More
    Saturday, February 26, 2022

    เช้าเมืองน่าน กับบทสนทนาความทรงจำ

    -

    ถ้าถามว่า ‘เช้าที่เมืองน่านไปไหนดี’ คงหลีกหนีไม่พ้นการเดินกาดเช้า ในฐานะที่ฉันเป็นคนต่างถิ่น ฉันจึงได้ติดต่อกับเพื่อนคนหนึ่งที่รู้จักกันเมื่อตอนเข้ากรุงไปฝึกงาน อันที่จริงฉันได้มีโอกาสมาเที่ยวที่จังหวัดน่านแล้วหนึ่งครั้งกับเพื่อนคนนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ย่างกายเข้ามาเที่ยวในอำเภอเมืองจริง ๆ จัง ๆ และด้วยเหตุผลประการใดก็ตามฉันก็ได้กลับมาที่เมืองน่านอีกครั้งแล้ว ไหน ๆ มาทั้งทีก็ให้เจ้าถิ่นเขาพาเดินชมพื้นที่หน่อยละกัน


    ในวันหนึ่งต้นเดือนกุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 05:30 น. ท้องฟ้าที่นี่ยังคงมืด และอากาศก็ค่อนข้างหนาวเล็กน้อย เมื่อมาถึงบริเวณปากทางเข้าตลาดสิ่งที่เห็นคือหนุ่มผมยาว ผิวขาว รูปร่างสูงโปร่งคล้ายผู้หญิง สวมเสื้อแขนยาวลายครามบ่งบอกถึงความเป็นคนในพื้นที่หรือนักท่องเที่ยวแฝงตัวมาก็ไม่เชิง โบกไม้โบกมือให้เป็นสัญญาณว่านี่คนที่เธอนัดไว้อยู่ตรงนี้นะ พร้อมกับอาการหาวนอนที่แทบจะเลื่อนมือมาปิดปากไม่ทัน

    01 :
    ตลาดตั้งจิตนุสรณ์

    หนุ่มเหนือพาฉันเดินไปนั่งซดน้ำเต้าหู้อุ่น ๆ จวนถึงขั้นเรียกว่าร้อนก็ไม่ต่าง จนทำให้ลิ้นของฉันเกือบจะพอง เพื่อแลกเสียงหัวเราะจากเจ้าของร้าน คุณลุง คุณป้าซึ่งนั่งโต้ะข้าง ๆ ร้านโปรดของเขาก่อนจะเริ่มพาเดินสำรวจพื้นที่ และบอกเล่าเรื่องราวตามคำเอ่ยขอจากหญิงสาวต่างถิ่น ผู้มีความใคร่รู้ในต่างแดน

    “ถ้าถามว่าครั้งแรกที่มากาดเช้าเป็นยังไง ก็คงจำไม่ได้เพราะว่าก็เกิดที่นี้อยู่มาตั้งแต่เด็ก เลยไม่รู้ว่าเรามาเมื่อไร ก็คงเด็กอะ เด็กมาก ๆ เลยมั้ง” เขาตอบและเล่าให้ฟังต่อถึงบรรยากาศว่าก็คง… เย็น ๆ ความรู้สึกก็…ง่วง ด้วยความที่มันเป็นกาดเช้า มันวาย(เลิก)ค่อนข้างเร็ว เจ็ดโมงของก็ทยอยออกหมดแล้ว แปดโมงก็แทบจะไม่มีอะไรเลย มันก็เลยเป็นว่าเขาต้องไปเช้า เช้ามาก มันก็จะเนือย ๆ ง่วง ๆ บรรยากาศก็คึกคัก ยังไงก็ยังคึกคักอยู่เหมือนทุกวันนี้เขายืนยันเช่นนั้น


    ตลาดตั้งจิตนุสรณ์ ตั้งอยู่ที่ถนนข้าหลวง ตำบลในเวียง อำเถอเมืองน่าน จังหวัดน่าน สถานที่จำหน่ายอาหารพื้นบ้านของชาวน่าน เป็นตลาดเช้าที่ผู้คนชาวน่านแวะมาจับจ่ายซื้อของ ยามเช้ามีตักบาตรหน้าตลาดแห่งนี้ที่เป็นวิถีชีวิตของคนน่าน ซึ่งตลาดตั้งจิตนุสรณ์ ได้ปรับปรุงพื้นที่ใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2518 สินค้าที่จำหน่าย จะเป็นของสด ของแห้ง อาทิ ผัก ผลไม้ กับข้าว มีร้านอาหาร เช่น โจ๊ก ไข่กะทะ ไส้อั่ว ปาท่องโก๋ กาแฟ

    เขาพาฉันเดินเข้ามาสำรวจตลาด พล่างเท้าความถึงกาดเช้าในสมัยยังเยาว์วัย “ตอนเราเด็ก ๆ ด้วยความที่มันเป็นตลาดสดมาก ๆ เว้ย ของที่มาขายมันต่างจากตลาดเย็น ๆ ที่มีแค่ปลานิลนอนในกะละมังโง่ ๆ หรือสัตว์น้ำที่เป็น ๆอยู่ แต่กาดเช้ามัน full กว่า บางทีเราเห็นปลาที่ตัวใหญ่มากเว้ย แล้วเรารู้สึกตื่นเต้นกับมันมาก ก็ชอบถามแม่ตลอดนะว่า ‘นี่มันปลาอะไร นี่มันอะไร’ มันจะมีของสด ๆ เป็น ๆ อย่างปลาไหล กบ ปลาบึก เราจะชอบรู้สึกตื่นเต้นกับเหล่าตัวประหลาดนั้น”

    ฉันเดินสำรวจเข้ามาในส่วนที่ลึกของตลาด และพยายามมองหาสิ่งที่เขากำลังพูดถึง แต่ก็ไม่เจอ ยังไม่ทันที่ฉันจะได้ตั้งข้อสงสัย เขาก็พูดถึงความเปลี่ยนไปของที่แห่งนี้เขาพูดถึงความเลือนลาง เพราะเหมือนกับว่ายิ่งเขาโต การจะไปตลาดจะไม่เดินเข้าไปลึก ๆ เหมือนตอนเด็ก ๆ ขนาดนั้นแล้ว เขาก็แค่เดินผ่าน ๆ แต่ก็แค่รู้สึกว่ามันมีอะไรเปลี่ยน แต่เหมือนกับว่ามันก็เหมือนจะไม่มีอะไรเปลี่ยนในขณะเดียวกัน คนก็ยังพุพล่านเยอะแยะเหมือนเดิม พ่อค้าแม่ค้าบางคนเขาจำหน้าได้เขาเห็นตั้งแต่เด็ก สิ่งที่เปลี่ยนคือคนเหล่านั้นแก่ขึ้น และของบางอย่างซึ่งมันหายไปแล้ว เขาไม่รู้ว่ามันเป็นปัญหามาจากอะไร การจับปลาไม่ได้ การนำส่ง การนำเข้าต่าง ๆหรืออาชีพของคนแถวนั้นมันเปลี่ยนไป หรือเขาเลือกที่จะไม่จับปลากันแล้ว ในสายตาเขาตอนเด็กมันเป็นอะไรที่ตื่นเต้นมาก แต่ตอนนีี้มันกลับแทบจะไม่ต่างอะไรจากตลาดเย็นอีกเลย

    02 :

    ตลาดธรรมดาที่เป็น Landmark

    “เอกลักษณ์ของมันคือตลาดสดที่แทบไม่ได้แตกต่างจากตลาดสดที่อื่นเลย แต่เขามองว่าสิ่งที่ทำให้มันแตกต่างก็คือคนไปอุปโลกน์ว่ามันคือ ‘แลนด์มาร์ก’แล้วนักท่องเที่ยวต้องมาที่นี่แล้วการซื้อขายของที่นี่ก็เลยมีลูกค้าที่เป็นลูกค้าหลักไม่ใช่คนน่านล้วน ๆ เผลอ ๆ ประมาณสัก 40 เปอร์เซ็นต์ คือนักท่องเที่ยวด้วยซ้ำ” เพื่อนเจ้าถิ่นพูดอย่างรู้สึกสงสัย เขาเองก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาบอกมันก็คงเหมือน ๆ กัน เพราะว่าตลาดในน่านมันก็เป็นอย่างนี้เขาไม่รู้ว่าตลาดที่ต่างจังหวัดหรือที่อื่นมันเป็นอย่างไร แต่ว่าสิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือนักท่องเที่ยวค่อนข้างสนใจที่นี่ เขาเล่าว่านักท่องเที่ยวจะตื่นตอนเช้า ๆ แล้วก็มาที่ตลาด ไม่รู้จะมาช็อปปิ้งทำไม อาหารที่โรงแรมไม่อร่อยเหรอ หรือยังไง

    ฉันฟังแล้วก็คิดตามว่าแต่ก็นั่นแหละ มันคือตลาดธรรมดาที่เป็นแลนด์มาร์กของสถานที่ท่องเที่ยวเอกลักษณ์ของมันก็คือการที่มันเป็นอยู่ของมันแบบนั ้น แบบตลาดธรรมดา ๆ เมนูธรรมดา แต่มันสามารถยกระดับตัวเองจากตลาดทั่วไปเป็นแลนด์มาร์กสถานที่ท่องเที่ยวได้เมืองน่านนี่เจ๋งไม่เบานะ

    เราสองเริ่มเดินกลับออกมาด้านนอกตลาด ในขณะนี้พระอาทิตย์เริ่มสว่างบนท้องฟ้า นักท่องเที่ยวต่างถิ่นพากันออกมาซื้อของใส่บาตรกับพ่อค้าแม่ขายที่ร้านขายชุดอาหารใส่บาตรพร้อมภาชนะสำหรับกรวดนำอเนกประสงค์ซึ่งตั้งรอเหล่านักบุญรวมถึงฉันอีกคน

    03 :
    ดินแดนของนักแสวงบุญ

    ในระหว่างที่เดินจับจ่ายซื้อของฝากอยู่นั้นมีอย่างหนึ่งที่ทำให้สายตาของฉันมักจะสะดุดมองตามอยู่หลายครา ที่นี่มีพระออกมาเดินบิณฑบาตกันเยอะมาก เยอะกว่าตลาดเช้าที่ฉันเคยไปมา ฉันจึงพูดลอย ๆ กับเพื่อนว่า “ที่นี่ เหมือนดินแดนของนักแสวงบุญเลยอะ” และทันใดนั้นเพื่อนเจ้าถิ่นก็เอะใจพูดขึ้นมา “เห้ยหรือนี่จะเป็นเหตุผลที่คนมาที่นี่เพราะมันเป็นแบบนี้ก็ได้ เพราะสิ่งที่เห็นได้ชัดคือพระเยอะมาก มันคือดินแดนแสวงบุญอย่างจริงแท้ มันคือจุดที่ว่า เราตื่นเช้าขึ้นมา เราอยากใส่บาตรพระ 100 รูป ในวันนี้ เราก็สามารถทำมันได้ที่นี่นะ” ฉันพยักหน้ารับพร้อมทั้งกระดิกนิ้วชี้ขึ้นไปทางหน้าเพื่อนอย่างเห็นด้วยอย่างยิ่ง

    บางทีถ้าลองคิดเล่น ๆ ว่าฉันเป็นตากล้องถ่ายภาพสตรีท อย่างการที่ฉันเห็นพระกำลังเดินข้ามถนนแบบนี้แล้วหากฉันแอบเอากล้องไปตั้งที่กลางถนน และรอช่วงเวลาหนึ่งฉันคงได้รูปพระเดินข้ามถนนแบบ The Beatles เป็นแน่ ฉันได้แค่นึกขำในใจ

    น่านเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีวัดหลายแห่งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอำเภอเมือง ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณของตลาดตั้งจิตนุสรณ์นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราเห็นพระออกมาบิณฑบาต ณ สถานที่นี้เป็นจำนวนมากอย่างเช่น วัดภูมินทร์ วัดกู่คำ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดหัวเวียงใต้ วัดหัวข่วง เป็นต้น ซึ่งในตำบลในเวียงนี่มีวัดอยู่ประมาณ 20 แห่งเลยก็ว่าได้

    04 :
    สถานที่แห่งความทรงจำ

    มันอาจจะมีของบางอย่างที่เปลี่ยนไปบ้างแล้วอย่างที่เพื่อนบอก เขาอาจจะหามันไม่ได้แล้ว หรือไม่มีคนเลือกที่จะทำแล้ว แต่มันก็ไม่ใช่ Point หลัก เพราะว่าร้าน พ่อค้าแม่ค้าเจ้าเดิม อะไรเดิม ๆ เขาคุ้นหน้าไปหมดแล้ว สิ่งที่เป็นเสน่ห์คือ การคงอยู่ของมัน ซึ่งเขาบอกว่าจะใช้คำว่าการคงอยู่อย่างนิรันดร์ไม่ได้ แต่มันคือการคงอยู่… แบบนั้น มันเป็นของมันแบบนั้น ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ เขาได้บอกเล่าว่าแม้ไม่รู้อนาคตมันจะเปลี่ยนไปหรือเปล่า แต่ตอนนั้มันยังเหมือนเดิม ซึ่งบางทีแล้วนอกจากการที่มันยังคงเหมือนเดิมไปหมด ถ้าให้เขารู้สึกอีกอย่างหนึ่ง เขาอาจจะมองว่ามันเป็นผู้คน บรรยากาศของคนที่เดินตลาด อัธยาศัยที่คนพื้นที่มอง และบอกกับนักท่องเที่ยวที่เดินที่กำลังคุยกับแม่ค้า หรือความทรงจำเดิม ๆ ที่เขารู้สึกว่าตอนเด็กภาพมันเป็นอย่างไร ณ ปัจจุบันภาพมันก็ยังเหมือนเดิม

    เสน่ห์ของมันสำหรับคนพื้นที่ ในฐานะของคนที่เกิดและโตที่นี่เขามองว่าเสน่ห์ของมันคือความทรงจำของเขา ความทรงจำที่เขาำไม่ชอบ การไม่ชอบที่ต้องตื่นเช้ามาก ๆ ทั้งที่ยังง่วงมาเดินตลาด แต่ในความที่ไม่ชอบนั้นมันก็ยังมีสิ่งที่เขาชอบ แล้วเขาตื่นเต้นตลอดเวลาที่มา คือการที่ได้มาเปิดหูเปิดตา ประโยคที่ว่า “แม่นั่นปลาอะไร ทำไมตัวใหญ่จัง” ความทรงจำที่ว่าเขาไม่ได้เดินตลาดกับแม่มานานแค่ไหนแล้ว เขาไม่เคยว่างมาเดินกับแม่เลย เขาใส่บาตรครั้งสุดท้ายกับแม่เมื่อไร ร้านนำช้ำเต้าหู้ที่เปิดตั้งแต่ตีสองยังอร่อยเหมือนเดิมไหม หรือว่าร้านขายปลาที่มันหายไป สถานที่ที่มันอยู่กับเขามาตั้งแต่เขายังไม่เกิด สถานที่ที่เขาจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเขามาในที่แห่งนี้คือเมื่อไรช่วงเวลาที่มันผ่านมา ที่มันแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย และทุก ๆ ครั้งที่ไปมันยิ่งทำให้เขานึกถึงช่วงเวลาเก่า ๆ และคิดถึงมันเสมอ

    “แล้วในฐานะคนนอกพื้นที่อย่างเธอ เธอคิดว่าเสน่ห์ของที่นี่มันคืออะไร” นั่นเป็นประโยคที่เพื่อนเจ้าถิ่นได้เอ่ยถามฉันก่อนที่เราจะแยกย้ายกันกลับจากกาดเช้าแห่งนี้… ฉันคงตอบได้ไม่เต็มร้อยนัก แต่หากฉันจะบอกเล่าถึงเสน่ห์ของที่แห่งนี้ผ่านทางบทสนทนาที่เต็มไปด้วยความรู้สึกขอบคุณ ยินดีสดใส สุขชื่นใจที่ได้มา ฉันคงบอกว่ามันก็เป็นหนึ่งสถานที่แห่งความทรงจำของฉันเช่นกัน ถ้าจะให้จำกัดความรวม ๆ ว่าเสน่ห์ของที่นี้คืออะไรพวกคุณคงต้องลองมาเยี่ยมเยือนสัมผัสมันดูเองสักหนแล้วแหละ

    สารคดีและภาพถ่าย : อาริยา วงศ์พิพันธ์

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ