More
    Wednesday, March 9, 2022

    นักวิชาการชี้ปอบคือความเชื่อที่มาควบคุมคนในสังคม

    -

    ผู้ที่เคยถูกผีปอบเข้าสิงเผยมีอาการปวดหัว กรีดร้อง อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ชาวบ้านผู้เห็นเห็นการณ์เชื่อผีปอบมีจริง นักวิชาการด้านศิลปะฯ ชี้ปอบคือความเชื่อที่มาควบคุมคนในสังคมให้อยู่ในกฎระเบียบ หากกระทำผิดกฎคนผู้นั้นต้องกลายเป็นปอบ ส่วนอาจารย์มนุษย์ฯย้ำเป็นระบบคิดภูมิปัญญาของชาวบ้านให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ

    กรณีข่าวความเชื่อเรื่องปอบเข้าสิงชาวบ้านในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนกลายเป็นข้อถกเถียงมาโดยตลอดว่าจริงหรือไม่  ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่พบผู้ที่เคยถูกกล่าวหาว่าถูกปอบเข้าสิง นางคำพอง แสงวาโท อายุ 65  ปี ชาวบ้านท่อนน้อย ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ผู้ที่เคยถูกปอบเข้า เผยว่า เมื่อปี 2555 ตนถูกผีปอบเข้าสิงร่าง โดยมีลักษณะอาการคือปวดหัวมาก ตาเหลือง กรีดร้องกระวนกระวายอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ส่ายหัวไปมา ตัวเย็นหน้ามืดไม่รู้จักใครพูดออกมาเหมือนไม่ใช่เสียงเรา แต่ไม่ได้กินของดิบตามที่เราเห็นในหนังหรือละครจะกินข้าวได้ตามปกติ เป็นลักษณะนี้ได้ 1-2 วัน เมื่อผ่านไปสักพักตนไอจามออกมาเป็นเลือด จากนั้นตนได้ไปหาหมอที่โรงพยาบาลแต่ไม่พบโรคอะไร สันนิฐานว่าอาจเกิดจากอาการกรีดร้องมากจนเกินไปทำให้เส้นเสียงอักเสบได้

    นางคำพอง เปิดเผยต่ออีกว่า การรักษาอาการผีปอบเข้า ชาวบ้านจะรักษาโดยหมอธรรม เช่น ไปอาบน้ำมนต์ หรือเชิญหมอธรรมมาทำพิธีในหมู่บ้าน ซึ่งตนนั้นได้ทำพิธีไล่ปอบในหมู่บ้าน โดยคนในชุมชนนำหมอธรรมมาทำพิธีอยู่บริเวณศาลากลางบ้าน ต่อจากนั้น ชาวบ้านจะช่วยกันขุดหลุมเพื่อทำเป็นหลุมศพจริงแล้วนำร่างของตนที่เชื่อว่ามีผีปอบเข้าสิงในร่างมาทำพิธีที่หน้าหลุมศพ ในพิธีกรรมมีขั้นตอนคือ นำว่านไฟมาตีให้ปอบออก นำเอาน้ำปัสสาวะของหมอธรรมมาให้คนที่ปอบเข้ากิน ให้นอนเหมือนคนเสียชีวิตมีฝ้ายมาผูกแขนผูกมือและผูกขาไว้ เอามีดมาสะกดจิตแล้วสักลงกลางหัว จากนั้นนำไข่มาวางไว้บนหัว แล้วให้ชาวบ้านแต่ละหลังนำดอกไม้ (ขันธ์ 5) มาทิ้งไว้ในหลุมที่ฝั่ง โดยเมื่อทิ้งแล้วห้ามยุ่งกับหลุมฝังนี้ ไม่เช่นนั้นคนที่โดนปอบเข้าจะไม่หายกลับมาเป็นปกติ ในตอนนั้นมีชาวบ้านมามุงดูการทำพิธีจำนวนมาก เมื่อตนทำพิธีเสร็จแล้วรู้สึกโล่ง จากที่เคยเหนื่อยง่ายกระวนกระวายปวดหัวอย่างรุนแรง อาการต่างๆ เหล่านั้นก็หายและดีขึ้นเสมือนเป็นคนละคน ซึ่งปัจจุบันตนก็ได้หันมาปฏิบัติธรรมมากขึ้น เพื่อป้องกันภัยอันตรายทางไสยศาสตร์และให้จิตใจสงบมากขึ้น

    ขณะที่ แม่สี หาปันนะ ชาวบ้านท่อนน้อย ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ผู้เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า ชาวบ้านก็กลัวแตยังใช้ชีวิตกันปกติ ผู้ที่ปอบเข้าสิงร่างจะมีอาการปวดหัว กระวนกระวาย กรีดร้อง พูดเหมือนไม่ใช่ภาษาคน ชาวบ้านรู้เลยว่าเป็นอาการผีปอบเข้าสิงร่าง เพราะสมัยก่อนคนแก่ในหมู่บ้านจะมีลักษณะอาการดังกล่าวบ่อย ดังนั้นชาวบ้านจึงรู้เลยว่าผีปอบเข้า โดยช่วงปี 2555 ขณะที่มีแม่คำพองถูกผีปอบเข้าสิงร่าง โดยจะสิงร่างหรือเข้าร่างของคนที่มีจิตใจอ่อนแอหรือธาตุอ่อน เป็นคนอ่อนแอง่าย เห็นอะไรก็กลัว ส่วนพิธีกรรมนั้นชาวบ้านได้รวมเงินกันครอบครัวละ 100 บาท เพื่อจ้างหมอธรรมมาจากอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นรวมแล้วประมาณหนึ่งหมื่นบาทเพื่อมาไล่ปอบ และเมื่อเวลาชาวบ้านถามปอบที่มาเข้าสิงร่างแม่คำพองว่ามาจากไหนชื่ออะไรต้องการอะไรก็ไม่ตอบ แต่มีอาการส่ายหน้ากระวนกระวายอยู่ตลอด ซึ่งบางพื้นที่ผีปอบก็จะบอกอยู่บ้างว่าที่มาเข้าสิงร่างของคนเขาชื่ออะไรและต้องการอะไร เพื่อที่ชาวบ้านจะได้นำมาทำพิธีให้ถูกต้อง โดยในหมู่บ้านตนขณะนั้นมีผีปอบจะอยู่ในหมู่บ้านประมาณ 8-10 ตัวผ่านการบอกเล่าของหมอธรรมที่จ้างมา

    แม่สี ผู้อยู่ในเหตุการณ์ เล่าต่ออีกว่า ปอบในภาคอีสานหมายถึงคนที่เรียนวิชาด้านไสยศาสตร์หรือมีครูเป็นของตัวเองที่เรียกกันว่า “คนเล่นของ” (ครูทางหมอธรรมหรือหมอลำเป็นวิธีที่ใช้รักษาชาวบ้านเพื่อให้หายจากอาการป่วย) หรือคนที่ทำผิดกินค่าคายเกิน (ค่ารักษาทางไสยศาสตร์หรือพิธีกรรมตามความเชื่อ) แต่เป็นผีแอบแฝงจะวนเวียนอยู่ในแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งในหมู่บ้านมักจะมีปอบเข้าอยู่ตลอดตั้งแต่สมัยโบราณ คนที่เป็นไข้หรือป่วยอ่อนแอง่ายก็มักจะถูกแฝงหรือผีปอบเข้าสิงร่าง เมื่อคนที่ถูกปอบเข้าหายแล้วมักจะถามชาวบ้านว่าคนมาทำอะไรมากมาย เพราะในขณะที่ถูกสิงร่างจะมีอาการไม่รู้ตัวหรือถ้ารู้ตัวก็ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

    ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย นิลอาธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ข้อมูลว่า ปอบแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ เกิดจากผู้มีวิชาไสยศาสตร์แก่กล้าสามารถใช้วิชาเวทมนต์ดำทำร้ายผู้อื่น จนถูกอาถรรพ์ของไสยเวทย์ย้อนกลับมาทำร้ายตนเองให้ต้องกลายเป็นปอบหรือที่ชาวบ้านบ้านภาคอีสานเรียกกันว่า “ผิดครู” หรือปอบอีกชนิดหนึ่งคือปอบที่สืบเชื้อสายบรรพบุรุษ หากครอบครัวใดมีพ่อแม่เป็นปอบ เมื่อตายลงลูกหลานจะสืบทอดต่อไป แม้จะเต็มใจหรือไม่ก็ตามโดยปอบเชื้อจะเกิดกับผู้หญิงเป็นส่วนมาก เพราะมีมนต์มีผีอยู่กับตัว เช่น ผีฟ้า ผีหมอ ผีไท โดยผู้หญิงในสมัยนั้นไม่ควรเรียนวิชาบางวิชาเพราะสังคมมองว่าไม่เหมาะสมคือ มนต์ของใหญ่ (อวัยวะเพศใหญ่) และมาขายบริการทางเพศโดยไม่มีค่าตอบแทนมีสิทธิเป็นปอบมาก ซึ่งมนต์พวกนี้มีข้อห้ามมากมายเพราะครูต้องการให้ศิษย์มีสติในการประพฤติปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย เผยอีกว่า คนที่มีวิชาไสยศาสตร์สังคมจะยอมรับและยกไว้ให้อยู่ที่สูงหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ ในสังคมเพราะเขาช่วยเหลือสังคม สังคมคาดหวังว่าคนมีมนต์คือคนที่พิเศษ ในภาคอีสานนั้นปอบคือผีร้ายที่ชอบกินของดิบ ตับ ไต ไส้ พุง ของคน แต่ปอบจะไม่ควักไส้ควักพุงกินกันสดๆอย่างภาพจำในละครหรือภาพยนตร์ในทางทีวี การกินของปอบจะอาศัยการอาศัยสิงสถิตอยู่ในร่างกายของมนุษย์ โดยสังเกตว่าคนที่โดนผีปอบเข้าสิงจะมีร่างกายซูมผอม ตาขวาง ไม่กล้าสู้สายตาคน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าหากปล่อยไว้ผู้ที่ถูกปอบเข้าสิง จะถูกกินตับไต ไส้ พุง หมดสิ้น จนคนผู้นั้นถึงแกความตาย

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย เผยเพิ่มเติมว่า ในประเทศไทยจะเรียกสายดำและสายขาว หรือมนต์ดำมนต์ขาว หากละเมิดคำสั่งของครูหรือละเมิดกติกาของสังคมก็จะถูกประณามว่าเป็นปอบ ซึ่งต้องดูโครงสร้างทางสังคมการจัดกลไกและระเบียบของสังคม ได้แก่ 1.บรรทัดฐาน 2.สถานะภาพ 3.บทบาท 4.การควบคุมทางสังคม (Social control) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างถูกควบคุมพฤติกรรมคนในสังคม ขณะที่เป็นผีดีก็มีสิทธิเป็นผีร้ายได้ ถ้าเราละเมิด ซึ่งสังคมบอกว่าคุณต้องทำตามครู ต้องช่วยเหลือคน และห้ามทำแบบนั้นแบบนี้ และละเมิดกฎของสังคม ซึ่งจะอยู่ตรงบรรทัดฐาน

    ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน เผยอีกว่า การควบคุมทางสังคม (Social control) จะมีอยู่สองวิธีคือ การลงโทษ และให้รางวัลหรือกำลังใจ ถ้าคนทำดีก็จะได้กำลังใจการชื่นชมนิยมชมชอบ แต่ถ้าคนทำผิดก็ลงโทษ โดยการลงโทษนั้นมีหลายวิธีเริ่มจากเพ่งเล็ง นินทา หาแนวร่วมประณาม ยิ่งใครที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบสังคมก็จะลงโทษแรงขึ้น  ไม่ใช่อยู่ๆจะกล่าวหาว่าคนนั้นเป็นปอบได้ง่ายๆ สังคมมีการเพ่งเล็งมาก่อนพยายามให้คนนั้นปรับเข้าสังคมให้ได้ เพราะสังคมไม่ต้องการความขัดแย้ง   ซึ่งคนที่มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบนั้น คือคนที่ไม่เข้าสังคมเวลามีกิจกรรมในชุมชนแล้วมักจะไม่เข้าร่วมคนมีฐานะเกินคนในชุมชน หรือคำว่า “ปอบ” อาจใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดคู่อริกำจัดคนที่ขัดแย้งก็ได้ด้วย เหตุก็คือสังคมเก่าเป็นสังคมแคบๆก็จะมีกลไกควบคุมภายในสังคมนั้น เพื่อให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ทุกคนต้องทำตามบรรทัดฐานมาตรฐานของสังคม

    ดร.ณัฐกฤตา นามมนตรี อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า ความเชื่อเรื่องผีปอบเป็นเรื่องที่อยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมของชาวอีสานมีมาตั้งแต่ดั้งเดิม ด้วยเหตุจากการเรียนวิชาอาคมแล้วใช้ผิดข้อห้ามหรือคะลำมิจฉาทิฐิคือการทำสิ่งที่ไม่ดี ในทางมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ ปอบเป็นกลไกการสร้างความเชื่อของคนในชุมชน  เนื่องจากไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าหรือแม้กระทั่งคนในชุมชนเดียวกันเองที่มีพฤติกรรมแปลกแยกออกไป หากบุคคลใดถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบมักถูกลอยแพให้โดดเดี่ยว บางครั้งรุนแรงถึงกับขับไล่ให้พ้นจากชุมชน และปอบไม่ใช่จะเข้าสิงใครง่ายๆ แต่จะสิงคนที่มีวิบากกรรม อาจเป็นคนที่นับถือผีให้เป็นที่พึ่ง และจิตของคนนั้นมีความผูกพันอยู่กับเรื่องผีหรือเป็นคนที่มีจิตอ่อนแอ

    ดร.ณัฐกฤตา เปิดเผยต่ออีกว่า เดิมคนไทยมีความเชื่อเรื่องผีอยู่แล้วก่อนมีศาสนาพุทธ แต่ในขณะเดียวกันในการประกอบพิธีกรรมไทยก็มีการรับของศาสนาพราหมณ์เข้ามา ดังนั้นความเชื่อเรื่องผีของศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์จึงปะปนอยู่ในสังคมไทยอีสาน เมื่อมีคนเสียชีวิตต่อๆกันหรือสัตว์เลี้ยงตายโดยที่ตับไตหาย ชาวบ้านจึงเชื่อว่าเป็นผีปอบซึ่งในปัจจุบันยังคงมีความเชื่อนี้อยู่และจะมีอยู่ตลอดไป เพราะตราบใดที่ทุกคนยังมีความเชื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ อะไรก็ตามแต่ที่ชาวบ้านหาสาเหตุไม่ได้อยู่ๆ ก็เกิดขึ้น ไปหาแพทย์แผนปัจจุบันก็หาสาเหตุไม่ได้  ชาวบ้านจึงคิดและเชื่อว่าเป็นเรื่องของสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นเรื่องของสิ่งเร้นลับ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ พวกนี้จะมีความสัมพันธ์กันหมด เป็นระบบคิดภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับความสัมพันธ์อำนาจเหนือธรรมชาติ

    ข้อมูลจากงานวิจัยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ระบุว่า ผีปอบอาจเป็นวาทกรรมซ่อนเร้นประเภทหนึ่งของผู้มีอำนาจหรือหมอผีที่จะชี้ว่าใครเป็นปอบโดยการขู่บังคับผู้ที่มีอำนาจต่ำกว่า เป็นเรื่องของการใช้อำนาจควบคุมคนในสังคม การใช้อำนาจกับบุคคลอาจจะโดยการกล่าวหาใครก็ได้โดยปราศจากหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือมีข้อพิสูจน์ที่ยืนยันว่าบุคคลผู้นั้นเป็น“ผู้กระทำ”แต่อาจใช้วิธีการข่มขู่หรือบังคับให้“บอกต่อ”เพื่อขับไล่หรือลงโทษบุคคลที่มีอำนาจต่ำในสังคมนั้น

    ขณะที่งานวิจัยของอาจารย์กมเลศ โพธิกนิษฐ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า ในกรณีของผีปอบในภาคอีสาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติ หากพิจารณาในทางสังคมวิทยา ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบจะมีลักษณะของการเป็นคนชายขอบที่เด่นชัด โดยที่คนส่วนใหญ่ในชุมชนชนนั้นไม่ต้องการและพยายามที่จะขับไล่หรือกีดกันให้ออกจากชุมชนหรือสังคมนั้นๆ โดยกระบวนการทำให้เป็น “ฝีปอบ” (Ogre-zation) มักเกิดขึ้นเมื่อคนในสังคมมีความคิดและพฤติกรรมที่เป็นไปในลักษณะที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไปในสังคมหรือผิดแผกไปจากวิถี ประเพณีนิยมประจำท้องถิ่นนั้นๆ ทำให้เกิดกระแสสังคมในการพิพากษาตัดสินว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งผิดแผกไปจากธรรมดา และพยายามหาคำอธิบายลักษณะดังกล่าว โดยเชื่อมโยงความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติผ่านการตีตราว่าเป็น “ฝีปอบ”

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ