อันตรายที่มาจากการบริโภคพืชผักในชีวิตประจำวัน แน่ใจได้อย่างไรว่าผักที่เราบริโภคในทุกวันปลอดภัยและไร้สารพิษตกค้าง ในปัจจุบันกระแสนิยมในเรื่องของการดูแลสุภาพกำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ผักผลไม้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญของผู้รักษาสุขภาพ เนื่องจากผักและผลไม้มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีสารอาหารสำคัญเช่น วิตามิน แคลเซียม เหล็ก เกลือแร่หรืออื่นๆ รวมถึงเส้นใยของผักผลไม้ยังช่วยทำให้ระบบการขับถ่ายของร่างกายเป็นปกติอีกด้วย ด้วยสรรพคุณที่มากมายและง่ายต่อการบริโภค ทำให้มีคนจำนวนมากนิยมหันมารับประทานผักผลไม้เพราะต้องการดูแลสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าผักผลไม้เหล่านี้จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงแต่สิ่งที่มาพร้อมกันนั้นคือสารพิษที่อาจจะตกค้างจากการเพาะปลูกรวมอยู่ด้วย
ผลสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) เปิดเผยรายงานผลการตรวจวิเคราะห์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ประจำปี 2562 พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 41 เปอร์เซ็นต์ ผลตรวจสอบดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงภัยสุขภาพที่ผู้บริโภคจะได้รับจากกระบวนการผลิตอาหารที่ไม่ปลอดภัย โดยผักที่พบว่ามีสารพิษตกค้างมากที่สุดในปี 2562 คือกวางตุ้งพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน 10 ตัวอย่าง รองลงมาคือคะน้า กะเพรา ผักชี พริก กะหล่ำดอก ผักชี โดยพบ 9, 8, 7, 7, 7 ตัวอย่างจาก 12 ตัวอย่างตามลำดับ
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างมากที่สุดคือ สารฆ่าเชื้อรา คาร์เบนดาซิม (carbendazim)
ซึ่งไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในสหรัฐอเมริกานานกว่าทศวรรษ เพราะมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ แต่กลับพบการตกค้างในผักและผลไม้ถึง 57 ตัวอย่าง รองลงมาคือไซเปอร์เมทริน อิมิดาคลอร์ฟริด เอซอกซิสโตรบิน และคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการสมองของเด็ก พบ 54, 41, 39 และ 38 ตัวอย่างตามลำดับ นอกเหนือจากนี้ยังพบสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว เช่น เมทามิโดฟอส ถึง 8 ตัวอย่าง พบสารพิษที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน เช่น คาร์โบฟูราน 9 ตัวอย่าง เมโทมิล 10 ตัวอย่าง และสารซึ่งไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อ
วัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 มากถึง 9 ชนิด เช่นBoscalid,Ethirimol,Fenhexamid, Fluxapyroxad,Isopyrazam,Metrafenone,Proquinazid,Pyrimethanil,Quinoxyfen ซึ่งสาร 3 กลุ่มนี้ทั้งหมดล้วนผิดกฎหมายและเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ปล่อยให้มีการใช้และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ที่ปล่อยให้มีการตกค้าง
นางสาวมาลี สุปันตีหรือคุณเปี้ยว สมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานบ้านสวนซุมแซง ได้กล่าวว่าการที่เกษตรกรยังคงมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกอยู่นั้นมีหลายปัจจัยทั้งในเรื่องของงบประมาณและเวลา ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมี มีบางคนที่ใช้สารเคมีแล้วเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ มือสั่น ใจสั่น หน้ามืด ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปไม่นานอาการเหล่านี้ก็จะหายไป ทำให้เกษตรกรหลายคนไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมาคือปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม แต่ที่มากกว่านั้นก็คือผลการตรวจเลือด หมู่บ้านที่ใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม ผลการตรวจเลือดข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ที่จะมีระดับ ปกติ ปลอดภัย เสี่ยง ผลปรากฏว่าเลือดเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่เสี่ยงจนถึงขั้นที่เป็นอันตราย
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเครือข่ายบ้าสวนซุมแซงให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “บางคนถูกตัดนิ้ว เพราะไปรับจ้างล้างผัก ปรากฏว่าโดนบาด แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากแล้วก็ทำงานต่อ ปรากฏว่าตกเย็นแผลมีอาการบวมแดง เริ่มผิดปกติ ไปหาหมอก็เหมือนจะหายแต่ก็กลับมาเป็นอาการเดิมอีก สุดท้ายต้องตัดนิ้วทิ้งเพราะมันเอาไม่อยู่ หรือในอีกกรณีที่มีการใช้สารเคมีในปริมาณที่มากเกินไปก็ทำให้เป็นโรคหนังเน่า หรือบางคนที่เป็นโรคประจำตัวเช่นเบาหวานหากบาดแผลได้รับสารเคมีเข้าไปก็ทำให้อาการร้ายแรงจนถึงขั้นตัดขาทิ้งเลยก็มี”
ในส่วนของผู้บริโภคที่ต้องการตรวจสอบสารพิษตกค้างด้วยตัวเอง สามารถตรวจสอบได้จากชุดทดสอบอาหาร (test kit) แต่เครื่องมือเหล่านี้ก็ไม่สามารถระบุได้ว่ามีสารเคมีอะไรบ้าง บอกได้เพียงว่ามีปริมาณสารพิษมากหรือน้อยเท่านั้น หากผู้บริโภคต้องการความปลอดภัยในการรับประทานผักผลไม้ การป้องกันในเบื้องต้นคือ การล้าง ปอกเปลือกผักผลไม้ก่อนบริโภคหรือเลือกบริโภคผักผลไม้ตามฤดูกาล
อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.thaipan.org/