More
    Wednesday, March 2, 2022

    “ในน้ำมีปลา ในหมู่บ้านคำครตา มีปลาส้มอินทรีย์”

    -

    ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งลงแขกกันจับปลาอย่างพร้อมเพรียง ด้วยท่าทางการเหวี่ยงแห่ที่คล่องแคล่ว เพียงไม่นานแหก็เต็มไปด้วยปลาตะเพียบนับสิบตัว ขนาดกำลังดี พร้อมจะแปรรูปเป็นอาหารยอดนิยม

    “เราเลี้ยงเองได้ แล้วทำไมจะแปรรูปเองไม่ได้” เสียงจากชายคนหนึ่งที่เป็นผู้นำชุมชนบ้านคำครตา อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร บอกเล่าถึงแหล่งวัตถุดิบของตน ชุมชนแห่งนี้เคยคลุกคลีกับการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม แต่ไม่ยอมจำนนให้กับสารเคมีเหล่านั้น ลุกขึ้นยืนหยัดกันได้ด้วยความร่วมมือของคนในชุมชน กลายเป็นเรื่องราวการเดินทางของ ‘ปลาส้มอินทรีย์’ จากแหล่งวัตถุดิบชั้นดีสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ  

    “ในน้ำมีปลา ในหมู่บ้านคำครตา มีปลาส้มอินทรีย์” 1

    เริ่มต้นจากพาราควอตเจ้าปัญหา

    พาราควอต กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในช่วงนี้ เมื่อมีการเสนอให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต” โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม อ้างอิงจากงานวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17-20%

    นอกจากนี้ หากมีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร ยิ่งมีความเสี่ยงในการตรวจพบพาราควอต คิดเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน ซึ่งทางคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาแล้ว ปรากฏว่า “ไม่สั่งให้ยกเลิก” แต่ให้จำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ตัว โดยกรมวิชาการเกษตรเสนอแนวทางการใช้สารเคมีดังกล่าวว่า ห้ามใช้ในพืชผักสวนครัวโดยเด็ดขาด แต่สามารถใช้ได้ในพืชเศรษฐกิจโดยจำกัดปริมาณในการใช้ให้น้อยลง

    เรากำลังพูดถึงชะตากรรมของเกษตรกรไทยทั้งประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับสารเคมีเจ้าปัญหาที่ชื่อว่า “พาราควอต ” คนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นหูกับชื่อของสารเคมีชนิดนี้แต่ถ้าเราพูดถึงชื่อผลิตภัณฑ์ยี่ห้อหนึ่งในนาม กรัมมอกโซน (Grammoxone) ยาฆ่าหญ้าอันดับหนึ่งของโลกที่ผลิตขึ้นในสหราชอาณาจักรเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยบริษัทไอซีไอ (Imperial Chemical Industries) และในประเทศไทยเองได้นำเข้าพาราควอตถึง 30,000 กว่าตัน ในปี 2560 เป็นมูลค่านับพันล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความนิยมของประเทศไทยที่ไม่เสื่อมคลายแม้กว่า 53 ประเทศทั่วโลกได้ทำการลงดาบแบนผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ แม้แต่ในประเทศอังกฤษที่เป็นประเทศผู้ผลิตเอง คำถามคือแล้วทำไมประเทศไทยถึงยังคงใช้อยู่ ? คำถามนี้ยังคงถูกถามเรื่อยมาพร้อมๆ  กับชีวิตของเกษตรกรที่ต้องตกเป็นผู้ถูกสังเวย

    “ในน้ำมีปลา  ในหมู่บ้านคำครตา มีปลาส้มอินทรีย์” 2.jpg

    เกษตรกรไทย ไม่สิ้นไร้ไม้ตอก

    เมื่อสารเคมีอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่าง “พาราควอต” ยังคงมีอยู่ตามมติของรัฐบาลที่ไม่สั่งห้าม แม้จะมีงานวิจัยและการตรวจสอบผลกระทบที่โจ่งแจ้งแดงเถือก เป็นผลให้เกษตรกรในหลายๆ พื้นที่พยายามที่จะหาทางออก หนึ่งในวิธีการนั้นคือการลดใช้สารเคมีในนาข้าว และมุ่งมั่นทำเกษตรเชิงอินทรีย์ เพื่อฟื้นฟูดิน น้ำ และพืชผลที่พาราควอตตกค้าง แม้กระทั่งในร่างกายพวกเขา   

    เกษตรกรกลุ่มที่ว่าคือ ชาวบ้านตำบลดงมะไฟ อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร หมู่บ้านที่ทำเกษตรกรรมเชิงอินทรีย์หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผลิตปุ๋ยอินทรีย์และข้าวอินทรีย์ กลุ่มเลี้ยงปลาตะเพียนและผลิตปลาส้มปลอดสารเคมี ทั้งหมดที่กล่าวมานี้หาใช่เพียงแนวคิด แต่ได้เกิดขึ้นจริง และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

    “สองปีที่แล้วชาวบ้านชุมชนดงมะไฟกว่า 10 หมู่บ้านมีการตรวจเลือด พบว่าส่วนใหญ่มีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ในเลือด สิ่งแวดล้อมก็ได้รับความเสียหาย เพราะใช้สารเคมีกันเยอะ ก็เลยหันมารณรงค์ให้เลิกใช้สารเคมีในการทำการเกษตร จนเกิดเป็นธรรมนูญตำบลขึ้นมา” แม่ยุพิน พันธ์ศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟ เล่าที่มาที่ไปของเกษตรอินทรีย์ของชุมชนนี้ให้เราฟัง พลางเลือกข้าวไรซ์เบอรี่ที่สีเสร็จแล้วทีละเม็ดๆ อย่างประณีต

    แม่ยุพินเล่าถึงระบบนิเวศในนาข้าวเริ่มแปรปรวน หลังจากสารพาราควอตที่เกษตรกรใช้ตกค้างอยู่ในน้ำ สัตว์พื้นบ้าน เช่น ปลา กบ ลูกอ๊อด เริ่มเป็นแผลตามผิวหนัง บางตัวถึงขั้นเน่าเปื่อย จนตายในที่สุด เห็นเช่นนี้แล้วเกษตรกร จึงไม่รอช้าให้ผลกระทบตกมาถึงผู้บริโภคในห่วงโซ่อาหารขั้นสุดท้าย เพียงเห็นความเสียหายที่เกิดจากการใช้สารพาราควอต ที่ค่อยๆ คร่าชีวิตสัตว์น้ำในนาข้าวก็เพียงพอแล้ว จึงลุกขึ้นมาทวงคืนระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมของชุมชนให้ดีขึ้น

            แม้ชาวบ้านที่นี่จะยังไม่มีใครได้รับผลกระทบมากพอถึงขั้นเสียชีวิต แต่เหตุใดต้องรอให้ถึงขึ้นนั้น ทำเหมือนวัวหายค่อยล้อมคอกด้วย ในเมื่อตอนนี้เกษตรกรอำเภอเลิงนกทาในจังหวัดเดียวกันนี้กำลังเผชิญกับความเจ็บปวดที่มาจากการใช้สารเคมี ยิ่งใช้มากยิ่งมีความเสี่ยงมากในการเป็น “โรคเนื้อเน่า” ร้ายแรงถึงขั้นต้องตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตไว้

    ผลักดันชุมชนสู่พื้นที่เกษตรปลอดสาร

    แม่ยุพินเล่าต่อว่า ธรรมนูญตำบล เป็นกฎกติกาข้อตกลงร่วมกันของคนในตำบลดงมะไฟ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คือการไม่ใช้สารเคมีในพื้นที่ทำการเกษตร ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องสารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในยากำจัดศัตรูพืช แต่ถึงอย่างนั้น เกษตรกรบางส่วนก็ยังต้องพึ่งการใช้ปุ๋ยเคมีอยู่ วิธีการของชุมชนคือการอะลุ่มอล่วยในข้อจำกัดของเกษตรกรบางคนแต่ก็มีการพูดคุยและทำความเข้าใจกันอยู่เสมอและหาแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเคมีอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อนำไปสู่การเลิกใช้ยากำจัดศัตรูพืชทั้งชุมชน

    ขณะที่แม่พูลทรัพย์ ทองเภา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านคำครตา หมู่ที่ 9 เล่าต่อว่า สภาพแวดล้อมของชุมชน หลังจากมีการใช้ธรรมนูญตำบลว่า “เพียงระยะเวลาไม่นานระบบนิเวศของตำบลดงมะไฟก็ดีขึ้น ชาวบ้านสามารถนำสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติมารับประทานได้โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องสารพิษ ในส่วนของสุขภาพของคนในชุมชนก็ดีขึ้น จากการตรวจพบว่าคนในชุมชนไม่มีสารเคมีปนเปื้อนในเลือด”

    ทุ่งนาเขียวขจีพลิ้วไหวไปตามแรงลม กบ เขียด ปลาที่อาศัยอยู่ในนาข้าว ระบบนิเวศที่กำลังดำเนินไปอย่างที่มันควรจะเป็น ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นด้วยสองมือของคนในชุมชนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะพฤติกรรมการใช้สารเคมีในการเกษตรนั้นถูกฝังรากลึกในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชนแห่งนี้จึงเป็นสัญญาณที่ดีและแบบอย่างของเกษตรกรที่ต้องพึ่งพาตนเองในการรักษาธรรมชาติและชีวิตของคนในชุมชนที่ถูกปนเปื้อนไปด้วยพาราควอต

    ปลาส้มอินทรีย์ในยุคเกษตรเปื้อนสาร

            กลิ่นกระเทียม เกลือ และข้าวที่ผสมกันอย่างเข้าที่ในตัวปลาตะเพียน ทอดในน้ำมันหอมฟุ้งลอยมาแต่ไกล เรียกน้ำลายและชวนให้กรดในกระเพาะปั่นป่วนเป็นว่าเล่น นั่นคือ ปลาส้มของกลุ่มแปรรูปปลาตะเพียน เหลือบมองไปบริเวณรอบๆ ฝั่งหนึ่งเป็นบ่อปลาที่ข้างๆ ชาวบ้านกำลังช่วยกันเอาปลาตะเพียนออกจากแห ส่วนอีกฝั่งก็กำลังทำความสะอาดปลา ขอดเกล็ด ควักไส้ให้เสร็จสรรพ พร้อมแปรรูปเป็นปลาส้มกันต่อไป

            “อยากให้พ่อเล่าถึงการเลี้ยงปลาตะเพียนของที่นี้ ทำไมถึงขึ้นชื่อว่าเป็นปลาส้มอินทรีย์ได้” คำถามปลายเปิดถูกถามขึ้นพร้อมกับบรรยากาศการจับปลาที่คึกครื้น

            พ่อชุมพร ผ่องใส ผู้ใหญ่บ้าน บ้านคำครตา หมู่ที่ 3 และประธานกลุ่มเลี้ยงปลาเพื่อแปรรูปอาหารเล่าว่า เป็นรูปแบบการเลี้ยงเชิงอินทรีย์ คือเลี้ยงในนาข้าว ให้กินอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งปลาตะเพียนเป็นปลาที่กินพืชอยู่แล้ว กินผักที่ขึ้นบนพื้นน้ำอย่างแหนและผำ จึงคิดกันว่ามาเลี้ยงแหนและผำให้เป็นอาหารปลา เสริมด้วยรำข้าวแล้วก็หญ้าเนเปียร์ ถึงเวลาที่ตัวโตเต็มวัยก็เพิ่มรำข้าวเข้าไปอีก เพื่อการสร้างเนื้อ สร้างไขมันต่างๆ ของปลา

            ในฐานะตัวแทนชุมชนคนเลี้ยงปลาเชิงอินทรีย์ พ่อชุมพรเล่าถึงวงจรของสารพาราควอต ปลา และนาข้าวว่า “เมื่อปลากินอาหารในนาข้าวที่มีสารพาราควอตปนเปื้อนอยู่ ปลาจะไม่มีการเจริญเติบโต ป่วยและตายในที่สุด ที่สำคัญคือปลาจะไม่โตอย่างแน่นอน เพราะสารพวกนี้มันเป็นสารเคมีที่มีพิษ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ หรือคนถ้าได้รับสารนี้เข้าไปทีละเล็กทีละน้อยมันก็จะไปสะสมในตัวทั้งคนและปลา ซึ่งมันจะทำให้ปลาไม่สมบูรณ์”

            ทั้งนี้พ่อชุมพรบอกว่า การป้องกันสารพาราควอตในนาข้าว ทำได้โดยยกแนวคันนาให้สูงขึ้น เพื่อไม่ให้น้ำภายนอกที่ปนเปื้อนสารเคมีไหลเข้ามา ซึ่งสารตัวนี้ก็มีปัญหากับชุมชนอยู่พอสมควร สัตว์น้ำก็อาศัยอยู่ไม่ได้ ไส้เดือนต่างๆ ก็อยู่ในดินไม่ได้ เพราะมีพาราควอตมาผสมอยู่ในน้ำในดินเยอะจนเกินไป ส่งผลกระทบให้เกษตรกรที่เลี้ยงปลาได้รับความเสียหาย

    “ในน้ำมีปลา  ในหมู่บ้านคำครตา มีปลาส้มอินทรีย์” 5.jpg

    บำบัดอย่างค่อยเป็นค่อยไป

    ข้อดีของยาฆ่าหญ้าที่พันธนาการเกษตรกรไว้ยาวนานมีหลายข้อ โดยเฉพาะเรื่องการลดต้นทุนแรงงานคน ด้วยประสิทธิภาพที่ราคาถูก เห็นผลไว เพียงแค่นำสารเคมีผสมน้ำและพ่นไปตามวัชพืช จึงเป็นที่นิยมและขึ้นชื่อว่าเป็นสารเคมีที่มีประสิทธิภาพ หรือถ้ามองในมุมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเม็ดเงินจากการอุตสาหกรรมเกษตร ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ได้สร้างความร่ำรวยให้กับนายทุนผู้นำเข้าและผู้ผลิตมาอย่างยาวนาน ข้อดีที่ว่ามานี้ทำให้ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม  ชีวิตและสุขภาพ ถูกให้ความสำคัญรองลงมาอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

    ชุมชนบ้านคำครตาเข้าสู่เส้นทางเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ด้วยการก่อตั้งโรงปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ผสมปุ๋ยอินทรีย์กับแม่ปุ๋ยเคมีเข้าด้วยกัน เพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกและคนในชุมชนในราคาเป็นธรรม จนถึงปี 2556 ได้พัฒนาเป็นโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์เต็มรูปแบบ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการที่แกนนำและผู้นำชุมชนริเริ่ม ทำเป็นตัวอย่างให้คนในชุมชนเห็นว่า การไม่ใช้สารเคมีได้ประโยชน์อย่างไร แล้วผลผลิตที่ได้คุ้มกับต้นทุนหรือไม่ ปัจจุบันก็ยังมีการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวเป็นการผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งปราศจากการใช้ยาฆ่าหญ้า ดังนั้นการที่จะให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลาและให้เวลากับชาวบ้านในการตัดสินใจ

    พ่อชุมพรเล่าว่า ตนเริ่มปรับวิธีคิดในการใช้สารเคมีลดลง เกิดจากการไปอบรม หลังจากนั้นก็ได้มีการลดใช้สารเคมีลงเรื่อยๆ ซึ่งในปัจจุบันการใช้สารเคมีในพื้นที่ลดลงประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเหลือประมาณอีก 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังใช้สารเคมีอยู่ และตัวของผู้ใหญ่บ้านเองได้เริ่มลดการใช้สารเคมี จากนั้นหันมาใช้เกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 แต่ว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ คือทำด้วยตัวเอง ซึ่งอาจไม่ได้ลดสารเคมีไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ลดสารเคมีที่รุนแรงอย่างพาราควอตไปได้

    “พืชก็เหมือนกับคนเราถ้าขาดอาหาร 5 หมู่ไปก็อยู่ไม่ได้ ข้าวก็เหมือนกันถ้าใช้แต่อินทรีย์ไม่มีสารอะไรไปกระตุ้น ผลผลิตก็หายไป บางทีเกษตรกรก็มีหนี้มีสินเยอะรับภาระเยอะ สมมุติว่าถ้าหายไปหมดเลยแล้วเราจะเอาอะไรมาดำรงชีพของเรา” ผู้ใหญ่ชุมพร กล่าวทิ้งท้าย

    ต้นแบบชุมชนเกษตรอินทรีย์ วิถีอีสาน

    เกษตรอินทรีย์ของชุมชนตำบลดงมะไฟ ถือเป็นต้นแบบของผู้ที่พยายามจะสร้างแรงกระเพื่อมเล็กๆ ในประเทศที่เห็นประโยชน์ของชาวบ้านมาทีหลังกำไรของนายทุน และเป็นต้นแบบของชุมชนที่มองเห็นประโยชน์ระยะยาวของธรรมชาติ ผืนดิน ผืนน้ำ สุขภาพของคนในชุมชนไปถึงผู้ที่บริโภคผลผลิตทางเกษตร นี่จึงเรียกได้ว่าเป็นการทำเกษตรกรรมที่เคารพและรับผิดชอบต่อตนเองและผู้บริโภค และเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลง

    จะเห็นได้ว่าคนในชุมชนเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนชุนชนสู่การทำการเกษตรปลอดสารเคมี และนำไปสู่การสร้างอาชีพและคุณค่าให้กับชุมชน เพียงปรับเปลี่ยนวิธีคิด ร่วมรับรู้และหาทางแก้ไข สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และลงมือทำให้เห็นเป็นผลสำเร็จ คือการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืนที่ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ให้ชุมชน แต่ก็ยังมีชุมชนอีกหลายชุมชนทั่วประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับสารเคมีอันตรายที่พร้อมเข้าสู่ร่างกายได้ทุกเมื่อ

    แม้ว่าการต่อสู้เรื่องพาราควอตจะเหมือนหนังยาวที่ไม่มีตอนจบ สุดท้ายการสร้างจุดยืนด้วยตัวของชุมชนเอง โดยปฏิเสธการใช้สารเคมีด้วยเหตุผลสำคัญคือ การคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค นั่นก็อาจเพียงพอแล้ว ที่จะให้ทุกฝ่ายหันมาพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้สารเคมีเจ้าปัญหานี้

    “ในน้ำมีปลา  ในหมู่บ้านคำครตา มีปลาส้มอินทรีย์” 4.jpg

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ