More
    Monday, March 7, 2022

    ไซต์งานก่อสร้าง คือบ้านของผม

    -

    แสงแดดจ้ายามบ่าย สาดลงมายังพื้นเบื้องล่าง กว่าร้อยชีวิตผู้อยู่เบื้องหลังตึกสูง กำลังสูดรับไอร้อนจากดวงอาทิตย์ สองมือจับค้อนตอกตะปู เสียงเหล็กกระทบพื้นดังระงม หลายชีวิตดั้นด้นเพื่อปากท้อง จนบางครั้งอาจหลงลืมหนูน้อยที่ติดสอยห้อยตามมากับครอบครัว โดยอาศัยอยู่ในแคมป์คนงาน มีเพียงสังกะสีและไม้อัดที่ใช้ประกอบให้เป็นที่พักอาศัย ด้วยสภาพแวดล้อมที่แออัด ส่งผลให้เกิดปัญหาพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์ และสุขภาพ ทั้งขาดโอกาสในการเรียนรู้สังคม เด็กยังคงเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่มาจากไซต์งานก่อสร้าง ไร้ซึ่งพื้นที่ปลอดภัยโดดเดี่ยวเพราะผมเป็นเด็กคนเดียวในไซต์งาน

    โดดเดี่ยวเพราะผมเป็นเด็กคนเดียวในไซต์งาน

    “ตึกนี้สูงใหญ่ มือไผเล่าสร้าง ทั่วทุกเส้นทาง ไผสร้างไผเฮ็ดถนน นั่งนอนซำบาย ฮู้บ่ไผหนอทุกข์ทน กรำแดดกรำฝน แบกขน นั้นแม่นผู้ใด” คำร้องท่อนหนึ่งในเพลง ผู้อยู่เบื้องหลัง – ไมค์ ภิรมย์พร เสียงเพลงจากวิทยุ เป็นเหมือนดั่งเพื่อนที่รู้ใจของนายศักดิ์ (นามสมมุติ) ชายวัยกลางคน อายุ 55 ปี ผู้ดูแลคนงานกว่า 20 คน เสียงเพลงถูกกลบด้วยเสียงหัวเราะของเพื่อนๆ คนงาน บรรยากาศหลังเลิกงานเต็มไปด้วยรอยยิ้ม หลายคนเริ่มจับกลุ่มทำกับข้าวมื้อเย็น ทีเด็ดของมื้อนี้คือ ต้มไก่บ้านรสแซบ ชายกลางคนบอกเมนูเด็ดด้วยรอยยิ้ม ขณะเดียวกันพี่ๆ คนงานต่างก็ขยับกายเพื่อให้เราได้นั่งอย่างสบาย ก่อนที่นายศักดิ์จะเริ่มบอกเล่าถึงสาเหตุที่ต้องย้ายหลานมาอยู่ในแคมป์คนงานแห่งนี้

    นายศักดิ์ เปิดฉากเล่าว่า ตนนั้นมีศักดิ์เป็นปู่ของน้องเจมส์ (นามสมมุติ) สาเหตุที่ต้องย้ายหลานมาอยู่ในแคมป์คนงาน เนื่องจากคุณพ่อของเจมส์อาศัยอยู่จังหวัดนครราชสีมากับแม่เลี้ยง จึงตัดสินใจให้หลานมาพักอยู่กับตน เพื่อตัดปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา ในตอนแรกน้องเจมส์เรียนชั้นอนุบาล 2 ที่พัทยา จ.ชลบุรี และช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 ย้ายไป จ.หนองคาย เพื่อกลับมาเรียนที่บ้านเกิด ล่าสุดย้ายมาเรียนที่จังหวัดมหาสารคาม ในช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ทั้งนี้หลานจะต้องย้ายไปตามที่ทำงานของตนเสมอ

    น้องเจมส์ เด็กชายวัย 11 ปี ผิวสีแทน นัยน์ตามีความซุกซนซ่อนอยู่ตามประสาเด็ก กำลังจดจ่อตั้งใจฟังบรรดาผู้ใหญ่สนทนากัน เนื่องจากตนนั้นเป็นเด็กเพียงคนเดียวในแคมป์คนงาน สองแก้มเต็มไปด้วยต้มไก่รสแซบ แต่ไม่ลืมที่จะขยับปากเล่าถึงความรู้สึกที่ได้มาพักอาศัยอยู่กับปู่ให้เราฟังอย่างผ่อนคลาย

    “การที่ย้ายโรงเรียนบ่อย ทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน และค่อนข้างปรับตัวเข้ากับเพื่อนยากพอสมควร เข้ากับเพื่อนไม่ได้ เมื่อกลับมาที่พักก็ไม่มีเพื่อน เพราะเป็นเด็กคนเดียว ส่วนใหญ่มีแต่ผู้ใหญ่ ความเป็นอยู่ของที่นี่รู้สึกว่าไม่ลำบาก เพราะอยู่แบบนี้ตั้งแต่ยังเด็ก แต่อยากได้อุปกรณ์การเรียน การกีฬาต่างๆ เช่น เครื่องเขียน กระเป๋านักเรียน ลูกฟุตบอล ตระกร้อ ” น้องเจมส์เล่า

    ในส่วนของคุณย่าของเจมส์ได้เล่าถึงความเป็นห่วงอนาคตของหลานอย่างมาก เพราะการที่เด็กต้องย้ายตามที่ทำงานของปู่บ่อย ทำให้หลานเรียนไม่ทัน ปรับตัวเข้ากับเพื่อนยาก ในกรณีที่เด็กไม่เข้าใจในบทเรียน อยากฝากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องการเรียนของเด็ก เพราะกลัวว่าเมื่อเรียนไม่ทันเพื่อน เด็กจะมีความรู้สึกไม่อยากไปเรียน

     

    IMG_0905

    บ้านของผมเคลื่อนที่ได้

    ในเวลาย่ำค่ำ เรามีโอกาสได้เดินทางไปยังแคมป์คนงานก่อสร้างอีกแห่งหนึ่ง แผ่นสังกะสีถูกนำมาต่อกันเป็นเพิง ซึ่งสร้างอยู่ท่ามกลางเขตก่อสร้าง ภายนอกเต็มไปด้วยขยะที่หมักหมมเป็นเวลานาน เห็นเพียงแสงจากไฟนีออนที่เล็ดลอดผ่านช่องประตู ภายในมีเบาะนอนสำหรับอยู่ชั่วคราว พื้นที่ไม่กี่ตารางวา สามารถใช้เป็นแหล่งพักพิงแก่ครอบครัวของเด็กชายเก่ง (นามสมมุติ) วัย 13 ปี สัญชาติกัมพูชา ร่างผอมบาง ผิวคล้ำ ดวงตากลมโตถูกปกคลุมด้วยขนตาอันเรียวหนา เก่งได้บอกเล่าถึงอดีตก่อนที่ตนจะเข้ามาอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม

    “ผมเกิดที่ประเทศกัมพูชา แต่มาโตที่ประเทศไทย จำความได้เข้ามาตั้งแต่อายุ 2 ขวบ เริ่มต้นอาศัยที่พัทยา จ.ชลบุรี จะต้องย้ายไปตามไซต์งานก่อสร้างที่พ่อแม่ทำเสมอ ในช่วงแรกไม่ได้เรียนหนังสือ ต่อมาเมื่อย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงมีโอกาสได้เรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 ในย่านสายไหม กรุงเทพฯ แต่ว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ไม่ได้เรียน จึงได้มาเริ่มเรียนอีกทีในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่จังหวัดมหาสารคาม” เก่งบอกเล่าด้วยสีหน้าเฉยชาไม่บอกความรู้สึกใดๆ

    เก่ง เล่าต่ออีกว่า ตนมีโอกาสได้เรียนหนังสือ เพราะมีพ่อเป็นคนไทย แม่เป็นชาวกัมพูชา พ่อเป็นผู้จัดการเรื่องการเรียน ทั้งนี้ตนมีบัตรที่คล้ายกับบัตรประชาชน ซึ่งในทางกฏหมายเป็นเรื่องของคนถือบัตรเลข 0 หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “บัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน” แต่บัตรสามารถใช้ในงานด้านเอกสารทางการเรียน หรือเอกสารหนังสือได้ตามปกติ รวมทั้งสิทธิต่างๆ ก็ได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยความที่ตนอยู่ประเทศไทยตั้งแต่เด็ก จึงค่อนข้างพูดภาษาไทยคล่องแคล่วกว่าภาษากัมพูชา ในส่วนของที่พักอาศัย ตนพอใจ เพราะที่นี่ถือว่าดีกว่าแคมป์คนงานที่ตนเคยอยู่มา ทั้งนี้อีกไม่กี่เดือนตนก็ต้องย้ายออกตามพ่อแม่ไปไซต์งานก่อสร้างที่จังหวัดอื่นต่อไป

    นายปาน (นามสมมุติ) ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้าง กล่าวถึงความเป็นอยู่ที่จัดให้แก่คนงานว่า “ที่พักค่อนข้างใกล้เขตก่อสร้าง แต่ยังคงไม่มีการจัดพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็ก และส่วนตัวคิดว่าสามารถดูแลจัดการกันเองได้ หากเด็กเข้ามาในเขตก่อสร้าง อาจมีการกล่าวตักเตือนตามระเบียบ พยายามดูแลทุกส่วนอยู่เสมอ”

    IMG_0877

    หนูมีไซต์งานเป็นที่ซ่อนแอบ

    ไซต์งานก่อสร้างอีกแห่งหนึ่ง หากไม่กล่าวถึงคงจะไม่ได้ เพราะมีเด็กอาศัยอยู่จำนวนมาก สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าคือ เด็กน้อยหน้าตาบ้องแบ๊ว อายุราว 5 ขวบ นั่งเล่นอยู่ภายในไซต์งานก่อสร้าง ในส่วนของที่พัก ใช้ไม้อัดตอกตะปูสลับกับเศษไม้ เครื่องใช้และรองเท้าเด็กหลายคู่ถูกวางอย่างไม่ตั้งใจ ด้านหลังมีคูคลองส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง เต็มไปด้วยเศษอาหารที่ยังไม่ผ่านการจัดการใดๆ ครั้นเมื่อถามไปยังผู้รับเหมากลับรีบปฏิเสธว่าในไซต์งานของตนไม่มีเด็กอาศัยอยู่

    ผศ.วรพจน์ พรหมสัตยพรต รองคณบดีฝ่ายพัฒนายุทธศาสตร์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า เด็กจำเป็นต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย จึงจะสามารถเรียนรู้และเติบโตได้อย่างเหมาะสม โดยส่วนใหญ่ผู้ปกครองเด็กจะไม่มีเวลาเอาลูกไปฝากกับศูนย์เด็กเล็ก เด็กจึงจำเป็นต้องอาศัยอยู่ภายในแคมป์คนงานระหว่างรอพ่อแม่เลิกงาน เพราะฉะนั้นโอกาสที่เด็กจะมีพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์ สุขภาพ ถือว่ายาก เพียงได้ทานข้าวครบ 3 มื้อ ก็ถือว่าดีแล้ว ส่งผลให้พัฒนาการจะด้อยกว่าเด็กทั่วไป

    ผศ.วรพจน์ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของความจำเป็นที่เด็กควรจะได้รับ คือ การฉีดวัคซีน เพราะ วัคซีนจะช่วยในเรื่องของภูมิคุ้มกันโรคให้แก่เด็กตั้งแต่กำเนิด หากรับวัคซีนไม่ครบมีโอกาสที่จะไปติดโรคติดต่ออื่นๆ ซึ่งเด็กไทย 100% จะได้รับวัคซีนครบเพราะผู้ปกครองจะต้องพาไปฉีด สำหรับแรงงานต่างชาติโอกาสที่จะไปน้อยมาก เพราะเขาอาจจะไม่มีความรู้ในส่วนนี้ พ่อแม่ส่วนใหญ่จะไม่ใส่ใจในเรื่องนี้ เพราะเวลาส่วนใหญ่คือการทำงานโรคส่วนใหญ่ที่อาจเกิดกับเด็กมักจะเป็นโรคมือเท้าปาก โดยในส่วนของสุขภาวะที่ไม่ดี สกปรก โอกาสที่จะเกิดสูงขึ้น ตามด้วยโรคผิวหนัง เพราะรอบแคมป์คนงาน ถือเป็นแหล่งเพาะเชื้ออย่างหนึ่ง ทั้งนี้จะมีโรคที่เกิดจากการไม่ได้รับวัคซีน เช่น โรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน แต่โอกาสเกิดน้อย หากเกิดขึ้นมาแล้วก็จะกระจายไปหมด และอีกอย่างหนึ่งคือโรคขาดสารอาหาร

    “กรณีที่เด็กไม่มีเพื่อน อาจส่งผลต่อเด็กในหลายๆ ด้าน เด็กเคยอยู่อย่างไรก็จะอยู่อย่างนั้น เพราะไม่มีโอกาสเรียนรู้การอยู่กับเพื่อน เมื่อออกมาอยู่คนเดียว อาจเกิดอาการซึมเศร้า ในส่วนที่เด็กเข้าสังคมยาก เข้ากับเพื่อนไม่ได้ หรือเข้ากันยาก ต้องใช้เวลา เพราะว่าเขาเพิ่งเจอกัน การที่เราจะมีเพื่อนสนิทเปิดใจคุยกันทุกเรื่องได้ ต้องใช้เวลาต้องให้สนิทใจ เด็กจะไม่มี

    เพื่อนก็ขึ้นอยู่กับว่าเด็กเหล่านี้ถูกสอนยังไง แต่ในส่วนนี้ผู้ปกครองก็เข้าใจเด็กด้วยแบบนี้เด็กจะแข็งแกร่ง สามารถช่วยเหลือตัวเองเป็นแล้ว ก็จะเก่งกว่าเด็กที่อยู่กับพ่อแม่แต่ทำอะไรไม่เป็นเลย แต่ในที่นี้ หากถามว่า แรงงานก่อสร้างมีศักยภาพพอที่จะสั่งสอนลูกเขาไหม สุดท้ายมันก็กลายเป็นว่า ถ้าเด็กไม่ได้รับการเลี้ยงดู ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่ที่ดีพอโตขึ้นมาเด็กก็อาจจะไปทำอะไรที่ผิดก็ได้ เพราะว่าเด็กเหล่านี้ไม่มีอะไรที่จะเสียแล้ว มันก็มีหลายรูปแบบมาก” ผศ.วรพจน์ กล่าวทิ้งทาย

    กฎหมายคุ้มครองเด็ก

    ดร.วนิดา พรมหล้า อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยหรือเด็กต่างด้าวที่มากับพ่อแม่ กรณีที่พ่อแม่พาเข้ามาทำงานก่อสร้างในเขตก่อสร้าง คือไม่ได้มีการแยกแยะกันอย่างชัดเจน ในประเด็นสิทธิเด็กว่าเราจะคุ้มครองเด็กไทยหรือเด็กต่างชาติมากกว่า หากเป็นเด็กเราก็จะให้ความสำคัญเท่าเทียมกันหมด เพราะว่าประเทศไทยได้ให้สัญญาและให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นผลที่ว่าเราจะต้องมีอนุมัติกฎหมายภายในประเทศขึ้นมา เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลง ให้คำสัญญาตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พ.ศ. 2532 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ในกรณีที่เด็กอาศัยอยู่ในเขตก่อสร้างสถานที่ทำงานของพ่อแม่ การจะคุ้มครองเด็กต้องเจาะจงทำให้พ่อแม่ของเด็ก พึงระลึกอยู่เสมอว่าการที่จะเอาเด็กมาอยู่กับตัวเอง สถานที่ก่อสร้างซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ที่อันตราย ไม่ดีต่อสวัสดิภาพของเด็ก ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

    “ขึ้นอยู่กับผู้รับเหมาว่าจะดูแลหรือไม่ดูแลเด็ก ขณะนี้มีการควบคุมดูแลผู้รับเหมาว่าเขาต้องดูแลให้ความสำคัญกับที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก หรือมีการจัดพื้นที่ให้เด็ก กรณีตัวอย่างเช่น ต่างประเทศ อย่างอเมริกา ออสเตรเรีย จะมีเซฟตี้โซน ( Safety Zone พื้นที่ปลอดภัย ) สำหรับเด็กโดยเฉพาะ เช่น กำหนดบอกว่าบริเวณนี้ เฉพาะสำหรับเด็ก ถือว่าเป็นเซฟตี้โซน คือ ไม่ให้เด็กเข้าไป เพราะว่าอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ หรือนักโทษที่เคยติดคุกมา ก็ห้ามไม่ให้เข้ามาใกล้ในระยะ 5 กิโลเมตร หรือ 10 กิโลเมตร ซึ่งในกรณีของประเทศไทยเรายังไม่ถึงขนาดนั้น ในเรื่องของเซฟตี้โซน แต่หากพูดถึงเรื่องของการก่อสร้างมันจะมีมาตรฐานด้านความปลอดภัย ส่วนอันนี้จะเป็นกฎหมายในส่วนของสิทธิด้านแรงงาน คือจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเด็กมากที่สุด” ดร.วนิดากล่าว

    ดร.วนิดา กล่าวต่อว่า ลักษณะของกฎหมายแรงงานคือผู้รับเหมาก่อสร้าง จะต้องเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัย ซึ่งในกฎหมายจะมีข้อกำหนด เป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาโดยตรง ว่าจะต้องจัดเตรียมสถานที่ หรือที่ก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นไซต์งานใดก็ตาม จะต้องมีมาตรการสร้างความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุในสถานที่ทำงาน เพราะฉะนั้น หากใช้ผลประโยชน์จากกฏหมายแรงงาน โดยปกติสถานที่ก่อสร้าง คือไม่เหมาะสมที่เด็กจะเข้าไปในสถานที่แบบนั้น เนื่องจากจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

    “โดยมุมมองส่วนตัวแล้ว คิดว่าทางออกของปัญหาในอนาคตทางที่ดีที่สุด คือควรจะให้พ่อแม่ ผู้รับเหมา ผู้ประกอบการตระหนักถึงความปลอดภัยและผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก เพราะประเทศไทยก็ยังมีช่องโหว่ในเรื่องกฏหมายอีกมาก ที่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถควบคุมหรือคุ้มครองเด็กได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่

    ประเทศไทยควรจะแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง และให้ความสำคัญในการคุ้มครองเด็ก ยกตัวอย่างเช่น ออสเตรีย เขาจะมีกฎหมายห้ามไม่ให้พ่อแม่ตีลูก ห้ามให้เด็กทำงาน แม้ว่าประเทศไทยจะเห็นว่าการใช้แรงงานเด็กเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่การบังคับใช้กฏหมายก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่ อีกอย่างคือด้านกฎหมายของเรายังไม่เด็ดขาดพอในเรื่องของการบังคับใช้ ” ดร.วนิดา กล่าวทิ้งท้าย

     

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ