More
    Monday, March 7, 2022

    หนุ่มสาวผู้ (ไม่ทน) ร้าวราน อุดมการณ์ ความฝัน และการขับเคลื่อนสังคมของคนยุคใหม่

    -

    เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2561 เวลา 13:00-16.00 น. สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ร่วมกับคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดวงสนทนา “หนุ่มสาวผู้ (ไม่ทน) ร้าวราน” ณ ห้องฉายภาพยนตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยภายในวงสนทนานี้มีคนรุ่นใหม่ทั้ง อาทิตย์ โกวิทวรางกูร สมาชิกเครือข่ายมักกะสัน,  โอม อวิรุทธ์ อรรคบุตร โปรดิวเซอร์ ภาพยนตร์ไทบ้านเดอะซีรีส์,   ฟิล์ม เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ New ground  และแบม ปณิดา ยศปัญญา ต้นแบบคนรุ่นใหม่ที่ไม่ทนต่อคอรัปชั่น มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแสดงพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในหลากหลายประเด็น

    ความร้าวรานในสังคมไทยเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญมาโดยตลอด และเราต่างรู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าไม่มีใครกล้าที่จะทลายกรอบกำแพงของความกลัวออก และสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมเป็นวงกว้างได้ก็เท่านั้น พวกเขาเหล่านี้ต่างร่วมแสดงความเห็นในมุมมองที่น่าสนใจดังนี้

    ความร้าวรานในสังคม

    ฟิล์ม เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ แอดมินเพจเกรียนการศึกษา และหนึ่งในตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่ในนามองค์กรนิวกราวด์ มองความร้าวรานที่เกิดในสังคมว่า โครงสร้างทางสังคมมีความผิดปกติ คนรุ่นใหม่ไม่มีพื้นที่สำหรับเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขด้วยตนเอง แนวคิดของเด็กบางกลุ่มอาจจะแก้ปัญหาได้ แต่กลับถูกผู้ใหญ่มองว่าเป็นไปไม่ได้ แม้แต่สิทธิ์ในการคิดยังถูกกดขี่ ความกลัวถูกปลูกฝังมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เด็กรุ่นใหม่จึงไม่กล้าแสดงออกทางความคิดด้วยเหตุผลที่ว่าหากพูดหรือแสดงความคิดเห็นออกไป จะถือว่าเป็นการกระทำที่ก้าวร้าว

    ปัญหาเชิงโครงสร้างอีกอย่างที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของสังคมไทยคือ เรามักกลัวการที่จะมีปัญหากับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า เด็กจะกลัวการมีปัญหากับพ่อแม่ นักเรียนกลัวการโดนดุด่าจากอาจารย์ผู้ที่คอยกำหนดเกรดในแต่ละปี นิสิตนักศึกษาก็เกรงกลัวการมีปัญหากับรุ่นพี่ที่ยังยึดติดกับระบบโซตัส เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเรานั้นถูกปลุกฝังรูปแบบความคิดด้านการต่อสู้กับผู้มีอำนาจให้เราเป็นฝ่ายต้องยินยอม และเมื่อเราเห็นใครสักคนลุกขึ้นมาต่อสู้กับผู้มีอำนาจจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ คนเหล่านั้นก็จะได้รับการยกย่องประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำกันได้ง่ายๆ ทั้งที่เป็นสิ่งที่ทุกคนพึงกระทำ

    หลายคนคิดว่าอำนาจเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนที่มีฐานะมั่งคั่ง เพียบพร้อมไปด้วยบารมีและบริวารจะทำอะไรสักอย่างต้องมีสิ่งเหล่านี้ก่อน จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงบางสิ่งได้ แต่ฟิล์มไม่ได้คิดเช่นนั้นไม่จำเป็นต้องมีสิ่งที่กล่าวมา เราสามารถสร้างอะไรบางอย่างได้ตั้งแต่ตอนนี้ เราเป็นเจ้าของปัญหาเราก็ต้องลุกขึ้นมาเพื่อหาสิ่งที่จะตอบสนองและหาแนวทางแก้ไขให้ปัญหานั้นคลี่คลายไปได้

    สำนวนที่ว่า ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน ถูกใช้พร่ำสอนเด็กรุ่นใหม่เพื่อไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่ดีในความรู้สึกเขา จึงเป็นเหมือนการปิดกั้นโอกาสไม่ให้เด็กทำตามความคิดที่แปลกใหม่นอกเหนือขนบธรรมเนียมเดิมๆ บางครั้งเราไม่ต้องรอให้โตเป็นผู้ใหญ่ เราลงมือทำและแก้ไขปัญหา ณ ตอนนั้นได้ เพราะหากโตไปความรู้สึกกับปัญหานี้หรือแรงฮึกเหิมจะไม่เหมือนเดิม เมื่อเวลาผ่านไปเราจะรักษาตัวเองและลืมความเจ็บปวดนั้น “ใช้ความกล้า ข่มความกลัว”

    “ถ้าถามว่าคนรุ่นใหม่ในอนาคตแบบไหนที่จะมาพัฒนาสังคม ก็เป็นคนหน้าตาแบบพวกคุณนั่นแหละครับ มันหมดยุคแล้วสำหรับลูกคนดัง หรือตระกูลนักการเมือง แต่เป็นคนแบบพวกคุณที่ไม่ได้มีแววอะไร แต่สามารถทำให้สังคมมันสะอาดขึ้นได้” ฟิล์ม กล่าว

    ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการคอรัปชั่น ก็เปรียบเสมือนประเด็นหลักที่เรามักร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างหลากหลาย และพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ทำให้ “คอรัปชั่น” เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนรุ่นใหม่ และคนในสังคม

    สุดท้ายแล้วฟิล์มได้พูดถึง 11 ข้อเสนอที่บอกถึงแนวทางของการใช้สิทธิและอำนาจของคนรุ่นใหม่ ไว้ดังนี้ 1. ยกเลิกการบ้าน เคารพเวลาพักผ่อนเด็ก สร้างวัฒนธรรมไม่ทำงานนอกเวลา 2. ยกเลิกกฎระเบียบกดขี่ บังคับตัดผม แต่งตัว ตลอดจนกิจกรรมบังคับเข้าร่วมทั้งหลาย 3. ลดอายุผู้มีสิทธิและผู้สมัครเลือกตั้ง 4. งบอุดหนุนทางการศึกษา ต้องให้เด็กตัดสินใจใช้เองทั้ง 5 อย่าง (ปัจจุบันได้แค่ 2 อย่างคืองบซื้ออุปกรณ์การเรียนและเครื่องแบบ) 5. มีศูนย์กฎหมายเยาวชน เพื่อปกป้องสิทธิคนที่อายุมากกว่า 18 แต่ยังอยู่ในวัยนักศึกษา

    1. มีระเบียบปฏิบัติ หรือ MOU ที่ชัดเจน สำหรับการรับนักศึกษาฝึกงาน เช่น ต้องให้งานที่ตรงประเภทและพัฒนาความสามารถ ไม่ใช่ให้ไปยกน้ำ ถ่ายเอกสาร ชงกาแฟ 7. สภาเด็ก เปลี่ยนวิธีการกระจายงบ เป็นอุดหนุน 1-2 เท่าจากเงินตั้งต้น โดยให้เป็นกิจกรรมที่เด็กเลือกเอง 8. มีช่องทาง “ร้องเรียน-เอาผิด” ครู และผู้มีอำนาจมากกว่า 9. มีสวัสดิการเยาวชน เพื่อลดภาระพ่อแม่ และสร้างอำนาจในการตัดสินใจเลือกชีวิตของตัวเด็ก ๆ เองมากขึ้น 10. มีการจัดสรรงบประมาณ/กองทุน/แหล่งทุน ที่สนับสนุนให้เด็กได้แก้ปัญหาของพวกเขาเองและ 11. สนับสนุนให้เกิดองค์กรวิจัยที่พยายามมองหาคุณค่าในทางวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ มากกว่าวางชุดคุณค่าเดิมเอาไว้แล้ว

    คนรุ่นใหม่ผู้ไม่ทนคอรัปชั่น

    ความร้าวรานของคนรุ่นใหม่ในทัศนะของ แบม ปณิดา ยศปัญญา นิสิตสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เปิดโปงขบวนการทุจริตการโกงเงินของศูนย์คนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น ที่สั่นสะเทือนไปทั้งประเทศ ได้กล่าวถึงช่องว่างระหว่างวัยของผู้ใหญ่กับวัยรุ่น ช่องว่างเหล่านี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะความเข้าใจคือการสื่อสาร แต่การสื่อสารก็มีข้อจำกัดด้วยมายาคติของคนต่างวัยที่มองต่างมุม ทำให้ปัจจุบันวัยรุ่นหรือที่ผู้ใหญ่มักมองว่าเป็นเด็ก ถูกจำกัดการแสดงออกและการแสดงความเห็นตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น การวิพากษ์สังคม

    แบม มองว่า เพราะช่องว่างที่เกิดขึ้นมานานและยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ทำให้วัยรุ่นไทยไม่ได้ถูกสนใจหรือยอมรับความเห็นในหลายๆ ด้าน เห็นได้จากกรณีที่เธอและเพื่อนนำเรื่องการทุจริตไปปรึกษาอาจารย์ที่เป็นผู้ใหญ่และได้รับการปฎิบัติที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ควรจะเป็น เธอมองว่ามันเป็นปัญหา และวัยรุ่นไทยที่ถูกมองว่าเป็นอนาคตของชาติจะเป็นได้อย่างไรเมื่อวิธีการสร้างอนาคตของชาติมันย้อนแย้งกับวาทกรรมดังกล่าว

    “เราเองก็มีความกลัวเหมือนคนอื่น ก่อนที่จะตัดสินใจยื่นเรื่องไป ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ก็คิดแล้วคิดอีก จนในที่สุดเราก็คิดว่า เราเรียนสายพัฒนาชุมชน ถ้าเราไม่ทำ แล้วชาวบ้านจะเป็นอย่างไร แล้วเราจะเรียนด้านนี้ไปทำไม”

    แบม ได้กล่าวถึงความรู้สึกต่อการกระทำที่กล้าหาญของเธอและเพื่อนว่า มนุษย์เราต่างเผชิญความกลัวด้วยกันทั้งสิ้น แต่เพราะความกลัวของเธออยู่บนฐานของความเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง จึงทำให้ตัดสินใจที่จะเปิดโปงและต่อสู้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบในช่วงแรก แต่ก็เพราะเธอมีความเชื่อมั่นที่ทลายความกลัวของเธอลง ทำให้วันนี้การกระทำได้สัมฤทธิ์ผลและประจักษ์ต่อคนทั้งประเทศ และยังเชื่อมโยงไปสู่การทลายขบวนการทุจริตในหลายๆ จังหวัดเกือบทั่วทั้งประเทศ นั่นทำให้เธอมั่นใจและยังเชื่อมั่นต่อไปว่า หากเธอกล้าหาญในสิ่งที่ถูกต้อง ผลของมันจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไม่มากก็น้อย

    ร่องรอยความผิดปกติ

    อาทิตย์ โกวิทวรางกูร สมาชิกเครือข่ายมักกะสัน กล่าวว่า ความกล้าหาญกลายเป็นเรื่องแปลกในสังคมนี้ และสังคมเราก็มีความผิดปกติอยู่ การต่อต้านคอรัปชั่น เปิดโปงขบวนการทุจริตอย่างที่แบมทำ มันก็เป็นเรื่องปกติที่เราควรจะทำได้ หรือช่วยกันทำให้สังคมมันดีขึ้นผ่านการกระทำต่อหน้าที่ อาจจะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่จริงๆ เเล้วทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหนของสังคม ก็ล้วนรู้สึกว่าการคอรัปชั่นมันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เมื่อผ่านหน้าผ่านตาหรือเป็นเรื่องของคนรู้จัก เราก็อาจตัดสินใจปล่อยผ่านไป เเต่กับกรณีที่แบมทำ ทำให้รู้สึกว่า ประเทศเราต้องมีคนลักษณะนี้ให้มากขึ้น

    การแบ่งชนชั้นก็ถือเป็นความผิดปกติทางสังคมที่เราเผชิญกันในชีวิตประจำวัน อย่างพวกที่จอดรถในกรุงเทพฯ หรือในห้าง หากลองสังเกตจะพบว่าที่จอดรถพวกนี้มันจะมีบัตรวีไอพี บัตรสปอร์ต นั่นคือร่องรอยของความผิดปกติในสังคม ซึ่งจะเห็นได้ว่าขอบเขตของชนชั้นมีความหลากหลาย แล้วเฉดของคนชนชั้นกลางตลอดจนชนชั้นล่างก็จะถูกละเลยไปโดยปริยาย

    มากกว่ากระจายอำนาจ คือ พวกเรานี่แหละต้องเชื่อว่า “สิทธิในการกำหนดอนาคตไม่มากก็น้อยอยู่ที่พวกเรา” ไม่ว่านโยบายรัฐบาลจะเป็นอย่างไร นั่นก็เรื่องของเขา เรื่องของเราคือต้องเชื่อในสิ่งที่เราสามารถทำได้ เพราะนี่คือหน่อของประเทศ การดูเเลของพวกเราเเต่ละหน่อคือการดูเเลอนาคตของประเทศโดยที่ไม่ต้องออกไปช่วยคนอื่นก็ได้ ประเทศคือผลรวมของพวกเรา เพราะฉะนั้นการดูเเลหน่อไม้หน่ออ่อนของเราเองคือเรื่องสำคัญ

    ถ้าเรามีลักษณะความเชื่อมาถึงตรงนี้ได้เเล้วก็ค่อยสร้างเครื่องมือ สร้างทีละกลุ่มประเด็นขึ้นมา เแล้วมาดูว่า คนธรรมดาที่อยู่ในเรื่องนี้มันไม่มีปัญญาคิดจริงๆ หรือ ช่วยพิสูจน์ให้เห็นหน่อยได้ไหม เพราะตรงนี้เป็นจุดตั้งต้นใหม่ของวิถีการกำหนดทิศทางในเรื่องต่างๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นการหาความต้องการของคนว่า ต้องการอะไรแบบไหนเพื่อจะทำในสิ่งที่ต้องการ ยิ่งทรัพยากรบ้านเรามันยิ่งจำกัด จะต้องเข้าใจในเรื่องพวกนี้ให้มากเเละใช้เงินให้คุ้ม คอรัปชั่นให้น้อยมันก็ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญในการไม่ให้ประเทศของเรายิ่งห่างไกลจากประเทศอื่นไปเรื่อยๆ

    เรามองเมืองในฐานะร่องรอยความผิดปกติทางสังคม เมืองเป็นผลผลิตในการตัดสินใจ มันต้องมีอะไรผิดพลาดในการบริหารประเทศแน่นอน

    “เมื่อไรประเทศเราจะมีความเป็นตัวของตัวเองในการพัฒนาประเทศเสียที” อาทิตย์ โกวิทวรางกูร กล่าวทิ้งท้าย

    พื้นที่สื่อกับข้อจำกัดในการแสดงออก

    โอม อวิรุธ อรรคบุตร โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ ไทบ้าน เดอะซีรีส์ กล่าวว่า เรื่องการทำสื่อเป็นเรื่องของการแทรกแซงในระบบบางอย่าง ที่เข้ามาควบคุมในการที่เราจะเล่า จริงเท็จมันมีหลายรูปแบบและการยอมรับเรื่องลิขสิทธิ์และเรื่องของการทำผลงานยังเป็นที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทยและปฏิบัติยากในการยอมรับความผิดในเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งก็พยายามแทรกซึมลงไป ความจริงกฎบังคับมันมีมานานแล้วแต่ก็ยังถูกบังคับใช้ไม่ได้เสียที

    การศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงการมีที่ยืนในสังคม โอมได้เล่าถึงการตัดสินใจเรียนต่อของเขาว่า “จริงๆ แล้วก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ผมชั่งใจว่าจะเรียนกรุงเทพฯ หรืออีสานดี เลยตั้งแง่ว่าถ้าเราไปเรียนกรุงเทพฯ จะได้อะไร เลยวิเคราะห์กับเพื่อนว่าถ้าไปเรียนกรุงเทพฯ คนก็จะเยอะ และต้องเกิดการแข่งขันกันมากขึ้น เราคงมีกำลังสู้เขาลำบาก เพราะที่เราจะไปก็ใช้เงินพอสมควรต้องมีทุนในเรื่องของ Production ซึ่งมันก็อยู่ที่เงินด้วยส่วนหนึ่ง เราเลยเลือกเรียนมหาสารคาม เพราะเรามองว่าต้นทุนมันจะน้อยกว่า การทำงานอยู่กรุงเทพฯ ขยับตัวนิดเดียวก็เสียเงินแล้ว”

    สิ่งที่จะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนสังคมได้ดีที่สุดคือ “โอกาส” ส่วนตัวมองว่าอยากให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ที่อยู่สายบันเทิง เพราะว่าการที่โอมมาถึงจุดๆ นี้ได้ล้วนมาจากโอกาส เรามีจุดยืนในหนังโรง ก็เพราะกระแสออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้ไปฉายหนังในโรง ซึ่งมันยังขาดโอกาสในการฉาย คือคนภายนอกจะไม่ทราบเลยว่าต้องเสียค่าโรงฉาย ซึ่งหนังไทยหลายๆ เรื่อง หรือเกือบจะทุกเรื่องจะต้องจ่ายให้โรงฉายภาพยนตร์ ส่วนการแบ่งรายได้ก็แปลก อย่างว่าทำไมหนังไทยไม่ก้าวไปข้างหน้าเสียที หนังต่างประเทศอย่างค่าตั๋วก็จะหักครึ่งหนึ่งไปกับการฉายภาพยนตร์ แต่หนังไทยหักมากกว่านั้น อย่างเช่นในต่างประเทศค่าตั๋ว 200 ค่าฉายรอบหนึ่งก็ 100 แล้ว แต่หนังไทยก็ร้อยกว่าบาทที่หักไปจากค่าตั๋ว และจะต้องเอาไปคูณแต่ละรอบแต่ละวันที่ฉายอีก ซึ่งลักษณะนี้มันยังขาดโอกาส แล้วเด็กรุ่นใหม่ที่จะกลับไปจุดนั้น ถ้าเขามีโอกาสในส่วนนี้มันอาจจะลดไปหรือหายไปเลย มันจะมีคนกลุ่มใหม่ๆ อย่างเราที่จะสามารถมีพื้นที่ในการทำงานได้มากขึ้น ซึ่งก็ยังขาดโอกาสในจุดนี้ ยังไม่ค่อยยุติธรรมสำหรับคนทำหนังในปัจจุบัน

    26239687_982270281930288_7141127259163524809_n.jpg

    ขอบคุณรูปภาพจาก page Facebook:Jam

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ