More
    Saturday, February 26, 2022

    Cyberbullying เครื่องมือรังแกกันของเด็กยุคไซเบอร์

    -

    การรังแกกันบนโลกไซเบอร์ หรือ ไซเบอร์บลูลี่อิ้ง (Cyberbullying) เป็นการข่มขู่ คุกคามที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากผลงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พบ เด็กไทยกว่า 45 % เคยถูกรังแกผ่านโลกไซเบอร์ อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งมากกว่า ญี่ปุ่นหรือ อเมริกาถึง 4 เท่า นักวิชาการสารสนเทศศาสตร์ ชี้ สังคมไทยต้องให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงจะแก้ปัญหาการรังแกกันบนโลกไซเบอร์ได้ ด้านจิตแพทย์เผย หากเด็กไม่ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธีอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวลได้

    อาจารย์ ดร.สมนึก พ่วงพรพิทักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้กล่าวถึงการรังแกกันบนโลกไซเบอร์ว่า การข่มขู่ คุกคาม (Bully) ถ้าเป็นการกระทำต่อกันซึ่งหน้าของผู้ใหญ่ จะกลายเป็นการหมิ่นประมาทที่เป็นคดีอาญา แต่ถ้าเกิดขึ้นกับเด็กที่เป็นการล้อเลียนลักษณะภายนอกซึ่งคนเราเลือกเกิดไม่ได้ เช่น อ้วน ดำ เตี้ย ขี้เหร่ ก็จะไม่มีบทลงโทษที่เป็นรูปธรรม ซึ่งการล้อเลียนกลั่นแกล้งกันของเด็กไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะเป็นการลดความนับถือตนเอง ของตัวบุคคล (Self-Esteem) ทำให้ผู้ถูกรังแก ข่มขู่ ขาดความศรัทธา ความเชื่อมั่น และความเคารพในตนเองและเกิดเป็นความไม่มั่นใจในตนเองในที่สุด

    อาจารย์สมนึก กล่าวต่อว่า การกลั่นแกล้ง ล้อเลียน (Bully) ยังไม่รุนแรงเท่าการรังแกกันผ่านโลกไซเบอร์ (Cyberbully) เพราะเป็นการใช้พื้นที่ไซเบอร์ทำร้ายกัน เมื่อเด็กกลับมาถึงบ้าน ความรุนแรงเหล่านี้ยังเข้าถึงเด็กได้ การรังแกยังเกิดขึ้นกับเด็กอยู่ตลอดเวลา เด็กจึงไม่ได้รับการเยียวยารักษา หากเด็กที่เป็นเหยื่อมีครอบครัวที่ไม่เข้มแข็ง ผลกระทบที่เกิดกับเด็กจะยิ่งสูงขึ้น เด็กจะสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเองและนำไปสู่โรคซึมเศร้าและอาจร้ายแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย อย่างในสังคมไทย บางครั้งผู้ปกครองและคุณครูมองว่าการล้อเลียนรูปร่าง ลักษณะภายนอกของเด็กนั้นเป็นเรื่องปกติ เล็กน้อย ไม่ได้มองว่านั่นคือปัญหาและให้น้ำหนักความสำคัญ มิหนำซ้ำผู้ใหญ่เองที่เป็นตัวอย่างให้กับเด็ก

    ดังเช่น มีกรณีการรังแกกันบนโลกไซเบอร์เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกากับเด็กหญิงชื่อ เมแกน เทย์เลอร์ ไมเออร์ (Megan Taylor Meier) วัย 13 ปี ที่รัฐมิสซูรี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการถูกรังแกบนโลกไซเบอร์จนเกิดการฆ่าตัวตายและกรณีตัวอย่างนี้ มีความน่าสนใจที่ว่า เมื่อครอบครัวของเด็กหญิงฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฏหมายกับคู่กรณี คู่กรณีกลับเป็นฝ่ายชนะคดี เพราะไม่มีกฎหมายข้อใดที่ระบุความผิดในลักษณะดังกล่าวเอาไว้ ส่งผลให้สังคมเกิดความตระหนักและเกิดการเคลื่อนไหว กลายเป็นมูลนิธิเมแกน ไมเออร์ ที่มีแคมเปญในการรณรงค์

    ผลักดันกฎหมายควบคุมการรังแกกันบนโลกไซเบอร์โดยตรง แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้รับการอนุมัติและยังไม่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน

    “ในสังคมไทยผมมองว่าปัญหานี้แก้ไม่ได้แล้ว แต่เราสามารถเริ่มที่การให้ความสำคัญกับสภาพปัญหานี้ได้ ทุกคนต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นก่อน เพราะความซับซ้อนของปัญหามันเริ่มมาตั้งแต่ เด็ก ผู้ปกครอง เพราะไม่มีใครให้ความสำคัญเลย ผู้ใหญ่เองก็มองว่าเป็นเรื่องเล็กแค่เรื่องเด็กล้อกัน เด็กจึงไม่ได้ถูกสอนให้เกิดความตระหนัก บางครั้งผู้ใหญ่เป็นผู้กระทำเองเสียด้วยซ้ำ” อาจารย์สมนึกกล่าวทิ้งท้าย

    ในประเทศไทยมีการศึกษาการรังแกกันบนโลกไซเบอร์อย่างจริงจังเช่นกัน โดยมีงานวิจัยเรื่อง “ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ในระดับชั้น ม.1-3” ของภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า เด็กไทยกว่า 80% มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในชีวิตจริง โดย 66% ถูกแกล้งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 12% ถูกแกล้งทุกวัน และอีก 45% เคยถูกกลั่นแกล้งผ่านโลกไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งมากกว่า สหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นกว่า 4 เท่า

    ด้านนายบัญญัติ คำประภา คุณครูโรงเรียนสารคามพิทยาคม จ.มหาสารคาม ได้กล่าวถึงกรณีการรังแกกันบนโลกไซเบอร์ภายในโรงเรียนว่า ปัญหาเด็กโพสต์ด่ากัน กระทบกระทั่งกันก็มีบ้าง แต่ไม่รุนแรงและเรื่องไม่ค่อยมาถึงครู มีอยู่ครั้งหนึ่งนักเรียนแชทบอกครูว่า เพื่อนของเขาถูกเพื่อนโพสต์ด่าบนเฟซบุ๊ก ส่งผลให้เด็กคนนั้น มีอาการเงียบซึมไม่ค่อยพูดจา เมื่อทราบเรื่องตนจึงได้เรียกเด็กมาสอบถามถึงสาเหตุ สืบสาวราวเรื่องไปมาพบว่าที่โพสต์ด่าเพื่อน เพราะเคยทะเลาะกัน ไม่ชอบขี้หน้ากัน จึงได้ว่ากล่าวตักเตือนและให้เด็กปรับความเข้าใจกัน ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่ยังไม่รุนแรง ถึงขนาดต้องเชิญผู้ปกครองมาพบ เพราะเมื่อได้รับการไกล่เกลี่ยจากครูและปรับความเข้าใจกันแล้ว เด็กก็สามารถกลับมาพูดคุยกันและใช้ชีวิตในโรงเรียนได้เป็นปกติ

    นายบัญญัติ กล่าวต่ออีกว่า วิธีการเฝ้าระวังคือ ให้เด็กมีความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โพสต์อย่างไรไม่ให้หมิ่นกฎหมาย ต้องใช้ระบบการดูแลนักเรียนเข้ามาช่วย สังเกตพฤติกรรมของเด็ก ว่าโดนเพื่อนกลั่นแกล้ง ล้อเลียน (Bully) หรือไม่ ถ้าผิดปกติต้องให้คำปรึกษา มีการพูดคุยสอบถามเด็ก เพราะถ้าแก้ไขปัญหาไม่ทันอาจส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งในเรื่องสภาพจิตใจและสังคมในโรงเรียน ยิ่งปัจจุบันโซเชียลเน็ตเวิร์คใช้งานง่ายสะดวกสบาย การกลั่นแกล้งด่าทอกันไม่ต้องทำต่อหน้าก็สามารถทำร้ายจิตใจกันได้ ซึ่งปัจจุบันทางโรงเรียนมีการสอน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อให้เด็กตระหนักและระมัดระวังถึงการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คมากขึ้น

    “ครูมองว่าเด็กที่อยู่ในโรงเรียนใหญ่หรือโรงเรียนที่มีระบบการดูแลที่เข้มงวด มีการเรียนการสอน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เด็กจะระมัดระวังในการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ค นอกจากจะกลัวความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้ว เด็กยังอาจกลัวถูกลงโทษหรือการให้ออกจากโรงเรียน ซึ่งครูมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้สื่อโซเชียลของเด็กเกรงว่าจะนำไปใช้ในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ เช่น เล่นเกมส์ที่ไม่สร้างสรรค์ ทางชู้สาว ดูภาพลามกอนาจาร โพสต์หมิ่นประมาทด่าทอกัน ทั้งที่เป็นรูป ข้อความ เสียง การแสดงความคิดเห็นที่ไปกระทบหรือสร้างความเสียหายต่อคนอื่น ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวเขาเองรวมไปถึงอนาคตด้วย” นายบัญญัติ กล่าวทิ้งทาย

    อ.พญ.จริยา จิรานุกูล แพทย์เฉพาะทางจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยว่าการรังแกกันทางโลกออนไลน์นั้น คล้ายกับการทำร้ายกันทั่วไป เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบไปสู่ออนไลน์ ซึ่งผลกระทบมีมากกว่า ทั้งนี้เพราะมีผู้รับรู้มาก ข่าวสารแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว คนที่โดนอาจมีภาวะเครียด ซึ่งความรุนแรงมีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของบุคคล เพราะแต่ละคนมีทักษะการแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน คนที่ไม่มีความเข้มแข็งด้านจิตใจจะซึมซับเอาสิ่งไม่ดีเข้ามาเยอะ รับรู้และฝั่งใจว่าทุกอย่างที่ทุกคนพูดเป็นเรื่องจริง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวลได้ ซึ่งระยะเวลาจะเป็นตัวบ่งบอกโรค ว่าเมื่อไหร่ที่มีอารมณ์เศร้า ท้อแท้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ คิดอยากตาย ติดต่อกันเรื่อย ๆ นานเกินสองอาทิตย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า

    “โรควิตกกังวลจะมีอาการ คิดมาก นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หงุดหงิด สมาธิไม่ดี ส่วนโรคซึมเศร้าจะมีอาการเซื่องซึม หงอยเหงา หมดแรง รู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากไปเรียน รู้สึกตัวเองไม่มีค่า ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้นาน ๆ แล้วไม่ได้รับการช่วยเหลือจะนำไปสู่ความคิดอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งจริง ๆ ในเมืองไทยเริ่มมีการตื่นตัวและพูดถึง Cyberbullying มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี” อ.พญ.จริยา กล่าว

    อ.พญ.จริยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้าสามารถที่จะหายขาดได้ โดยการเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทานยาเพื่อปรับสารเคมีในสมองให้สมดุลและฝึกให้เรียนรู้การแก้ปัญหาที่ถูกต้องว่าเมื่อเจอปัญหาต้องทำอย่างไร หรือบางรายหากอดทนกับภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้าได้ วันหนึ่งเมื่อปัญหานั้นหายไป หรือเกิดการเรียนรู้ที่จะรับมือกับปัญหานั้น เขาก็สามารถที่จะหายเองได้โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา

    “ผู้ที่มีแนวโน้มจะบูลลี่คนอื่น ในทางจิตวิทยาส่วนใหญ่ มักมีพื้นฐานครอบครัวที่ไม่อบอุ่น พ่อแม่อาจจะแสดงการเลี้ยงดูที่เป็นลักษณะใช้ความรุนแรง ข่มขู่ลูก เด็กจะโตขึ้นมาเป็นเด็กที่ก้าวร้าวใส่คนอื่น ถ้าจะควบคุมหรือเอาชนะใครต้องทำลักษณะเช่นนี้ ซึ่งความจริงแล้วเด็กกลุ่มนี้ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเองจึงต้องไปข่มผู้อื่น สังคมอาจมองว่าก้าวร้าว เกเร แต่ในความเป็นจริงแล้วน่าสงสารเพราะเขาไม่รู้ว่าตัวเองมีคุณค่าตรงไหน จึงแสดงออกโดยการการกระทำเช่นนั้น” อ.พญ.จริยา กล่าวทิ้งท้าย

    สุดท้ายแล้วปัญหาการรังแก ล้อเลียนกันของเด็กแม้มีมานานในสังคมไทย   แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคไซเบอร์ที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้การรังแก ล้อเลียนกันของเด็กทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบที่เหนือความคาดหมาย ฉะนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหา โดยเริ่มต้นจากการปรับทัศนคติและค่านิยมของผู้ปกครอง เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นหนทางที่นำไปสู่แนวทางแก้ไขที่ยั่งยืนในอนาคต

    4 ผู้พิทักษ์ช่วยเหลือเด็กจาก Cyberbullying

    1. ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในสังคมทุกภาคส่วน ควรรณรงค์หรือสร้างแคมเปญให้ความรู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง เด็กควรรู้ว่าการบลูลี่คืออะไร และสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งเด็กจะรู้ว่าเขามีทางออกอย่างไร
    2. ผู้ปกครอง เป็นส่วนสำคัญมากเพราะหากทำให้เด็กรู้สึกสนิทใจมีอะไรบอกได้เสมอ เด็กย่อมมีความเชื่อใจและกล้าบอก แต่กรณีที่ไม่สนิทกับครอบครัว ถูกเลี้ยงมาแบบห่างเหิน เด็กจะไม่กล้าบอก ซึ่งเวลาที่เด็กโดนล้อเลียนโดยเฉพาะเรื่องชู้สาว เด็กยิ่งจะไม่กล้าบอก ฉะนั้นความสนิทสนมของครอบครัวจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญ
    3. คุณครู หากครูมีความสัมพันกับเด็กในชั้นเรียน ช่างสังเกต ครูจะเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของเด็ก เช่น เหม่อลอย เริ่มขาดเรียน เดินออกไปข้างนอกบ่อยๆ ซึ่งนั่นเป็นเพราะเด็กไม่อยากอยู่ในบรรยากาศนั้น ไม่อยากรับรู้สายตาที่เพื่อนมอง ซึ่งครูสามารถเอาเด็กมาคุยปรึกษาหาสาเหตุและแก้ไขได้ทัน
    4. เพื่อน เป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยเหลือคนที่โดนรังแกได้ โดยเมื่อเห็นเพื่อนผิดปกติควรให้คำแนะนำและคอยให้กำลังใจ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระดับชั้น เช่น เด็กประถมเพื่อนสนิทอาจไม่เข้าใจกัน บางทีแกล้งตาม ๆ กันไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ระดับมัธยมเพื่อนจะเข้าใจ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทา เยียวยาความเสียหายที่จะตามมาได้

     

     

     

     

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ