More
    Sunday, March 6, 2022

    สุรินทร์ถิ่นคชสาร…ตำนานคนกับช้าง

    -

     

    แสงแดดจ้าสีทองสาดส่องป้ายชานชาลา ณ สถานีขนส่งจังหวัดสุรินทร์ หลังรถประจำทางจอดเทียบท่าเป็นเวลาเที่ยงตรง เพื่อนเจ้าของถิ่นที่มารอรับชะโงกหัวโบกมือเรียกเราด้วยความยินดี จากนั้นเราเดินทางออกจากตัวเมืองไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตรเพื่อเข้าสู่หมู่บ้านช้างตลอดสองข้างทางเต็มไปด้วยธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ ดอกหญ้าข้างทางสั่นไหว ป่าไม้ที่สูงใหญ่ แสดงให้เห็นความเป็นอยู่ของคนกับป่า และแล้วเราก็มาถึงหมู่บ้านช้างแต่ไม่เห็นช้างสักเชือก ช่วงเวลานั้นสายลมหลงทางผ่านมาพอดี เราได้ยินเพียงเสียงร้องของช้างพลายแผ่ว ๆ เหมือนจะอยู่ไม่ไกลจากเรานัก ความรู้สึกตื่นเต้นนำพาให้เราอยากรู้อยากเห็นการใช้ชีวิตของคนกับช้างมากกว่าเดิม

    หมู่บ้านช้าง

    หมู่บ้านตากลาง เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในจังหวัดสุรินทร์ หรือที่เราเรียกกันว่า หมู่บ้านช้าง เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กูย (กวย) ส่วนใหญ่มีวิถีประกอบอาชีพควาญช้าง ชุมชนยังคงวัฒนธรรมและประเพณีแบบดั้งเดิม รวมถึงวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนใคร ชุมชนหนึ่งเดียวในโลกของคนกับช้างอยู่ร่วมกันยาวนานหลายร้อยปีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หมู่บ้านตากลาง เปรียบเสมือนมีช้างเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว พึ่งพากันและกัน “คนดูแลช้าง ช้างเลี้ยงดูคน” ชาวกูยกับช้างมีความผูกพันกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และถือว่าช้างคือสัตว์คู่บ้านคู่เมือง

    รวมถึงเป็นสัตว์ของประวัติศาสตร์ชาติไทยได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับองค์พระมหากษัตริย์

    ปัจจุบันไม่มีช้างที่ต้องไปออกรบในสมรภูมิ ไม่มีช้างที่ต้องลากไม้ซุงกลางป่าลึกอีกแล้ว แต่ช้างไทยยังคงดำรงอยู่เคียงคู่กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยทั่วทุกภาค เฉกเช่น หมู่บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ ที่ยังสืบทอดความสัมพันธ์และความผูกพันของคนกับช้างไว้อย่างแนบแน่น พึ่งพาอาศัยกันทำให้มีอยู่มีกินจนเท่าทุกวันนี้

    ช้างอารยธรรมหมู่บ้านตากลาง

    ณ บ้านปูนสองชั้น เราเหลือบมองไปยังแผ่นไม้ยางนาที่ถูกแกะสลักว่า บ้านนายลี ศาลางาม เป็นชื่อของชายที่เรากำลังตามหา เรารู้สึกตื่นเต้นปนสงสัยและอยากรู้ว่าหมู่บ้านตากลางมีอะไรน่าสนใจนอกเหนือจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านกับช้าง

    “แปร๊น แปร๊น แปร๊น” เสียงร้องของพลายมงคล ช้างเพศผู้ รูปร่างใหญ่โต เราได้แต่ยืนมองอยู่ห่าง ๆ งาที่ยืดยาวออกมาสง่างาม พร้อมส่งเสียงทักทายผู้ที่เข้ามาเยี่ยมเยือนหมู่บ้านช้าง เสียงแผดร้องดังลั่น ใบหูกระพือแสดงให้เห็นอารมณ์ของพรายมงคลที่กำลังอิ่มเอมกับท่อนอ้อยในงวง ดูแล้วช่างน่าเกรงขามยิ่งนัก

    แต่ภายใต้รูปร่างสูงใหญ่ ก็ได้ซ่อนความขี้เล่น ขี้อ้อนเอาไว้ เรามองเห็นความน่ารักของพรายมงคลที่กำลังหยอกล้อกับควาญช้างด้วยกันอย่างสนิทสนมคุ้นเคย

    ชายร่างเล็ก ผิวคล้ำ ท่าทางใจดียืนลูบหัวเจ้าช้างอย่างเอ็นดู ลุงลี ศาลางาม ผู้เป็นควาญช้างอดีตผู้ใหญ่บ้านตากลาง เราเดินเข้าไปพร้อมกับคำถามมากมายที่มีอยู่ในหัว เมื่อมองดูช้างกับลุงแล้วหากจะถามว่านานแค่ไหน คงมากพอกับอายุของลุงทุกคน ในหมู่บ้านเลี้ยงช้างเหมือนคนในครอบครัว เลี้ยงเหมือนลูกหลาน จะไปไหนมาไหนแต่ละครั้ง ลุงก็ดูเป็นห่วงพลายมงคลต้องคอยหาอาหารมาไว้ให้ หากลุงได้กิน เขาก็ต้องอิ่มท้องเช่นกัน นี่คือความสุขของลุง ยิ่งเราดูแลเอาใจใส่ รักเขา เจ้าพลายมงคลก็รักตอบเช่นกัน แม้ช้างจะพูดไม่ได้ แต่ลุงสามารถรับรู้ได้จากแววตาที่อ่อนโยน หากไม่มีเขาก็คงไม่มีลุงในวันนี้ ทุกอย่างคือความรักผูกพันที่หล่อเลี้ยงครอบครัวและเหล่าคชสารให้แนบแน่น และดำเนินไปสู่ลูกหลาน

    สายใยความผูกพัน…คนกับช้าง

    “ลุงไม่อยากให้ช้างตายไปพร้อมกับลุง” ถ้อยคำเพียงสั้น ๆ แต่ทว่ากลับลึกซึ้งอย่างบอกไม่ถูก ลุงลี บอกเล่าด้วยแววตาจริงใจพร้อมเริ่มบรรยายความรู้สึกของตนที่มีต่อช้างอย่างยิ้มแย้ม

    “จะให้ทำอย่างไรได้ ในเมื่อรักเขาไปแล้ว จะให้ขายทิ้งไปลุงก็ทำไม่ได้ ทุกวันนี้คิดเพียงว่าใครจะสืบทอดเจตนารมณ์ ลุงคงฝากชีวิตของพวกช้างไว้กับลูกชายของลุง ยังดีที่ลูกชายลุงเขารักช้างเหมือนที่ลุงรัก ลุงก็พออุ่นใจขึ้นมาบ้าง” ลุงลีเล่าด้วยสีหน้าและแววตาที่แสนเศร้า

    ไม่นานช้างพลายมงคลก็ต้องออกไปอาบน้ำพร้อมเล่นน้ำกับนักท่องเที่ยวที่เหมาทัวร์มายังหมู่บ้าน ช่วงนั้นแดดกำลังอ่อน แสงกำลังอุ่นพอดี

    “ ม่ะ ม่ะ ม่ะ ” เสียงเรียกของลุงลี ที่เอ่ยเรียกเจ้าพรายมงคล ด้วยภาษาของควานช้างที่ใช้เรียกช้างโดยเฉพาะ ลุงลีมีช้างทั้งหมด 6 เชือก วันนี้เราพาพรายมงคลและช้างอีก 5 เชือกไปอาบน้ำ ระหว่างเดินไปยังลำน้ำมูล แหล่งน้ำที่เปรียบเป็นห้องน้ำอันแสนกว้างใหญ่ของเหล่าบรรดาช้าง ลุงลีก็พูดขึ้นมาด้วยสีหน้าชื่นใจปนหัวเราะ “ช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาด สอนได้ทุกอย่างเหมือนคนเรา บางเชือกฉลาดกว่าคนเสียด้วยซ้ำ เมื่อพูดอะไร เขาก็เข้าใจในสิ่งที่เราพูดเพียงแค่เขาพูดไม่ได้ ได้แค่ส่งเสียงร้องและแสดงท่าทางออกมาเท่านั้น” เราต่างหัวเราะกับประโยคอันแสนจริงใจของลุงลี

    เมื่อมาถึงแม่น้ำ พรายมงคลส่งเสียงร้องทักทายช้างเชือกอื่นที่ลอยอยู่บนผิวน้ำกับครวญช้างและชาวต่างชาติ ลุงลีและพรายมงคลเดินลงไปยังแม่น้ำ มือทั้งสองข้างถูไปตามตัว งวงแกว่งไปมาด้วยความดีใจ ของเจ้าพรายมงคลพร้อมกับเอางวงดูดน้ำ แล้วยกขึ้นมาพ่นใส่ลุง เป็นเสมือนการเล่นน้ำด้วยกัน หลังอาบน้ำเสร็จ ลุงลีพาพรายมงคลเดินกลับบ้าน เพื่อไปกินอาหารต่อและพักผ่อน เป็นภาพที่แสดงให้เห็นความรักความผูกพันที่ไม่อาจตัดขาด ระหว่างคนเลี้ยงช้างแห่งหมู่บ้านตากลาง

    ชีวิตมีสุข…เพราะช้าง

    เช้าตรู่วันใหม่ ชาวบ้านและนักท่องเที่ยว แม้แต่นักศึกษาที่ไปศึกษาความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านต่างพากันติดตามคราญช้างออกไปหาอ้อยหาหญ้าให้ช้างกิน ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมที่ทุกคนได้ทำร่วมกัน เนื่องจากต้องหาอาหารมาก เพราะช้างมีหลายเชือกและกินตลอด 24 ชั่วโมง เมื่ออ้อยหรือหญ้าหมดช้างจะร้องไม่หยุดเหมือนเด็กอยากได้ขนม เสมือนเรียกให้เราเอาอ้อยไปให้อีก พอตกเย็นก็พาไปอาบน้ำ ชีวิตดำเนินไปแบบนี้เช่นทุกวัน

    ความยั่งยืนบนชีวิตแบบเรียบง่ายอยู่ร่วมกับธรรมชาติผู้คนในหมู่บ้านมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก่อให้เกิดความสมดุลในด้านเศรษฐกิจรายได้สังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ภายในหมู่บ้านได้ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตของคนกับช้าง ก่อนจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจโฮมสเตย์ ทัวร์ต่างชาติ รวมถึงการวิจัยของนักศึกษาแบบครบวงจรที่ผู้คนในหมู่บ้านร่วมมือกัน บางคนมีรายได้จากการพาช้างออกไปให้นักท่องเที่ยวเลี้ยง ส่วนชาวบ้านที่ไม่มีช้างต่างก็ปลูกอ้อยปลูกหญ้าส่งขายให้คนเลี้ยงช้าง ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนและให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงพึ่งพาตนเองได้ ถึงแม้จะไม่มีความเจริญและความสะดวกสบายมากนัก แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชุมชนกลายเป็นหมู่บ้านที่อยู่ดีกินดีอย่างแท้จริง

    ชาวบ้านหมู่บ้านตากลาง เล่าถึงการได้เข้ามามีส่วนร่วมกับคนในหมู่บ้านว่า บางบ้านที่ไม่มีช้าง ก็จะปลูกอ้อย ปลูกหญ้าขาย เพราะช้างในหมู่บ้านเยอะ คนที่มีช้างก็จะมาซื้ออ้อยและหญ้าจากบ้านที่ปลูก จึงทำให้คนในหมู่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายอ้อยและหญ้าตันละ 800-1,000 บาท ถ้าอ้อยสวย หญ้าสวย ก็ได้ราคาดีกว่าถึงตันละ 1,000-1,500 บาท ส่วนคนที่มีช้างก็นำช้างไปให้นักเที่ยวได้ชมและพาไปอาบน้ำ ช้างแต่ละเชือกจะได้ค่าเหนื่อย เชือกละ 800 บาท ทุกคนในหมู่บ้านเปรียบเสมือนเจ้าหน้าที่เลี้ยงช้าง และเป็นเกษตรกรปลูกอ้อย ปลูกหญ้า ในเวลาเดียวกัน

    จุดเริ่มต้นการทำโฮมสเตย์

    เมื่อหลายปีก่อน มีหญิงชายคู่หนึ่ง ผู้หญิงเป็นคนไทย ผู้ชายเป็นชาวต่างชาติ เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน แล้วบังเอิญมาเจอกับลุงลี จึงชวนลุงทำโฮมสเตย์ เพื่อให้ชาวต่างชาติหรือคนทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้การใช้ชีวิตของคนกับช้างเพิ่มมากขึ้น ลุงตกลงทำ ทั้งที่ตอนนั้นลุงก็ไม่รู้ว่าหลังจากที่ทำแล้วจะมีคนเข้ามาในหมู่บ้านช้างเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า

    “เมื่อลุงทำโฮมสเตย์ ในช่วงเดือนแรกไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา บางเดือนนักท่องเที่ยวมีแค่ 1-3 คนใน 2-3 เดือน ลุงก็ไม่ได้คิดอะไร คิดเพียงว่าได้อยู่บ้าน จะมีคนเข้ามาหรือไม่มีก็ใช้ชีวิตแบบปกติ จนกระทั่งมาถึงวันนี้เป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้วที่ได้เปิดบ้านพักโฮมสเตย์ในหมู่บ้าน มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในหมู่บ้านไม่ขาดสาย ถือเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้านตากลางให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้หมุนเวียนอยู่ในหมู่บ้านและครอบครัวของตนเอง ชาวบ้านก็ไม่ต้อง

    ออกไปทำงานพลัดถิ่นบ้านเกิดเมืองนอน ถ้าไม่ได้ทุกคนในหมู่บ้านร่วมมือกันอาจจะต้องระหกระเหินไปหางานทำกันที่อื่น” ลุงลี เล่าให้ฟัง

    ตลอดระยะเวลาที่ได้ไปสัมผัสและเรียนรู้การใช้ชีวิตของคนกับช้างที่หมู่บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ เพียงไม่กี่วัน ทำให้เราได้เห็นการพึ่งพาอาศัยของคนกับช้าง ช้างกับคน ที่มีทั้งความรักความผูกพัน ท่ามกลางป่าเขาลำเนาพงไพร พร้อมยังได้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านและทำให้คนในหมู่บ้านอยู่ดีกินดีมาถึงทุกวันนี้ แม้เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่เราก็ไม่สามารถลบความทรงจำอันแสนประทับใจไปแม้แต่น้อย และจะไม่มีวันลืม

    อย่าให้ช้างไทย…เป็นเพียงตำนานเล่าขาน จงช่วยกันอนุรักษ์ช้างให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ