้ำมันและน้ำก็ต่อจากท่อไม้ไผ่ลงมาจากยอดเขาส่งลงมาใช้ในบ้าน ระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญก็เข้าไม่ถึง ลำบากมากเพราะถนนก็ไม่มี คนที่เดินทางมาหมู่บ้านแม่กำปองต้องเดินเท้าขึ้นเท่านั้น ไม่มีถนน แล้วคนส่วนใหญ่ที่นี่ประกอบอาชีพเก็บเมี่ยงในป่าขาย รายได้ก็ไม่สูงมากแต่ก็พอเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวได้

    คุณยายยังย้อนความทรงจำอีกว่า สมัยเป็นสาว คุณยายประกอบอาชีพเก็บใบเมี่ยง จะเก็บได้ในช่วงเดือนเมษายน แล้วเว้นอีก 3 เดือนจึงจะได้ใบอ่อนอีกแล้วก็มาเก็บได้  ทำให้การเก็บเมี่ยงสามารถเก็บได้ตลอดทั้งปี  สำหรับการเก็บใบเมี่ยง ต้องเก็บจากยอดอ่อนเท่านั้นถึงจะทำเป็นใบชาได้ พอเก็บเสร็จต้องเอามานึ่ง ห้ามเก็บไว้ข้ามคืน เพราะมันจะไม่สดและขายไม่ได้ราคา พอนึ่งเสร็จก็ต้องมัดให้เป็นก้อนกลม  แล้วนำไปดอง ใส่โอ่งโดยต้องปิดฝาให้สนิทอากาศไม่สามารถเข้าได้  ถ้าอากาศเข้าได้ใบเมี่ยงจะเป็นสีแดงรสชาติไม่อร่อย และราคาจะไม่ดี

    ว่ากันว่า เมี่ยงเป็นอาหารที่มีผลต่อชีวิตประจำวันของคนที่นี่มาก เพราะเวลามีงานบุญหรืองานต่างๆ ของฝากที่สำคัญคือเมี่ยง หลังอาหารคนที่นี่มักจะกินเมี่ยงกันตลอด รสชาติของเมี่ยงจะมีความเปรี้ยวหอมหวานเป็นที่ถูกปากของใครหลายๆ คน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะนิยมกินกับเกลือ ความเปรี้ยวหวานกับความเค็มเป็นรสชาติที่ตัดกัน คุณยายยังเล่าให้ฟังอีกว่าเมี่ยงยังช่วยต้านมะเร็งได้ เพราะคนที่หมู่บ้านแม่กำปองไม่ค่อยมีใครเป็นโรคร้าย ทั้งมะเร็ง โรคตับแข็ง เบาหวาน ไขมันอุดตันในเส้นเลือดไม่ค่อยมีใครเป็น แล้วยังบอกอีกว่าเมี่ยงยังช่วยลดไขมันในเส้นเลือด

    ปัจจุบันคุณยายรจนามีอายุมากขึ้นทำให้ไม่สามารถขึ้นไปเก็บเมี่ยงได้ แต่คุณยายยังมีรายได้จากการทำโฮมสเตย์ ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักในปัจจุบัน อีกทั้งคุณยายยังทำหมอนใบชาเป็นสินค้าส่งออกชั้นดีสามารถทำเงินให้กับคุณยายได้พอสมควร หมอนใบชามีคุณสมบัติสามารถดูดกลิ่นได้ กิ่งของใบชาทำให้รู้สึกผ่อนคลายหายเครียด คนนิยมเอาไปใส่ไว้ในรถ ไม่ให้รถมีกลิ่นอับ จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายเวลาขับรถ

    ตลอดการสนทนา รู้สึกได้ว่า หญิงสูงวัยคนนี้มีความผูกพันกับเมี่ยงและหมู่บ้านแม่กำปองเป็นอย่างมาก  แม้ว่าปัจจุบันหมู่บ้านแม่กำปองเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนส่วนใหญ่รู้จัก หากแต่วิถีชีวิตของคนแม่กำปองยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก คุณยายภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนแม่กำปอง ดังคำพูดประโยคหนึ่งที่ทำให้รับรู้ได้ถึงความภูมิใจในหมู่บ้านแห่งนี้ว่า

    “คนส่วนใหญ่ชอบมาที่แม่กำปอง เพราะบรรยากาศ อากาศ ป่าไม้ ที่สวยงาม แต่สำหรับยายแล้วสิ่งที่สวยงามที่สุดคือวิถีชีวิตของคนแม่กำปองที่ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน ยายเกิดที่นี่ มีครอบครัวที่นี่ และขอใช้ชีวิตสุดท้ายที่นี่” คุณยายรจนากล่าวทิ้งท้าย

    แม่กำปอง4

    …………………………………………….

    คำว่า “คนป่าเมี่ยง” อาจจะเคยเป็นคำกล่าวที่คนแม่กำปองฟังแล้วแสลงหู หากแต่วันนี้ “คนป่าเมี่ยง” กลายเป็นความภาคภูมิใจของคนที่นี่ เพราะทุกคำล้วนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง บ่งบอกถึงความเป็นคนแม่กำปองที่ไม่เหมือนใคร มีเอกลักษณ์ วัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตที่สวยงามเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ เมื่อใครมาพบต่างก็ต้องตกหลุมรัก

     

    เรื่องและภาพ : เกียรติก้อง  เทียมธรรม

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ