More
    Wednesday, March 2, 2022

    ‘ความกล้า’ ของ ฟลุคเก้า ธีรภัทร์ กับเรื่องราวที่ ‘ไม่กล้า’ บอกใคร

    -

    “เขาด่าเหมือนเราเป็นโรค ด่าในสิ่งที่เรา ‘เป็น’ แต่คนอื่นไม่อยากที่จะเป็น มันเป็นโรคที่รักษาไม่หาย เราก็โอเคนะที่เป็นกะเทย แต่การเป็นกะเทยสำหรับคนอื่นมันเลวร้าย เราเลยต้องปกปิดตัวเองมา ตลอด”

    ฟลุคเก้า–ธีรภัทร์ พรมอารักษ์ เอ่ยประโยคนี้ในห้วงหนึ่งของบทสนทนาอันยาวนานนี้

    ผมเชื่อว่าใครหลายๆ คนต่างเคยประสบพบเจอกับเหตุการณ์ที่ถูกบุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทำต่อตัวเราในด้านลบ โดยสิ่งนั้นอาจสร้างบาดแผลบนร่างกายหรือในจิตใจ

    โดยบาดแผล ‘บนร่างกาย’ นั้นสามารถรับรู้ได้ว่ามันหายหรือยังไม่หาย แต่บาดแผล ‘ภายในจิตใจ’ เรานั้นไม่อาจรับรู้ได้เลย ว่ามันได้หายไปจากตัวเราหรือยัง

    วันนี้ผมมีนัดกับคนคนหนึ่งที่รู้จักกันมาตั้งแต่เริ่มเรียนปี 1 เขาเรียนอยู่ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะการแสดง และเป็นที่รู้จักกันดีในคณะ ทั้งเป็นเด็กกิจกรรมมากความสามารถ เป็นผู้นำในด้านต่างๆ มีผลการเรียนที่ดีเยี่ยม เป็นที่ไว้วางใจสำหรับเพื่อนและอาจารย์ ในเร็วนี้เขากำลังจะคลอดผลงานการเขียนบทและกำกับเอง เป็นสิ่งที่เขาภูมิใจอย่างมาก เรื่อง music love song แด่…คุณคนพิเศษ
    IMG_1217

    ตอนนี้เราอยู่กันใต้ต้นไม้ใหญ่ใจกลางคณะ เสียงนกร้องในยามบ่ายแก่ๆ เป็นที่เหมาะมากสำหรับแก่การพูดคุยเรื่องราวที่ผ่านมาของเขา กว่าที่เขาจะส่งมอบรอยยิ้ม เสียงหัวเราะให้เราได้นั้น เขาเคยผ่านอะไรมาบ้าง

    “เราเรียนการแสดง เวลาจะเขียนบทตัวละครตัวหนึ่งได้ เราต้องรู้ถึง inside ข้างในตัวนั้นจริงๆ รู้ว่าเขาผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้างถึงได้เป็นเขาทุกวันนี้ ชีวิตของเราทุกคนก็เหมือนกัน โลกคือละคร คนเขียนบทคือคุณเอง” ธีรภัทร์เอ่ยขึ้น

    ภายใต้ม่านของชีวิตของฟลุคเก้า ที่เปรียบชีวิตดังบทละคร ผมจะขออาสาพาทุกท่านมาร่วมอ่านบทละครของเขา นั่งเก้าอี้ของท่านให้สบาย และไปชมละครเรื่องนี้ไปด้วยกัน
    IMG_1209

    ตัวตนที่ปิดไว้ข้างใน

    ภาพของเด็กชายคนหนึ่งที่กำลังเล่นวิ่งเล่นกับเด็กผู้หญิงนับ 10 คน เขาไม่เคยรู้สึกเลยว่าเพื่อนเหล่านี้ต่างกับเขา มีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตแบบเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง

    “ตอนแรกก็เป็นเด็กผู้ชายปกตินี่แหละ แล้วทีนี้ประมาณว่าเพื่อนผู้ชายเขาเล่นกันรุนแรง แล้วเราหัวแตกกลับมาบ้าน พอน้าเห็นเลยไม่ให้ไปเล่น เราเลยต้องไปเล่นกับพี่ๆ ที่เป็นผู้หญิง เลยซึมซับจากจุดนั้นมา”

    ในช่วงกลับมาบ้าน เขาก็ต้องทำตัวเหมือนเด็กชายทั่วไป โดยที่ทุกคนในครอบครัวไม่รู้เลยว่าภายในตัวเขา มีอีกคนซ่อนอยู่

    “เคยแอบเต้นในห้องน้ำนะ หรือบางครั้งแม่ซื้อเสื้อผ้ามาให้ก็ไม่ชอบ ชอบเสื้อของพี่สาวมันมีความเป็นผู้หญิงสีหวานเช่นสีชมพู ชุดเป็นสีดำชุดทหารเราจะไม่ชอบชอบพวกสีสัน บางครั้งเราก็แอบใส่แอบเล่นอยู่ในห้อง”

    พ่อกับแม่ในช่วงแรกไม่ยอมรับในตัวตนเขา พยายามที่จะให้ไปเล่นกับเพื่อนที่เป็นผู้ชาย ซื้อของใช้หรือเสื้อผ้าที่ขัดต่อจิตใจของเขาเป็นอย่างมาก
    IMG_1215

    ในช่วงมัธยมต้นที่ธีรภัทร์ต้องย้ายมาอยู่กับพ่อแม่ เขาจะไม่พูดคำว่า ‘ครับ’ เพราะรู้สึกว่าการพูดครับมันบ่งบอกว่าคือเพศชาย เขาก็จะพยายามพูดแบบไม่มีคำลงท้าย แต่ก็ไม่กล้าที่จะพูด ‘ค่ะ’ ด้วยเพราะว่าโดนพ่อตี วัฒนธรรมไทย การมีหางเสียง ครับค่ะ ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากและยิ่งเป็นคนที่มีอายุน้อยกว่าการไม่มีหางเสียงย่อมตามมาด้วยการถูกมองไม่ดีและเป็นเด็กไม่มีมรรยาท แต่เขาก็ทำให้ผมคิดได้ว่าการที่เขาเป็นเพศทางเลือกไม่ได้ชอบที่เป็นเพศตามแบบแผนหรือชายแท้หญิงแท้ คำว่า ครับค่ะ คงเป็น อีกแผลหนึ่งที่กดทับกลุ่มคนเหล่านี้ได้เหมือนกัน

    “แล้วโดนตำหนิบ่อยไหมที่เวลาพูดไม่มีหางเสียง” ผมถาม

    “บ่อยมาก เพราะว่าไม่ได้ทำกับพ่อแม่อย่างเดียว ไปทำกับคนอื่นด้วย เวลาไปซื้อของกับคนแก่ที่รู้จัก ไปซื้อของเราก็จะพูดคำว่า ‘เอาผัก 10 บาท’ เราก็จะไม่พูดครับ แล้วเขาก็จะด่าว่าเราพูดไม่มีหางเสียงพูดห้วนไป แล้วแม่ก็จะมาตีเรา” เขาพูดจบพร้อมหัวเราะเล็กน้อย

    แน่นอนว่าการใช้ความรุนแรงล้วนเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ยิ่งเลวร้ายไปกว่านั้นถ้าตัวผู้ถูกกระทำไม่มีทางสู้หรือตอบโต้ เพียงเพราะสังคมเลือกที่จะมองไม่เห็นความรุนแรงนั้น

    IMG_1230

    บาดแผล

    ภาพของเด็กชายที่กำลังจ้องมองเด็กคนอื่นๆ วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน ในหัวใจดวงน้อยของเขาขอสิ่งที่อยากได้ที่สุดคือ อยากเป็นคนปกติเหมือนคนอื่นๆ

    “เหมือนเราอยู่ตัวเดียวในห้องตั้งแต่อนุบาล แล้วพอเพื่อนรู้ว่าเราเป็นตุ๊ดเพื่อนก็แกล้งเราตลอด ไม่ใช่แค่คนเดียว ทั้งรุ่นพี่ เขาก็แกล้งเราแล้วเราก็กลายเป็นคนดังของโรงเรียนโดยที่ไม่รู้ตัว ดูพิเศษเนอะเป็นดังแต่โคตรแย่เลย”

    ธีรภัทร์รู้สึกไม่อยากไปโรงเรียนเพราะโดนแกล้งตลอด ทั้งเอากระเป๋าไปซ่อน ถูกดูถูก ด่าทอ แกล้งขัดขาจนหกล้มหัวแตก ตั้งแต่นั้นมาเขาสัญญากับตัวเองว่าจะไม่เล่นกับเพื่อนผู้ชายเลย และเป็นแบบนี้จนถึงมัธยมต้น

    IMG_1225

    “ทำไมถึงเลือกที่จะไม่ไปปรึกษาครู” ผมถามเขา เพราะสงสัยว่าเขาทนอยู่อย่างไรถึง 11 ปีโดยที่ไม่ยอมบอกใครแม้กระทั่งคนที่ดูแลเราที่โรงเรียน

    “ครูอย่าให้พูดถึงเลย เราเคยเจอครูที่ไม่ชอบกะเทยตอน ม.2 ทั้งชั่วโมงไม่เรียนนั่งกัดแต่กะเทย มีเหตุการณ์หนึ่งจำได้ไม่ลืมคือตอนนั้นเราเรียนวิชาพระพุทธเรื่อง กระทู้ธรรม ครูก็ถามเราว่า “ธีรภัทรเธอกินอะไรเป็นอาหารเหรอ” ซึ่งเราก็เลยตอบว่ากินข้าวค่ะ แล้วนางก็พูดว่า “อ้าวเหรอครูนึกว่าเธอกินพวกกามตัณหากิเลส” ต่อหน้าเพื่อนทั้งห้อง”

    ยังไม่หมดเท่านั้นบางครั้งก็โดนครูพูดใส่ขณะสอนว่า เกิดเป็นกะเทยจะต้องตกนรก หรือโตขึ้นไปจะต้องเป็นเอดส์ตาย ใช่คุณฟังไม่ผิด นี่คือสิ่งเกิดขึ้นจริงในชีวิตของธีรภัทร์

    “มันบั่นทอนชีวิตเรามาก เพราะครูคือแม่พิมพ์ของชาติ ใครจะด่าจะยังไงเราไม่สน แต่ครูคือคนที่เรานับถือไง เราก็ไว้ใจครูเลยแสดงตัวตนว่าเราเป็นกะเทย ทั้งๆ ที่อยู่บ้านเราเป็นไม่ได้ แต่กลายเป็นครูตำหนิเกลียดเรา ก็เลยรู้สึกว่าเราจะควรเคารพต่อหรือไม่ควรเคารพต่อดี”

    ธีรภัทร์พยายามต่อต้านสังคมทั้งโรงเรียนและบ้าน หรือแม้กระทั่งตนเอง

    “บางทีเราก็ยังไม่ยอมรับตัวเองด้วยซ้ำ เพราะการเป็นแบบนี้มันรู้สึกว่ามันไม่เข้าพวก ผู้หญิงเล่นกับเราก็จริง แต่ว่าเราจะไปเข้าห้องน้ำกับเขาก็ไม่ได้ถูกไหม เรื่องของผู้หญิง เช่นประจำเดือนเราก็ไม่รู้ว่าคืออะไรด้วยซ้ำเพราะไม่มีไง แล้วพอเราจะไปกับเพื่อนผู้ชายก็ไม่ได้เพราะเขาจะแกล้ง”

    IMG_1226

    ภาพของนาฬิกาตายที่เข็มทั้งสามหยุดเดิน คงไม่มีใครมองมันเพราะมันไร้ค่าไร้ประโยชน์ เด็กชายวัย 15 รู้สึกเช่นนั้นเหมือนนาฬิกาที่ตายโดยที่มีใครเอาถ่านก้อนใหม่มาเปลี่ยนให้ และถูกมองข้ามจากใครหลายๆ คน

    การเรียนของธีรภัทร์แย่มาก เป็นเพราะตัวเขาไม่ยอมไปเรียน และในขณะเดียวกับก็ไม่อยากกลับบ้านด้วย การที่ไม่เหลือใครมันร้ายแรงต่อจิตใจของเขาอย่างมาก เขาทั้งหนีออกจากบ้าน หรือคิดถึงขั้นฆ่าตัวตายก็มีมาแล้ว

    “แล้วจุดไหนที่มันดีขึ้น” ผมถาม

    “จุดที่เรายอมรับตัวเองและไปบอกความจริงกับแม่”

    IMG_1211

    come out

    วันนั้นเป็นเหตุการณ์ตอนมัธยมปลาย ธีรภัทร์ได้ไปแสดงงานที่โรงเรียนแล้วต้องแต่งตัวเป็นผู้หญิง โดยที่เขากลับมาบ้านโดยที่ไม่ได้เปลี่ยนชุด ในใจก็กลัวแม่จะตี แต่เขาทนไม่ได้ที่จะปกปิดตัวเองอีกแล้ว

    เขาเข้าไปนั่งลงข้างๆ แม่หันมามองเขาพร้อมกับพูดว่า “แต่งตัวเป็นผู้หญิงมาเหรอ” ในใจเขากังวลสุดขีดกลัวทั้งถูกด่าและถูกตี แต่เขาก็พยายามรวบรวมความกล้าพร้อมพูดออกไปว่า “แม่รับได้ไหมที่เป็นแบบนี้” แม่นิ่งไปสักพักแล้วพูดว่า “รับได้ แม่รู้นานแล้ว”

    “แม่ตอบมาสั้นๆ แค่นี้ ตอนนั้นมันโล่งมากเหมือนยกเขาออกจากอก” ธีรภัทร์ตอบผมหลังจากเล่าเหตุการณ์การ come out หรือการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีแบบที่ต้องการของเขา นับตั้งแต่ครั้งนั้นเขาใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่โดยไม่สนว่าใครจะมองว่าเขาเป็นเพศอะไรก็ตาม เพียงแค่คนที่เขารักมองเขาเป็นแบบที่เขาเป็นก็เพียงพอแล้ว

    IMG_1212

    เขาเริ่มอยากที่จะทำให้แม่ของเขาภูมิใจ โดยการหาเงินเข้าครอบครัวโดยเริ่มจากการสอนรุ่นน้องเต้นงานโรงเรียน เขามีความสามารถด้านการแสดงตั้งแต่เด็กจึงเป็นส่วนช่วยในการหาเงิน ทำงานเซเว่นหรือเป็นพนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหารเขาก็ทำหมด “มีความสุขมากได้เงิน 200 บาทครั้งแรก เราให้แม่หมดเลย” เขากล่าวขึ้นพร้อมกับรอยยิ้ม

    การที่เขาเป็นแบบนี้มันอาจจะทำให้คนรอบข้างมองไม่ดี แต่สิ่งนี้คือแรงผลักดันชั้นดีที่ทำให้ต้องก้าวต่อเพื่อที่ทำให้ พ่อกับแม่ ภูมิใจในตัวเขา

    After a hurricane comes a rainbow เนื้อร้องท่อนหนึ่งของเพลง firework ทำให้เข้าใจในเหตุการณ์นี้ได้ว่าเมื่อเหตุการณ์ร้ายๆ ก็ต้องย่อมมีเหตุการณ์ดีๆ ตามมา เพียงแค่คุณลองจุดไฟความกล้าในตัวคุณก้าวออกไปเดินหน้าต่อรับรองว่ามันต้องดีขึ้น

    “ถ้ามีเครื่องไทม์แมชชีนแล้วอยากย้อนเวลากลับไปบอกอะไรกับตัวเองในตอนเด็กๆ” ผมถามคำถามที่มักอยู่ในบทจบของการสัมภาษณ์ ธีรภัทร์หัวเราะเบาๆ พร้อมเอ่ยว่า

    “อยากบอกกับตัวเองว่าให้มีความกล้า จุดหนึ่งที่เราเลือกที่จะตัดความกลัวออกไป แล้วแสดงความกล้ากับตัวเองขึ้น เพื่อที่จะแสดงว่าฉันมีตัวตนนะ คุณจะ comment อะไรฉันก็ได้แต่คุณอยู่ตรงนั้นพอ อย่ามาล่วงเกินทำให้ฉันต้องเสียหาย แสดงให้เห็นว่าฉันไม่ชอบนะฉันซีเรียส ทำให้เขาเห็นเลยว่าเราก็พร้อมที่จะสู้
    IMG_1220

    “ทุกอย่างมันต้องใช้ความกล้า จะพูดก็ต้องอาศัยความกล้า จะเล่นก็ต้องอาศัยความกล้า จะมองก็ต้องอาศัยความกล้า เลยคิดถึงว่าถ้าจะขอบคุณก็ต้องขอบคุณความกล้ามากกว่าเพราะถ้าไม่กล้าคงไม่มาถึงจุดนี้”

    “สุดท้ายคือขอบคุณความกล้าที่จะเป็นตัวเองแบบที่อยากเป็น”

    เรื่องและภาพ เกียรติก้อง เทียมธรรม

     

     

     

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ