More
    Monday, February 28, 2022

    นักศึกษากับโรคซึมเศร้า ภัยเงียบที่ควรหันมาใส่ใจ

    -

    บลูนักเรียนชายมัธยมปลายถูกกดดันจากพ่อในเรื่องการเรียน รวมถึงความผิดหวังจากสังคมรอบข้าง บีบรัดให้เด็กหนุ่มจมดิ่งกับความเครียดหนักมากขึ้น เขาทำร้ายตัวเองและหันไปพบจิตแพทย์จนรู้ว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า  กระทั่งได้พบกับชายแปลกหน้าที่มาพร้อมกับกีฬาอย่างสเกตบอร์ด กีฬาดังกล่าวช่วยดึงเขาออกไปสู่โลกใบใหม่ เติมเต็มความหวังและสร้างพลังใจ

    ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อเรื่องของ SOS skate ซึม ซ่าส์ จากซีรีย์ตอนใหม่ในโปรเจค เอส (Project S) ของค่าย จีดีเอช (GDH) ซีรีส์ดังกล่าวพยายามอธิบายถึงโรคซึมเศร้าผ่านตัวละครที่มาจากเค้าโครงความจริง เป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างความเข้าใจในสภาวะความเป็นไปของโรคที่เป็นเสมือนภัยเงียบใกล้ตัว

    งานวิจัยจากกรมสุขภาพจิตพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าวัยรุ่นโดยทั่วไปเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 1% ของประชากรทั้งหมด  งานวิจัยดังกล่าวยังพบอีกว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ คนทั่วไปจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1 ใน 4 หรือใน 4 คน จะมี 1 คนเป็นโรคซึมเศร้า

    โดยทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ได้ตระหนักถึงปัญหาและให้ความสำคัญกับโรคซึมเศร้าในกลุ่มนิสิตเป็นอย่างมาก และในทุกๆปีได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับนิสิตปีชั้นปีที่ 1  ตอนปฐมนิเทศพร้อมแจกแผ่นพับแนะนำเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานที่สำคัญต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยให้กับนิสิตทุกคน เพื่อเป็นการดูแลนิสิตในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพียงแค่ส่งเสริมสุขภาพกายที่ดีแต่ยังใส่ใจให้มีสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย

    ทำความเข้าใจโรคซึมเศร้ากับนักจิตวิทยา

    อาจารย์ศุภชัย ตู้กลาง หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามให้นิยามของโรคซึมเศร้าว่า เป็นพฤติกรรมหนึ่งทางด้านอารมณ์ของมนุษย์ โดยนักจิตวิทยาจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือด้านอารมณ์และการแสดงออกของพฤติกรรม โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากพูดถึงโรคคือการผิดปกติและอาการซึมเศร้ามีหลายระดับ มีตั้งแต่อารมณ์เศร้าธรรมดาไปจนถึงเป็นภาวะซึมเศร้าสูงกว่านั้นคือโรคซึมเศร้า

    “สาเหตุของโรคซึมเศร้า ทางจิตวิทยาแบ่งออก 3 สาเหตุหลัก กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มปัจจัยทางด้านร่างกาย กลุ่มที่สองคือปัจจัยทางด้านจิตใจ และกลุ่มที่สามคือปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม” หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์

    อาจารย์ศุภชัย ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยแรกด้านนักจิตวิทยาเชื่อว่าทุกพฤติกรรมมันเกิดจากภาวะของสมอง มีเรื่องของสารสื่อประสาทบางชนิด ที่อาจจะมีการหลั่งน้อยเกินไป เช่น สารเซโลโตนีนหรือซีโรโตนีน (Serotonin)และ อะดรีนาลีน (Adrenaline)ลดลง เป็นความแปรปรวนของสารในประสาทหรือเรียกอีกอย่างว่าฮอร์โมน ถูกกระตุ้นจากต่อมในร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักและอีกหนึ่งปัจจัยที่เกิดจากร่างกายคือเกิดจากเรื่องของพันธุกรรม โรคซึมเศร้าหรือโรคจิตเวชหลายๆโรคสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมกันได้ เช่น คุณปู่คุณย่าเคยมีประวัติซึมเศร้ามาก่อน อาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับลูกหลานให้มีซึมเศร้ามากกว่าคนอื่นได้

    นักจิตวิทยาคนเดิม ให้ข้อมูลต่อว่า ปัจจัยที่สองด้านจิตใจ เพราะบางครั้งเราอาจเจอเรื่องที่กระทบจิตใจ เสียใจ เป็นเรื่องที่ทุกคนไม่ต้องการให้เกิดขึ้น หรือเกิดจากการคาดหวังในสังคมก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุทำให้เกิดความเศร้า จึงก่อให้เกิดความคิดของนักจิตวิทยา ชื่อ อารอน เบค กล่าวถึงเรื่องความคิดอัตโนมัติว่าคนเรามีความคิดที่เร็ว เช่น สมมุติไปกินข้าวกันมีเพื่อนคนหนึ่งชวนทุกคนไปแต่ยกเว้นชวนเรา เราจะมีความคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาว่าเพื่อนอาจไม่ชอบเรา เพื่อนไม่รักเรา ซึ่งจริงๆแล้วอาจจะเป็นความคิดที่เกินความจริงไปหรือเป็นความคิดที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง ความจริงเพื่อนอาจไม่ได้คิดอะไรหรือชวนแล้วเราไม่ได้ยิน ทำให้การตีความแตกต่างไปเป็นจุดเริ่มต้นสู่การมองโลกในแง่ลบ

    อาจารย์ศุภชัย ให้ข้อมูลเสริมว่า ปัจจัยที่สามสังคมสิ่งแวดล้อม เช่นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเรียนหรือเรื่องในชุมชนที่อาศัยมากระตุ้น ให้รู้สึกว่าไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็จะก่อให้เกิดความเศร้า ซึ่งโรคซึมเศร้าสามารถเป็นได้ทุกช่วงวัย

    ในประเด็นการให้คำปรึกษาในมหาวิทยาลัย อาจารย์ศุภชัย แนะนำว่า สถานที่ให้คำปรึกษาสำหรับนิสิต มมส (เขตขามเรียง) อยู่ที่กองกิจการนิสิต ด้านงานแนะแนวและจัดหางาน กองกิจการนิสิตมีการติดประชาสัมพันธ์ตามลิฟต์และตามบอร์ดประชาสัมพันธ์ของคณะต่าง ๆ มีเบอร์สายด่วน (Hot Line) ที่จะสามารถโทรไปขอคำปรึกษาได้ตลอด 24 ชม. แต่สำหรับทางคณะศึกษาศาสตร์จะเปิดให้ขอคำปรึกษาเฉพาะเวลาราชการเท่านั้น ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. หรือหากต้องการโทรสายด่วนของกรมสุขภาพจิตก็สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 1323

    “นอกจากนี้ยังมีการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานิสิตทุกคณะ โดยมีจิตแพทย์และพยาบาลเป็นวิทยากรให้ความรู้ และทุกคณะกำลังจะสร้างห้องให้คำปรึกษาแก่นิสิต เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพจิตของนิสิตในคณะของตน และในทุกๆปีมีการประชาสัมพันธ์ให้กับนิสิตปีชั้นปีที่ 1  ตอนปฐมนิเทศพร้อมแจกแผ่นพับแนะนำเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานที่สำคัญต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยให้กับนิสิตทุกคน แต่ไม่สามารถประเมินได้ว่านิสิตได้รับข้อมูลมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีนิสิตส่วนน้อยที่รู้และทางมหาวิทยาลัยจะประชาสัมพันธ์ให้นิสิตทราบข้อมูลมากขึ้นได้อย่างไร” อาจารย์ศุภชัย กล่าว

    สำหรับการเข้ามาขอคำปรึกษาของนิสิตที่คณะศึกษาศาสตร์ อาจารย์ศุภชัย เปิดเผยว่า มีนิสิตเข้ามาใช้บริการบ้าง แต่เฉลี่ยนิสิตที่เข้ามาขอคำปรึกษาใน1สัปดาห์ บางครั้งไม่มีเลย แต่บางสัปดาห์จะมีเพียง1-2คน ซึ่งรูปแบบและวิธีการรักษาของคณะศึกษาศาสตร์ สาขาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว จะเป็นการผสมผสานกันระหว่างการคัดกรองและการให้คำปรึกษา

    “อันดับแรกคือจะคัดกรองก่อนว่ามีภาวะโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยใช้แบบคัดกรอง เรียกว่าคัดกรอง 9Q มีคำถาม9ข้อ ถ้าเราคัดกรองมาได้สักระยะหนึ่งก็มารวมคะแนน และซึมเศร้าจะมาพร้อมกับภาวะการอยากฆ่าตัวตายในอนาคต เราจึงมีแบบคัดกรองเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายเพิ่มเติมอีกหนึ่งชุด หากผ่านขั้นแรกก็จะให้คำปรึกษาสักระยะหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่นิสิตที่มาขอรับบริการยังแยกไม่ออกว่า อะไรคือความเครียดและอะไรคือภาวะซึมเศร้า บางคนก็ยังไม่ทราบว่าความเศร้าขั้นใดถึงจะนับว่าเป็นโรค”

    ด้านอาการของโรคเบื้องต้น หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยา ให้ข้อมูลว่า การกินและการนอนที่ไม่ปกติถือว่าเป็นภาวะซึมเศร้าได้ บางคนอาจจะกินมากไปหรือกินน้อยไป บางคนนอนน้อยหรือนอนมากเกินไปก็อาจจะเป็นโรคนี้ได้ วิธีการตรวจสอบตัวเองซึ่งอาจจะมีภาวะซึมเศร้าไม่รู้ตัว จึงจำเป็นต้องสังเกตตัวเอง อย่างน้อยเช็คเรื่องของการกินการนอนก่อนปกติหรือไม่หรือซึมเศร้ามาเป็นระยะเวลายาวนานเท่าใด ถ้าเข้าข่ายจะเป็นโรคซึมเศร้าแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ถ้าเศร้า1-2 วันถือว่าไม่เป็นโรคซึมเศร้า แต่ถ้าเศร้าติดต่อกัน 2 อาทิตย์ – 1 เดือนถือว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้า

    “สำหรับนิสิตบางคนที่เข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ ช่วงแรกอาจจะไม่ต้องถึงขั้นต้องรับยา แต่จะมีการพูดคุยสอบถามสาเหตุ เพื่อดูเศร้าติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเท่าใดแล้ว หากนิสิตเศร้าติดต่อกันเป็นระยะนานจนสามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคซึมเศร้า ให้คำปรึกษาแล้วตัวนิสิตยังไม่ดีขึ้นและมีอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ก็จะนำตัวส่งไปรักษากับจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อรักษาและต้องกินยาต่อเนื่อง การรักษาด้วยการกินยาก็จะได้รับผลข้างเคียงจากยา กินแล้วง่วงไม่สามารถเรียนหรือทำงานได้ตามปกติ และการกินยาเป็นเพียงการควบคุมอารมณ์เท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนยาหรือหยุดยาเองได้จะต้องได้รับคำสั่งจากหมอเท่านั้น” หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยา กล่าว

    แต่ในขณะเดียวกันยังหลายคนที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า โรคจิตเวชจะมีอีกโรคหนึ่งก็คือ บุคลิกภาพผิดปกติ (personality disorder) บางครั้งมันจะเป็นลักษณะที่ว่าเรียกร้องความสนใจ ตัวอย่างเช่น ฮิสทีเรีย (Hysteria) หรือคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น เชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก ซึ่งอาจจะไม่ใช่โรคซึมเศร้า บางครั้งมันเป็นเรื่องของบุคลิกที่มันผิดปกติไป เลยทำให้เขาเรียกร้องความสนใจ แต่คนอื่นๆในสังคมก็มองว่าการเรียกร้องความสนใจคือซึมเศร้า แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจในโรคทางจิตเวชอื่นๆที่มีอยู่ด้วย

    “โรคซึมเศร้าที่สามารถเกิดได้กับทุกคน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราจะเอามาเปรียบเทียบกันว่าใครดีใครด้อย ใครเด่นกว่ากันหรือเหตุผลคืออะไร เพราะถ้าเราคุยกันด้วยเหตุผลว่าทำไมต้องเป็นโรคซึมเศร้า จะเป็นเรื่องราวที่ไม่รู้จบ ทุกวันนี้คนรู้จักโรคซึมเศร้าน้อย  เพราะคนคิดว่าอาการซึมเศร้าเป็นเรื่องของทางอารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่ที่จริงโรคซึมเศร้าก็เกี่ยวกับเรื่องของทางร่างกายด้วย” อาจารย์ศุภชัย กล่าวทิ้งท้าย

    สารคดีเชิงข่าว

     

    ทางออกหนึ่งคือความใส่ใจคนรอบข้าง

    พญ.วนาพร วัฒนกูล หรือหมอต่าย ตำแหน่งนายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลขอนแก่น ให้ข้อมูลว่า ถ้ารู้ว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า วิธีการจัดการหรือรักษาเบื้องต้นคือ ถ้ามองตัวไม่ออกหรือไม่รู้ ต้องให้เพื่อนช่วยสังเกต การที่เพื่อนสอบตกหรืออกหักอะไรก็ตามที่กระทบจิตใจ แล้วร้องไห้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของโรคได้ ต้องใช้การสังเกตเพื่อนว่าเปลี่ยนไปหรือเพื่อนเราอยู่ในอารมณ์เศร้านานเกินไปหรือไม่ เมื่อเจอปัญหาเขาหาทางออกอย่างไร มีแต่ยอมแพ้ ไม่ไหว ไม่สู้ อยากลาออกหรืออยากหนีปัญหา เพราะหากเพียงแค่เศร้าไม่ได้น่ากลัวเท่าเขาหาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย เนื่องจากเขารู้สึกว่าอนาคตมืดมน และคิดว่าตัวเองไร้คุณค่านั่นเอง ถ้าเอาวิธีนี้ไปช่วยเพื่อนก็จะเป็นการช่วยกันพาเขาออกมาจากความเศร้านั้นได้ เพราะเราช่วยกันได้ทุกคนจึงต้องช่วยกันดูเพื่อนๆ พี่น้อง เราต่างมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรียนอ่อนๆ มีปัญหาชีวิต พ่อแม่หย่าร้าง มีความกดดันในครอบครัว

    พญ.วนาพร วัฒนกูล กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เขียนไว้ว่าในอนาคตคนจะฆ่าตัวตายเป็นอันดับสองของโลก รองจากการตายจากโรคหลอดเลือดสมอง เพราะคนให้ความสนใจกันน้อยลง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Relationship) น้อยลง อนาคตคนจะตายด้วยโรคนี้ จึงนับเป็นเรื่องใหญ่ ประเทศที่ยิ่งเจริญยิ่งฆ่าตัวตายมากขึ้น เพราะยิ่งเจริญเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลน้อยลง สัมพันธ์กับเรื่องการงาน เรื่องเงิน ประเทศไทยโชคดี ตัวเลขค่อนข้างน้อยในการฆ่าตัวตายเมื่อเทียบกับหลายชาติ

    นายแพทย์ชำนาญการ กล่าวเสริมว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วตัดสินใจฆ่าตัวตาย เป็นเพียงเจตนาที่ต้องการหาทางออก เขาไม่ได้ต้องการทำร้ายใคร และไม่ได้อยากให้การฆ่าตัวตายของเขาเป็นการทำร้ายครอบครัวตัวเอง เพียงแต่รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าแล้ว และการฆ่าตัวตายเป็นเพียงทางออกเดียวเท่านั้น

    “ถ้ารู้ว่าผู้ป่วยซึมและเศร้า มองโลกในแง่ลบ มองว่าตัวเองไม่มีอนาคต หมดความหวังในชีวิต ตัวเองก็ไม่มีคุณค่า รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดีในชีวิต นั่นคืออาการหลักๆ ซึ่งทุกคนอาจเคยมีอาการแบบนี้ เพียงแต่ว่าคนที่เป็นโรคนี้มีอาการเป็นนาน เพราะดึงตัวเองออกจากความเศร้าไม่ได้ จิตตกอยู่ในห้วงลึกนานมากๆ เขารู้สึกว่าไม่มีคุณค่าในชีวิตเลย ก็ต้องทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น คนรอบข้างสำคัญมาก เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ซึ่งความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมากที่ควรใส่ใจกันและกัน” หมอต่ายกล่าว

    พญ.วนาพร กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการเช็คตัวเองว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้น คือ สังเกตตัวเองว่าช่วงนี้ตัวเองได้หัวเราะบ้างไหมในสัปดาห์ที่ผ่านมา หรือใน 2 – 3 สัปดาห์ และไม่ว่าจะทำอะไรก็คิดว่าตัวเองไม่มีอะไรดีในชีวิต เกิดความรู้สึกเศร้า แล้วก็จะหาเรื่องด้านลบมาคิดเพื่อโทษตัวเอง แทนที่จะดีขึ้นก็ไม่ดีขึ้น ไม่ได้ยินเสียงหัวเราะของตัวเอง เช็คตัวเองว่าเป็นนานไหมและทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ทั้งนั้น

    หมอต่ายให้ข้อมูลเสริมว่า หากผู้ป่วยเคยคิดฆ่าตัวตายมาแล้ว คงต้องทำทุกอย่างที่จะช่วยคนไข้ให้ได้ ทั้งต้องรักษาด้วยยาพร้อมกับบำบัดจิตใจ รวมถึงต้องนำญาติมาพูดคุย ซึ่งขึ้นอยู่กับคนไข้แต่ละคน ถ้าอาการไม่หนักมาก เศร้าไม่มาก เราก็ใช้วิธีดูแลตัวเอง เพื่อออกจากอารมณ์นั้น ออกกำลังกายเป็นทางออกที่ดีที่สุดในโลก เพื่อนก็หมั่นดูแลใส่ใจกัน สนุกกับการใช้ชีวิต ในปัจจุบันก็มีเว็บไซต์ต่างๆมากมาย กรมสุขภาพจิตก็รณรงค์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า เพื่อจะให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับโรคนี้ ดังนั้นควรเร่งการป้องกันและตรวจสอบตนเองให้เร็วขึ้นว่าตนเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่

    “ในมุมมองของหมอมองว่า เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องคือเรื่องของเจนเนอร์เรชั่น แต่ละเจนเนอร์เรชั่นมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันมาก เพราะในโลกปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เช่น หลานเล่นโซเชียล ยายก็จะไม่รู้และไม่เข้าใจ การปรับตัวเข้าหากันระหว่างเจนเนอร์เรชั่นที่ต่างกันอาจจะไม่ง่ายเหมือนเจนเนอร์เรชั่นเดียวกัน เป็นประเด็นที่ควรให้การศึกษาและให้ความเข้าใจประชาชนมากกว่านี้ว่าเราจะทำงานกับคนที่ต่างวัยได้อย่างไรในมุมมองที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นสื่อเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เชื่อมความเข้าใจให้คนต่างวัยเข้าใจกันและคุยกันมากขึ้น นั่นเป็นเหตุผลว่าการหันมาสนใจกัน รักและใส่ใจกันให้มากขึ้นก็จะสามารถช่วยได้ เพราะถ้าหากคนรอบข้างเข้าใจสังคมและสิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้นเอง” หมอต่ายกล่าวทิ้งท้าย

     

    มุมมองนิสิตที่เคยเป็นซึมเศร้าและเข้าพบจิตแพทย์

    นางสาวภัทราวดี หงษ์เอก นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาการสารสนเทศ สาขานิเทศศาสตร์ ให้ข้อมูลและประสบการณ์ที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าว่า ตอนแรกตนไม่ทราบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่พอได้เข้าพบจิตแพทย์ ก็ได้รู้ว่าเป็นคนชอบสะสมปัญหา เพราะปกติคนในครอบครัวจะไม่ค่อยคุยกัน ตนจึงกลายเป็นคนที่มีอะไรก็จะเก็บไว้ ความคาดหวังในครอบครัวก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เมื่อทำไม่ได้ก็ผิดหวังในตัวเองและไม่ค่อยกล้าที่จะเล่าปัญหาหรือสิ่งที่พบเจอมาในแต่ละวันให้คนในครอบครัวฟัง

    นางสาวภัทราวดี เล่าต่อว่า ตนมักจะเศร้านานและเป็นแบบนี้มาหลายปี ชอบคิดว่าไม่มีใครเข้าใจ เช่น ตอนที่รู้สึกว่าไม่อยากทำอะไร ไม่อยากแม้กระทั่งไปเรียน ยิ่งมีคนบอกว่าให้ตั้งใจเรียน พ่อแม่กว่าจะหามาได้แต่ละบาท ทำไมไม่กลับไปเรียน ตอนนั้นรู้สึกแย่มาก รู้สึกไม่อยากอยู่ต่อ คำพูดที่หวังดีนั้นบั่นทอนจิตใจกว่าเดิม ยิ่งทวีคูณความเศร้าเพิ่มขึ้น มองทุกอย่างที่เขาหวังดีเป็นแง่ลบไปหมด

    จุดเริ่มต้นที่เข้าพบแพทย์ นิสิตสาขานิเทศศาสตร์คนดังกล่าว เล่าว่า เพราะตนตัดสินใจเล่าให้แม่ฟังว่าตนเคยรู้สึกไม่อยากอยู่ต่อแม่ก็ตกใจ ซึ่งก็ญาติแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ที่คลินิกหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น จึงตัดสินใจเข้าพบจิตแพทย์ในตอนนั้น ในตอนแรกตนไม่กล้าเล่าให้จิตแพทย์ฟัง เพราะมองว่าหมอเป็นคนแปลกหน้าจะสามารถช่วยตนออกจากความทุกข์ได้อย่างไร แม้แต่เพื่อนและพ่อแม่ยังไม่เข้าใจ แต่พอลองเล่าทุกอย่างออกไปว่ามีอะไรอยู่ในใจบ้าง ก็ทำให้ตนรู้สึกสบายใจขึ้น

    ภัทราวดี เล่าเกี่ยวกับระยะเวลาการรักษาโรคซึมเศร้าว่า สำหรับเคสตนใช้เวลา2ปี ต้องกินยาทุกวัน กิจวัตรประจำวันก็ตื่นมากินข้าว กินยาแล้วก็ง่วงเพราะฤทธิ์ของยา เหมือนต้องหลับให้ตัวเองไม่ต้องคิดอะไร พออาการดีขึ้นเริ่มมองโลกในแง่ดี กลับมาสดใส เล่าอะไรให้หมอหรือคนในครอบครัวฟังแล้วไม่ร้องไห้ หมอก็ลดยาลงและหมอก็บอกว่าหายแล้วไม่ต้องเพิ่งยาแล้วและยาที่รักษาที่ดีที่สุดคือคนในครอบครัวเข้าใจและคุยกันมากขึ้น

    “มีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจหรือวิธีปฏิบัติกับคนที่เป็นโรคนี้ บางคนอาจตั้งคำถามว่าทำไม่ต้องทำความเข้าใจ คนเป็นโรคทำไมไม่เข้าใจคนปกติบ้าง นั่นเพราะเขากำลังป่วยและเชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็นโรคนี้ คนเป็นโรคซึมเศร้ากว่าจะผ่านไปได้แต่ละวันมันยากมากๆ เขาไม่ได้เป็นบ้า เขาแค่ไม่สบาย ใครพูดอะไรก็จะเก็บไปคิด จิตใจเค้ากำลังอ่อนแอ ไม่รู้เขาต้องเจออะไรมาบ้างถึงได้อ่อนไหวขนาดนี้ เพราะฉะนั้นจะพูดอะไรช่วยคิดก่อน บางคำที่ไม่ได้ตั้งใจเขาอาจจะไม่เข้มแข็งพออยู่ถึงพรุ่งนี้ก็ได้ อย่างน้อยเริ่มต้นที่การที่พูดให้กำลังใจ บางคนเขาไม่แสดงอาการของโรคหรืออาจไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรค หากได้ยินคำพูดดีๆที่ให้กำลังใจในตอนที่รู้สึกแย่ คำพูดเหล่านั้นอาจช่วยทำให้พวกเขารู้สึกว่าโลกนี้น่าอยู่หรือทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าขึ้นมาก็ได้” ภัทราวดี กล่าวทิ้งท้าย

    มุมมองของนิสิตที่คาดว่าตนเป็นโรคและไม่ได้เข้ารับการรักษา

    นางสาวจุฑามาตย์ ลาดโฮม นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะศึกษาศาสตร์  สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษให้ผู้มีพื้นฐานภาษาอื่นนอกจากภาษาอังกฤษ (TESOL) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยสาเหตุที่ตนคิดว่ามีภาวะโรคซึมเศร้าว่า เกิดจากการที่ตนนอนไม่หลับอยู่บ่อยครั้ง จึงได้ค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต พอได้ศึกษาข้อมูลจึงคิดว่าตนเองนั้นอาจเป็นโรคซึมเศร้า เพราะมีอาการเข้าข่ายตามที่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต

    นางสาวจุฑามาตย์ เล่าต่อว่า ตนมีอาการดังกล่าวตั้งแต่ช่วง ม.3 เนื่องจากตนถูกเพื่อนกดดันและต่อต้าน อีกทั้งมีเรื่องการเรียนและเรื่องที่บ้านบังคับให้เรียนในสิ่งที่ไม่อยากเรียน ตนเป็นคนใส่ใจคนอื่นมากเกินไป จนลืมนึกถึงความรู้สึกของตนเอง ใครพูดอะไรใครรู้สึกอย่างไรตนก็จะเก็บมาคิด ช่วงทะเลาะกับเพื่อนก็จะรู้สึกไม่สบายใจ เคยกินยาแล้วก็กรีดแขนทำร้ายตัวเอง พอเข้ามหาวิทยาลัย ตอนช่วงปี 1 ตนได้มีโอกาสประกวดดาวเดือน แน่นอนว่าการที่เรามาอยู่จุดนี้ต้องมีคำนินทาซึ่งเราก็รู้สึกไม่ดี เพราะว่าเพื่อนเราก็มองเราไม่ดีด้วย จนถึงช่วงขึ้นปี 2 ตนจึงเลือกที่จะอยู่คนเดียว เพื่อออกห่างจากเพื่อนๆเมื่ออาจารย์เห็นจึงเรียกเข้าพบ ตนจึงได้ขอคำปรึกษาจากอาจารย์ เรื่องเพื่อน เรื่องเรียน แต่หลังจากขอคำปรึกษาจากอาจารย์ก็ไม่ได้ไปพบจิตแพทย์

    ในมุมมองของ นางสาวจุฑามาตย์ ที่มีต่อจิตแพทย์ ตนคิดว่าจิตแพทย์ก็พยายามเข้าใจตน อาจจะเข้าใจในสิ่งที่ตนเป็นและจะสามารถหาวิธีบรรเทาอาการของตนให้ดีขึ้นได้ แต่คิดว่าตนเองไม่ได้อาการหนักสามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ จึงพยายามหาอะไรทำ หาอะไรอ่านที่ทำให้เกิดการพัฒนาตนเอง หาเพื่อนสนิทที่เข้าใจสิ่งที่เราเป็นในท้ายที่สุดแล้วโรคซึมเศร้ากำลังเป็นภัยเงียบที่บั่นทอนสุขภาพคนทุกระดับ หากไม่ได้รับการรักษาพวกเขาต้องติดอยู่ในห้วงความรู้สึกหดหู่ และอาจถึงขั้นปลิดชีวิตตัวเอง เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานที่ต้องเผชิญ และในอนาคตข้างหน้า โรคนี้จะทำให้ประชากรบนโลกต้องตายเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหลอดเลือดสมอง นั่นอาจเป็นสาเหตุ และจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราต้องหันมาสนใจตนเอง ทำความเข้าใจโรคนี้อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งควรหันมาใส่ใจดูแลคนรอบข้างให้มากขึ้น เพราะบางทีในวันพรุ่งนี้เขาอาจจะไม่ได้อยู่ข้างเราอีกต่อไป

     

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ