More
    Saturday, February 26, 2022

    Kotcher ส่งต่อความคราฟต์จากผ้าไทยทอมือ สู่แฟชั่นสตรีทแวร์สุดชิค

    -

    ผ้าไทยจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ถ้าหากเราได้ทำความรู้จักกับ Kotcher(ก้อชเช่อร์) แบรนด์ผ้าไทยสตรีทแวร์สุดเปรี้ยวซ่า ที่มีความเก๋และเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เพราะความเท่นี้ถูกส่งต่อมาจาก อาย กชกร สาระกุมาร ดีไซเนอร์สาวผู้หลงรักผ้าไทย คลั่งใคล้ในศิลปะ และทุ่มหัวใจให้กับชุมชน

    สั่งสม เรียนรู้ และเติบโต

    ถ้าหากเป็นเมื่อก่อน เราคงมองเห็นผ้าไทยเป็นเรื่องที่ไกลตัว การใส่ผ้าไทยบางครั้งก็ดูจะทางการเกินไป แถมนาน ๆ ครั้งจะได้หยิบออกมาใส่สักที แต่วันนี้การใส่ผ้าไทยจะเป็นแฟชั่นที่สนุกมากขึ้น หลาย ๆ แบรนด์เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ที่ผ้าไทยจะแตกต่าง ก้อชเช่อร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น

    ความเป็นก้อชเช่อร์ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ตั้งแต่อายยังเด็ก เพราะครอบครัวมีความเกี่ยวข้องกับผ้าไทยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร คุณแม่ของเธอเป็นคุณครูสอนนาฏศิลป์ แน่นอนว่าเธอจะคลุกคลีอยู่กับชุดไทยมาอย่างหลากหลาย แถมมีคุณยายที่เป็นช่างทอผ้า และมีคุณน้าที่เป็นช่างเย็บผ้าอีกด้วย 

    “ตั้งแต่เด็ก ๆ เราจะเป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจการเรียนสักเท่าไหร่ (หัวเราะ) เราจะเป็นเด็กที่ชอบวาดรูปของเราไปเรื่อยเปื่อย สิ่งที่เราชอบทำที่สุดคือการวาดรูปคนแล้วก็ใส่เสื้อผ้าให้เขา แล้วตอนเด็ก ๆ ที่เราอยู่บ้านคุณยาย ก็จะมีคุณน้าเราที่เขาเย็บผ้า มันก็จะมีเศษผ้าเหลือ ๆ งานอดิเรกของเราเลยเป็นการตัดชุดแล้วก็ใส่ให้ตุ๊กตาบาร์บี้”

    ครอบครัวของอายถือเป็นแรงบันดาลใจอันดับต้น ๆ ที่คอยผลักดันให้เธอก้าวเข้ามาในเส้นทางแฟชั่น หลังจากเรียนจบทางด้านออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เธอก็กลับมาที่จังหวัดมหาสารคามบ้านเกิด แล้วลงมือปลุกปั้นแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเองครั้งแรก 

    “อย่างที่บอกไปว่าคุณยายเป็นช่างทอผ้า ตอนเด็ก ๆ เราเลยโตมากับผ้าไทย ผ้าไหม ผ้าฝ้าย โตมากับชุดไทยที่คุณแม่เอาไปให้นางรำใส่ เราก็เลยมีความคิดที่ว่าเมื่อเรียนจบมาแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เรียนแฟชั่นมาโดยตรง แต่เรามีความสนใจทางด้านนี้ เราก็เลยศึกษาหาความรู้อยู่เรื่อย ๆ เอาสิ่งที่เราเรียนในเรื่องของการออกแบบมาประยุกต์เข้าด้วยกันกับประสบการณ์จนเกิดเป็นแบรนด์ของเราเอง”

     

    สร้างตัวตน บนความต่าง

    จากการคลุกคลีอยู่กับผ้าไทยมานาน อายมองว่า มีหลาย ๆ แบรนด์ที่ส่งเสริมผ้าไทยในรูปแบบต่าง ๆ แต่เธอยังไม่เห็นผ้าไทยในรูปแบบสตรีทแวร์ เลยถือเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความแตกต่าง ให้ตอบโจทย์กับการหยิบขึ้นมาใส่ แต่ก้อชเช่อร์ก็ยังมีคอนเซปต์ที่ชัดเจน คือ ความแปลกและไม่เหมือนใคร 

    “ด้วยความที่คอนเซปต์เราแปลก  คนที่จะใส่เสื้อผ้าของเราต้องมีความแปลกอยู่ในตัวด้วยนะ จะเป็นคนที่แต่งตัวไม่เหมือนใคร มีความหวานซ่อนเปรี้ยว ถ้าคนจะหยิบเสื้อผ้าของเราขึ้นมาใส่ อาจจะไม่ได้ใส่ง่าย แต่ว่าจะใส่ในโอกาสพิเศษ ๆ หน่อย แต่จุดที่สำคัญที่สุดของก้อชเช่อร์คือ  ใครที่มาซื้อสินค้าเรา ก็จะได้อนุรักษ์ผ้าไทย แล้วก็อุดหนุนชาวบ้านด้วย (ยิ้ม)”

    จากเด็กสาวที่ชอบขีดเขียนเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้เธอก็มีความสุขกับการออกแบบเสื้อผ้าเช่นกัน แต่ทุกอย่างไม่ได้ง่ายไปเสียหมด เธอเล่าว่าในคอลเลคชั่นแรก ขั้นตอนของการทอผ้านั้นใช้เวลาไปกว่า 1 ปี และตัดเย็บอีกหลายเดือนทีเดียว เหตุก็เพราะว่าปกติแล้วชาวบ้านไม่ได้ทอผ้าเป็นอาชีพหลัก แต่เป็นการทำเกษตรกรรม ช่วงเวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับฤดูการทำนา อีกทั้งการหาจุดกึ่งกลางระหว่างแฟชั่นสมัยใหม่ของเธอกับชาวบ้าน ก็เป็นโจทย์ที่อายจะต้องเรียนรู้และหาทางออกไปพร้อมกัน

    “ปัญหามีเยอะมาก ตั้งแต่เราออกแบบลายผ้ามา ชาวบ้านไม่สามารถทอผ้าให้เราได้ เราก็เลยคิดว่าไม่เป็นไร เลยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมกับเรา ให้มาคิดร่วมกันว่าจะให้งานออกมาเป็นยังไง เป็นลายใหม่เลยไหม ปัญหาต่อมาคือเรื่องของเวลา ในปีหนึ่งอาจจะออกผลงานได้มากสุดแค่ 2 คอลเลคชั่น เพราะต้องให้เวลากับชาวบ้านในการทอผ้า”  

    ก้อชเช่อร์เปิดตัวด้วยสตรีทแวร์สีสันจัดจ้าน ที่ไม่ว่าใครเห็นก็ต้องสะดุดตาตั้งแต่ครั้งแรก มองเผิน ๆ คงจะไม่มีใครรู้แน่ว่าเป็นผลงานจากผ้าฝ้ายไทยอีสานทอมือ และถ้าจะให้ลงรายละเอียดมากกว่านั้น ต้องบอกด้วยว่าเป็นฝีมือของกลุ่มชาวบ้านท่าแร่ จังหวัดมหาสารคาม ไม่ใกล้ไม่ไกลแต่เป็นจังหวัดบ้านเกิดของเธอนั่นเอง

    “ตอนแรกเราไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นบ้านท่าแร่ เราไปหลายหมู่บ้านมาก ๆ ที่เขาขึ้นชื่อเรื่องการทอผ้า แต่ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ทั้งกำลังแรงคน หรือว่าการติดธุระต่าง ๆ เรื่อยมา จนมาจบที่หมู่บ้านท่าแร่ ที่เขาพร้อมจะทอให้เรา แล้วก็โชคดีมาก เพราะฝีมือเขาติดดาวโอท็อปของจังหวัดมหาสารคาม”

    “แล้วที่เราเลือกใช้ผ้าฝ้ายก่อน เพราะว่าความเข้าถึงได้ง่าย ใส่ง่ายกว่าผ้าไหม แล้วก็มีคุณสมบัติพิเศษคือ ระบายอากาศได้ดี ไม่ร้อน นุ่มสบาย ไม่ระคายเคืองผิว ส่วนผ้าไหมหรือผ้าชนิดอื่น ในอนาคตเราคิดจะหยิบมาใช้อยู่แล้ว แต่ที่เลือกผ้าฝ้ายก่อนเพราะว่าอยากให้คนเข้าถึงได้ง่าย แล้วก็ราคาไม่สูงจนเกินไป”

     

    สืบ กวัก ค้น ถักทอเป็นความอิ่มใจ

    จากการทำงานร่วมกับชุมชนเป็นเวลานาน ความสัมพันธ์จากผู้ร่วมงานก็พัฒนาแปรเปลี่ยนจนเสมือนเป็นคนในครอบครัว เมื่อก้อชเช่อร์แจ้งเกิดในวงการแฟชั่น ก็สร้างความภูมิใจให้กับสองมือที่ สืบ-กวัก-ค้น เส้นใย จนกลายมาเป็นผืนผ้าสวยงามอย่างที่เห็น

    “เราเอาชุดที่ตัดเสร็จแล้วให้คุณแม่ที่ทำงานให้เราดู คุณแม่เขาดีใจใหญ่เลย แต่สิ่งที่ทำให้เรายิ้มได้มากกว่านั้นคือ พอเราลงคอนเท้นท์ในเฟซบุ๊ก ก็จะมีลูกหลานของคุณแม่ คุณยาย ไปเปิดให้เขาดู ได้เห็นตัวเองในโซเชียลมีเดีย คุณแม่ก็แบบ ดีใจจังเลย เขาก็ภูมิใจ ภูมิใจกับเราด้วย ภูมิใจกับตัวเองด้วย คอลเลคชั่นแรกผลตอบรับดีเลย โดยเฉพาะดีไซน์ที่เป็น leg o’ mutton sleeve (ทรงหมูแฮม) สีเขียวมะนาว ที่เป็นทรงแขนหมูแฮมขายดีหมดเลย  รู้สึกดีใจที่มีคนให้ความสนใจเยอะขนาดนี้ มีหลายคนมาถามสั่งตัดด้วย คอลเลคชั่นหน้าเราคงจะออกแบบให้เป็น Unisex มากขึ้น จะได้รองรับกับความต้องการของลูกค้า”

    เราแอบถามเล่น ๆ ว่า อยากจะลองทอผ้าเองดูไหม แต่เธอตอบด้วยน้ำเสียงจริงจังเลยว่า “เคยอยากลองทอผ้าเอง แต่พอไปดูวิธีการแล้วเนี่ย มันไม่ง่ายเลย เราต้องเรียนอย่างจริงจัง แล้วก็ต้องมีคนสอนเราอย่างจริงจังด้วย เท่าที่เราดูคุณยายทอผ้าแบบผิวเผิน เราก็ยังรู้สึกว่ามันยากอยู่แล้ว แต่การทอผ้าจริง ๆ กว่าจะมากวัก มาสืบ มาค้น แล้วต้องมาต่อทีละเส้น คือต้องมีความอดทนพยายามมาก อยากเรียนนะ แต่ตอนนี้ยังหาคนสอนไม่ได้จริง ๆ”

    ระหว่างที่รอให้เธอได้พัฒนาฝีมือมาเป็นช่างทอด้วยแล้ว ก็ต้องพึ่งประสบการณ์จากช่างทอมืออาชีพไปก่อน อายมีแผนที่จะหมุนเวียนหมู่บ้านไปเรื่อย ๆ  เพื่อกระจายรายได้ไปหลากหลายชุมชนที่ขึ้นชื่อด้านการทอผ้า ไม่กระจุกอยู่แค่หมู่บ้านเดียว

    “ในอนาคตเราวางแผนว่าจะใช้ผ้าไทยจากชุมชนที่เค้ามีผ้าค้างสต็อกอยู่ด้วย อาจจะไม่ได้เป็นการทอขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการหยิบของเก่าขึ้นมาทำใหม่ เพราะบางทีเราจะเห็นแม่ ๆ ขายผ้าตามงานโอท็อปก็ขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เราก็อยากจะนำผ้าตรงนั้นมาประยุกต์เข้ากับงานของเรา ความยากคือสีอาจจะไม่ตรงตามแบบ เราก็ต้องเลือกสีดี ๆ เลือกแบบ เลือกลายดี ๆ เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการทำงานเลย”

    “เราก็ยังสนใจผ้าจากภาคอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ภาคอีสาน ยังมีภาคเหนือ ภาคใต้ ที่น่าสนใจ เราอาจจะหยิบมาใช้ในคอลเลคชั่นพิเศษ ๆ ให้เป็นลิมิเต็ด อิดิชั่น”

    “เราอยากสร้างพื้นที่บ้านให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วย ในเรื่องการทอผ้า” อายบอกกับเราด้วยท่าทางตื่นเต้นและดูมีความสุข 

     

    เชื่อเหลือเกินว่าความคิดนี้คงไม่ยากเกินไปแน่ ถ้าหากเธอคิดจะทำ

    สิ่งที่ก้อชเช่อร์นำเสนอออกมาไม่ใช่แค่เพียงความสวยงามแปลกใหม่ แต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยแพชชั่นในการทำงานร่วมกับชุมชน สร้างความยั่งยืนทางอาชีพ และสืบสานเทคนิคการทอผ้าให้คงอยู่ ในอนาคตเราคงจะได้เห็นก้อชเช่อร์เติบโต และโลดแล่นในสายแฟชั่นสตรีทแวร์อย่างมั่นคงแน่นอน

     

    เรื่องและภาพ : ปัณณราศรี พจน์ไตรทิพย์

    ขอบคุณภาพจาก Kotcher , เพ็ญประภา ศรีเสน่ห์

    Facebook : Kotcher แฟชั่นผ้าไทยอีสานทอมือ

    Instagram : kotcher.official

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ