More
    Monday, March 7, 2022

    โพสต์ตามหาเด็กหาย อันตรายดาบสองคม

    -

    ปลายกิ่งไม้ที่แตกแขนงออกจากลำต้นอันแข็งแกร่ง มีเศษฟางเศษหญ้าถูกสานไขว้ไปมาวางอยู่ ความอัศจรรย์ของธรรมชาติที่รังสรรค์ให้สิ่งมีชีวิตเล็กๆ สร้างรังนอนให้ลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลกอันกว้างใหญ่ มันค่อยๆฟูมฟักไข่ใบน้อย จนกระทั่งอุ้งเท้าน้อยๆ ของลูกมีแรงพอที่จะกะเทาะเปลือกไข่ออกมา และระหว่างที่รอให้ปีกแข็งแรงพอจะออกโบยบิน นกน้อยยังคงต้องอาศัยรังที่พ่อแม่สร้างให้ มันจะมีชีวิตรอดถึงวันนั้นหรือเปล่า..วันที่ได้ออกโบยบิน ความหวังทั้งหมดถูกฝากไว้ที่รังนกบนปลายไม้รังนี้

    ไม่ต่างไปจาก“เด็ก”พวกเขาจะเติบโตออกไปใช้ชีวิตได้อย่างเข้มแข็งได้อย่างไร หากไม่ได้รับการดูแลอย่างดีจากสถาบันครอบครัว ในปัจจุบัน สังคมมีปัญหาเด็กและเยาวชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรง การทอดทิ้งละเลย การขาดโอกาสในด้านต่างๆ การสูญหายของเด็ก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศตามหาเด็กหาย หากขาดความรู้ความเข้าใจ การยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

    เมื่อลมพัดกระทบรัง

               เมื่อเดือนมกราคม ปี 2560 มีการแชร์ข้อมูลในเฟซบุ๊กว่ามีเด็กอายุ 14 ในอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม หายออกจากบ้าน ผู้ปกครองไม่สามารถติดต่อได้ มีการแจ้งความและประกาศตามหาเด็กลงในโซเชียล โดยเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเด็กและไม่มีการปกปิดหน้าตา จากกรณีดังกล่าว ข้อเท็จจริงคือเด็กเต็มใจหนีไปกับแฟน การลงประกาศรูปเด็กและแฟนส่งผลให้เด็กไม่มีที่ยืนในสังคม  เพราะถูกสังคมตีตราแล้วว่าเป็นเด็กใจแตกหนีตามผู้ชาย

    นางดุษฎี นามวิเศษ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ฝ่ายสวัสดิการสังคม บ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดมหาสารคาม หญิงสาวแววตามุ่งมั่น ได้กล่าวถึงกรณีเด็กโกสุมพิสัย อายุ 14 ที่หายไปจากบ้านว่าจากกรณีนี้ผู้ปกครองต้องการได้ตัวเด็กกลับบ้านให้เร็วที่สุด จึงประกาศตามหาเด็กลงบนโซเชียล แต่ผู้ปกครองต้องเข้าใจก่อนว่าเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ การประกาศตามหาในโซเชียลแม้จะรวดเร็ว แต่จะส่งผลเสียต่อเด็กในอนาคต ผลที่ได้กลับมาได้ไม่คุ้มเสีย สำหรับผู้ปกครองที่ลูกหลานของตนสูญหาย ควรตั้งสติให้ได้ก่อน แล้วมาติดต่อกับหน่วยราชการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการติดตามเด็กหาย เพราะเจ้าหน้าที่จะมีกลยุทธ์ วิธีการในการติดตาม โดยเล็งเห็นถึงประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง

    “การที่บอกว่ามันส่งผลเสียต่อเด็กในอนาคต คือ ลองคิดดูว่าเมื่อเด็กกลับมาแล้ว เด็กจะมีสภาพเป็นอย่างไรในเมื่อสังคมได้ตีตราเด็กไปแล้ว ซึ่งอาจจะมีทั้งภาพลบและภาพบวก เช่น ถ้ากรณีที่เด็กหนีออกจากบ้านไปกับแฟน สังคมก็ตีตราเด็กไปแล้วว่าเด็กคนนี้ใจแตก เด็กคนนี้หนีตามผู้ชาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันมีผลกระทบต่อตัวเด็ก” นักสังคมสงเคราะห์อธิบาย

    อีกทั้งการเปิดเผยรูปภาพของเด็ก เป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 27 คือห้ามโฆษณาหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง หรือเกียรติคุณ หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

    นักสังคมสงเคราะห์กล่าวต่อว่า กรณีนี้มีการตามหาเด็กผ่านทางเฟซบุ๊กและติดแฮชแท็ก ซึ่งคือการละเมิดสิทธิเด็กอยู่แล้ว หากเด็กคนนี้เขาเรียกร้องขึ้นมาว่าเอารูปเขาไปแชร์ได้อย่างไร เพราะเขาอาจไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น ซึ่งหน่วยงานที่เป็นต้นทางรับเรื่อง เช่น ตำรวจ ก็ยังไม่มีการตระหนักเท่าที่ควร

    ที่ผ่านมา บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดมหาสารคาม จึงได้จัดโครงการ “การสร้างความรู้ความเข้าใจ และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตามหาเด็กหาย”และเชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากมูลนิธิกระจกเงามาให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติและกระบวนการในการติดตามหาเด็กผ่านทางโซเชียล เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการตามหายเด็ก เพื่อให้ทีมงานสหวิชาชีพเกิดตระหนักในสภาพปัญหา มีการถอดบทเรียนจากการแก้ปัญหาที่ผ่านมา รวมทั้งการทบทวนบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย โดยเชิญตำรวจทั้ง 13 อำเภอ มาทำความเข้าใจถึงวิธีประกาศตาหาเด็กให้ถูกวิธี เพราะตำรวจเป็นสถานที่แรกที่รับเรื่อง ซึ่งตำรวจส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในการพิทักษ์สิทธิเด็กเท่าที่ควร เพื่อให้เกิดการประสานงานที่รวดเร็วและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นในอนาคต

    นกน้อยพลัดตกรัง

    เมื่อยามที่เกิดพายุฟ้าคะนอง สารพัดภัยธรรมชาติพร้อมจะถาโถมเข้าใส่ แรงลมพัดต้นไม้ใหญ่ที่ตั้งตระหง่านสั่นไหว ทันใดนั้นเกิดเสียงฟ้าผ่า เปรี้ยง! ดังกระหึ่ม กิ่งไม้กิ่งใหญ่ร่วงหล่นพร้อมรังนกที่เกาะอยู่บนปลายกิ่งไม้ นกน้อยหล่นหายไปอยู่ที่ใดไม่มีใครรู้ เด็กหายไปอยู่ที่ใดก็ไม่มีใครทราบเช่นกัน สิ่งเดียวที่ควรทำคือตั้งสติ และคำนึงถึงผลประโยชน์และความปลอดภัยในการตามหาให้มากที่สุด หากผลีผลามนกน้อยที่บาดเจ็บหลบอยู่ในกอหญ้าอาจโดนกิ่งไม้ที่เคยอาศัยกลิ้งทับก็เป็นได้

    นายสุวิภักษ์ แสนบัวโพธิ์ นักสังคมสงเคราะห์ บ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดมหาสารคาม ชายหนุ่มผิวเข้ม ท่าทางใจดี ผู้มีประสบการณ์ด้านการตามหาเด็กหายมากว่า 10 ปี เล่าให้เราฟังถึงความละเอียดอ่อนของการแก้ไขปัญหาเด็กหายว่า จากประสบการณ์ในการตามหาคนหาย ส่วนใหญ่เป็นกรณีหนีออกจากบ้านและตามตัวไม่ได้ ซึ่งการหนีออกจากบ้านมีหลายสาเหตุที่สะท้อนสภาพปัญหาของครอบครัว และโยงไปสู่ปัญหาอื่นๆได้

    ยกตัวอย่างเช่น หายเพราะถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว จนทนไม่ไหวต้องหนีออกจากบ้าน หรือหายเพราะถูกฆาตกรรมแล้วมีการอำพรางศพ หรือหายเพราะมีการแสวงหาผลประโยชน์ด้านการค้ามนุษย์ ใช้แรงงาน ค้าประเวณีหรือมีการปลอมสิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะย้อนกลับมาที่การประมาทเลินเล่อของผู้ปกครองในการดูแลบุตร ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าอาจเป็นวิถีปฏิบัติของครอบครัว แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้

    “สิ่งที่อยากเตือนผู้ปกครองอันดับแรกคือ อย่าโพสต์ เพราะโซเชียลมีพิษภัยสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ซึ่งการประกาศตามหาเด็กหาย เราเข้าใจว่าผู้ปกครองเป็นห่วง แต่ข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปจะอยู่อย่างนั้นไปตลอดและกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติของคนๆนั้น ผู้คนสามารถหาข้อมูลได้ว่าเด็กคนนี้เคยหายตัวไปหรือเคยมีกรณีชู้สาว เพราะอนาคตในอีก 20 ปี 30 ปีข้างหน้าไม่อาจรู้ได้ว่าเด็กจะเติบโตขึ้นไปมีหน้าที่การงานอย่างไร ซึ่งเรามองว่าถ้าไม่สุดๆจริงๆ ไม่ควรปล่อยให้เรื่องไปถึงสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ทางโซเชียล เพราะจะควบคุมได้ยาก ซึ่งเราก็ต้องดูกันเป็นกรณีๆไป” นายสุวิภักษ์กล่าวด้วยสีหน้าที่เป็นกังวล

    จากข้อมูลโมเดลขอบข่ายงานของปัญหาเด็กหาย ศูนย์เด็กหายและเด็กที่ถูกล่วงละเมิดนานาชาติ ย้ำถึงการประกาศตามหาเด็กหายว่าในส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การสืบสวน ขณะพิจารณาว่าควรใช้สื่อเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะชนหรือไม่ สิ่งสำคัญคือการตัดสินใจว่าการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณชนนั้นเป็นผลดีที่สุดต่อการสืบสวนหรือไม่ และควรมีการพิจารณาว่าจะใช้สื่อประเภทใด (เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อดิจิตอล/ออนไลน์ โซเชียลมีเดีย) และจะใช้ในขอบเขตที่มากน้อยเพียงใด

    ในการแจกจ่ายภาพถ่ายของเด็กที่สูญหายเพื่อเพิ่มโอกาสในการค้นหาเด็ก ที่สำคัญคือหน่วยงานจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองของเด็กที่หาย หรือหน่วยงานที่สอบสวน และควรคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของเด็ก ก่อนที่จะแจกจ่ายข้อมูลไปยังสาธารณชน เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆขึ้นในแต่ละวัน สิ่งสำคัญคือหน่วยงานต่างๆ จะต้องเตรียมขั้นตอนการลบข้อมูลที่อ้างอิงถึงตัวเด็กออกภายหลังจากที่ค้นพบตัวแล้ว

    พานกหลงถิ่นกลับสู่รัง

               นกพลัดถิ่น อาจโชคดีได้พบกับคนใจบุญที่จะช่วยนำทางพานกน้อยที่บอบช้ำกลับสู่รัง ความใส่ใจในการช่วยเหลือ และแก้ปัญหาของหน่วยงานต่างๆที่ติดตามปัญหาเด็กหาย เปรียบเสมือนคนใจบุญที่คอยให้ความช่วยเหลือเยียวยา และนำพานกน้อยกลับสู่อ้อมกอดอันอบอุ่นของครอบครัวอีกครั้ง

    นางสุภานันท์ เทียนทอง นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนการในการตามหาและการติดตามเด็กหายว่า

    “ด้านกระบวนการในการติดตามหรือประสานงานกับหน่วยต่างๆ จะดำเนินการโดยการประสานงานกับตำรวจให้ออกติดตามหาตัวเด็ก และส่งเอกสารไปให้เจ้าหน้าที่โดยจ่าหน้าซองว่า ‘ลับ’ เพื่อไม่ให้คนนอกมีสิทธิ์รับรู้ เพื่อเป็นการป้องกันข้อมูลของเด็กอีกระดับหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาแล้วว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของเด็กอาจจะต้องเปิดเผยชื่อและภาพของเด็ก แต่จะต้องเลือกเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นต่อการค้นหาจริงๆเท่านั้น” นักพัฒนาสังคมชำนาญการกล่าว

    นางสุภานันท์กล่าวต่อว่า สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อพบตัวเด็กแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะลงไปเยี่ยมที่บ้านเพื่อประเมินศักยภาพครอบครัวในการดูแลเด็ก ดูสาเหตุ ปรับทัศนคติครอบครัวและตัวเด็ก ให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา และติดตามประเมินผลเป็นระยะ ถ้าครอบครัวไม่ผ่านการประเมิน อาจจะต้องหาคนมาดูแลเด็ก เช่น ญาติหรือหน่วยงานที่สามารถให้การรองรับได้ให้คอยดูแลเด็กแทนครอบครัว

    ในส่วนของขั้นตอนการติดตามเด็กหาย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งความ เจ้าพนักงานจะทำการรับแจ้งและสืบสวน เพื่อเก็บรายละเอียดข้อมูลของเด็กที่หายไปให้ได้มากที่สุด และทำการแจ้งสายตรวจในพื้นที่ที่รับเรื่องให้รีบทำการตรวจสอบค้นหาข้อมูล (เพื่อนให้ผู้ปกครองของเด็กคลายความกังวลในเบื้องต้น) มีการลงบันทึกประจำวัน แล้วดำเนินการส่งต่อข้อมูลเด็กหายไปยังมูลนิธิและหน่วยงานต่างๆที่มีเจ้าหน้าที่เฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นต้นทางในการรับเรื่อง หลังจากแจกจ่ายข้อมูลให้กับหน่วยงานสหวิชาชีพ พนักงานสอบสวนจะคอยติดตามความคืบหน้าจากฝ่ายต่างๆ และนำเบาะแสที่ได้มาวิเคราะห์หาสาเหตุการหาย และดำเนินการค้นหาเพื่อให้รู้หรือพบตัวเด็กหาย

    ก่อนบทสนทนาสุดท้ายจะสิ้นสุดลงนักพัฒนาสังคมได้เน้นย้ำว่า การประกาศตามหาลงโซเชียลมีเดียจะเป็นทางเลือกสุดท้าย และถ้าจำเป็นต้องใช้ทางเลือกนี้สิ่งที่ควรตระหนักคือ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในการลงประกาศ เพราะสิ่งสำคัญคือขั้นตอนการลบข้อมูลที่อ้างอิงถึงตัวเด็กออกภายหลังจากที่ค้นพบตัวแล้ว

    สุดท้ายแล้วรังนกบนปลายไม้ก็เปรียบเสมือนเด็ก สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่จะเติบโตและเข้มแข็งได้ ล้วนมาจากการดูแลเอาใจใส่ บนต้นไม้อันสูงชันที่ต้องเผชิญกับลมฝน พายุที่คอยโหมกระหน่ำ ครอบครัวเป็นดั่งรวงรังที่มั่นคง หากพ่อแม่สร้างรังด้วยความรักและคอยสอดส่องป้องกันภัย ภัยร้ายที่จะเกิดกับนกตัวน้อยคงไม่อาจกล้ำกลายทำอันตรายใดๆได้ หรือหากนกตัวน้อยพลัดตกหล่นหลงทาง สิ่งสำคัญที่สุดในการตามหา คือการตระหนักถึงความปลอดภัยและประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง โดยอาศัยความร่วมมือจากสหวิชาชีพ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ เพราะหากขาดความรู้ความเข้าใจ การยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ