More
    Tuesday, March 1, 2022

    นิสิต มมส กู้เงินนอกระบบ เจอดอกเบี้ยโหดร้อยละ 30

    -

    ร้านรับฝากผุดรอบ มมส บางรายดอกเบี้ยสูงร้อยละ 30 นิสิตเผยยอมใช้บริการเพราะจำเป็น ยอมรับรู้ไม่เท่าทันเล่ห์กล นักวิชาการชี้เทคนิคการแบ่งเก็บดอกเบี้ยเป็น 3 ส่วน ครั้งละ 10 % เลี่ยงกฎหมาย ย้ำนิสิตควรอ่านสัญญาให้ละเอียดก่อนกู้  

    กรณีลูกหนี้นิสิต มมส ที่หันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบจากร้านรับฝากแห่งหนึ่งย่านท่าขอนยาง โดนผู้ประกอบการปล่อยเงินกู้เรียกดอกเบี้ยโหดร้อยละ 30 ต่อเดือน เกินกว่าที่กฎหมายได้กำหนดไว้ และมีการทำสัญญาที่ไม่โปร่งใสพร้อมกับวิธีเก็บดอกเบี้ยที่ซับซ้อน ผิดทั้งกฎหมายแพ่งและอาญา มีโทษทั้งจำและปรับ

    นายต่อ (นามสมมติ) อดีตนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยว่า กู้เงินนอกระบบมาแล้ว 2-3 ครั้ง เพราะมีปัญหาเรื่องการเงินจึงพึ่งเงินกู้นอกระบบ ทำสัญญากู้ที่ร้านรับฝากแห่งหนึ่งย่านท่าขอนยาง และการกู้ในแต่ละครั้งมีการเขียนสัญญาเงินกู้ซึ่งมีรายละเอียดที่ซับซ้อน ในใบสัญญานั้นมีการเว้นช่องว่างสำหรับกรอกข้อมูลไว้เป็นจำนวนมาก และต้องใช้เอกสารสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านประกอบการกู้ด้วย โดยผู้ประกอบการปล่อยเงินกู้ตั้งเงื่อนไขขึ้นมาเองในการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งเหตุผลที่ตนกู้เงินนอกระบบเพราะทางบ้านต้องส่งเงินให้ทั้งตนและพี่สาวเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้หาเงินไม่ทัน และไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต โดยตนกู้เงินจากร้านรับฝากดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 4,500 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 30

    นายต่อ เผยต่อว่า มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ซับซ้อน คือ 1 เดือนเก็บดอกเบี้ยถึง 3 รอบ แบ่งเป็น 10 วันต่อหนึ่งครั้ง เงินต้น 4,500 บาท ต้องจ่ายดอกเบี้ย 450 บาทต่อ 10 วัน การเรียกเก็บเงินดอกของผู้ปล่อยเงินกู้จะบอกผ่านเฟซบุ๊กแจ้งเข้ามาว่าถึงกำหนดจ่าย สามารถจ่ายดอกเบี้ยที่ร้านหรือโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร เมื่อเลยวันกำหนดจ่ายดอกเบี้ย ผู้ประกอบการเงินกู้ทวงถามโดยโทรติดต่อเข้ามือถือของตน ตอนนั้นประจวบเหมาะกับผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ ส่งผลให้ตนโดนรีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัย อีกทั้งส่งดอกเบี้ยไม่ไหว จึงได้ออกไปทำงานเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย เมื่อผลัดการจ่ายดอกเบี้ยมาหลายงวด ผู้ปล่อยเงินกู้รู้สึกไม่พอใจ ประจานตนบนสื่อโซเชียลมีเดียทำให้อับอายขายหน้า ตนจึงปิดการติดต่อสื่อสารทุกอย่าง ผู้ประกอบการปล่อยเงินกู้ติดต่อตนไม่ได้ เดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดชอบแทน เมื่อครอบครัวรับรู้ว่าตนได้ออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อหนีเงินกู้นอกระบบ ครอบครัวรู้สึกโกรธมากและตนเองก็เสียใจกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้น

    “ ส่วนเรื่องเงินกู้ครอบครัวรับผิดชอบโดยการจ่ายให้ เราคิดว่าเรากู้มาแล้วเราจะรับผิดชอบได้ แต่มันไม่ใช่อย่างที่คิด และคิดไม่ถึงว่าการที่เราไปกู้เงิน จะส่งผลกระทบกับคนอื่นและทำให้คนอื่นต้องมารับผิดชอบแทน ” นายต่อ กล่าว

    นางสาวมะลิ (นามสมมติ) นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อนผู้ค้ำประกันของนายต่อ เล่าว่า นายต่อมีปัญหาเรื่องการเงิน จึงพึ่งเงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยแพงร้อยละ 30 บาทต่อเดือน ขณะนั้นเขาขาดคนค้ำประกันเงินกู้ จึงขอให้ตนช่วยค้ำประกัน ในการเขียนสัญญาเงินกู้นั้นใช้สำเนาบัตรประชน สำเนาทะเบียนบ้านในการกรอกข้อมูลการค้ำประกัน มีการเซ็นสัญญายอมรับหากผู้กู้หลบหนี ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบแทนทั้งหมด และมีการประทับลายนิ้วมือเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อนายต่อหลบหนีไม่เรียนต่อไม่ใช้หนี้ดอกเบี้ย ผู้ประกอบการปล่อยเงินกู้ติดต่อไม่ได้ จึงแจ้งตนมา ซึ่งตนเป็นผู้ค้ำประกันและบอกว่าหากนายต่อยังไม่จ่ายดอกเบี้ย ตนต้องใช้หนี้แทนทั้งหมด ทำให้รู้สึกกลัวและเป็นกังวลจึงโทรศัพท์หานายต่อ แต่ก็ติดต่อไม่ได้ เดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกันที่ผู้ประกอบการปล่อยกู้เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเงินห้าพันกว่าบาทที่ตนต้องรับผิดชอบ

    “รู้สึกเครียดมาก ทนการทวงเงินจากผู้ประกอบการปล่อยกู้ไม่ไหว จึงพยายามติดต่อไปยังครอบครัวของนายต่อ เล่าถึงปัญหาที่กู้เงินนอกระบบแล้วค้างชำระดอกเบี้ยทำให้ตนเดือดร้อน ครอบครัวเขารับปากว่าจะรับผิดชอบ ความรู้สึกที่เหมือนภูเขาทับตรงหน้าอกอยู่ทุกวัน หายไปหมดไร้ความวิตกกังวล แต่รู้สึกเสียใจที่รักและหวังดี เคยช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ แต่กลับหลบหนีและทิ้งปัญหาไว้ให้ตนเผชิญ ” นางสาวมะลิ กล่าว

    ด้าน นายจิมมี่ (นามสมมติ) นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้กู้เงินนอกระบบอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า ตนรู้จักร้านรับฝากแห่งหนึ่งย่านท่าขอนยางซึ่งเปิดให้กู้เงินนอกระบบด้วย ตอนนั้นตนติดเที่ยวกลางคืน ดื่มสุรา ปาร์ตี้กับเพื่อนเกือบทุกคืน เงินที่ครอบครัวส่งมาให้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไม่พอ จึงหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง ซึ่งกู้เงินมา 5 พันบาท ใช้ดอกเบี้ยร้อยละ 30 ต่อเดือน ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายตกเดือนละ 1,500 บาท บางครั้งไม่มีเงินใช้ต่อดอกเบี้ยก็ต้องหาสิ่งของมีค่าไปจำนำ เช่น โทรศัพท์มือถือ รถจักรยานยนต์ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก หรือหยิบยืมเงินจากเพื่อนหรือพี่คนรู้จักมาใช้ต่อดอกเบี้ยไปก่อน หากปล่อยไว้นานผู้ปล่อยเงินกู้จะเอาเงินดอกเบี้ยที่ค้างจ่ายไปบวกเพิ่มในเงินต้นแทน ซึ่งเป็นการเพิ่มเงินต้นให้มากขึ้นกว่าเดิม

    นาย จิมมี่ เล่าต่อว่า การเก็บดอกเบี้ยแต่ละครั้งผู้ปล่อยเงินกู้เรียกเก็บผ่านการโอนเงินและแจ้งหลักฐานการโอนเงินทุกครั้ง หากชำระดอกเบี้ยช้า ผู้ประกอบการปล่อยเงินกู้จะคิดเพิ่มค่าเกินกำหนดวันจ่ายวันละ 50 บาท หรือ 1% ของเงินต้น ซึ่งตนรู้สึกสงสารครอบครัวที่ทำงานหาเงินส่งให้เรียนอย่างยากลำบาก แต่กลับเอามาใช้ดอกเบี้ยเงินกู้ ทุกวันต้องนอนคิดหาหนทางหาเงินเพื่อมาชำระดอกเบี้ย บางครั้งเครียดจนนอนไม่หลับกระทบต่อการเรียน

    “ คนที่ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยแพง เปรียบเหมือนการทำนาบนหลังคน เห็นแก่ได้หาผลประโยชน์ใส่ตนเอง โดยใช้วิธีเบียดเบียนขูดรีดเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ปัจจุบันครอบครัวรับรู้เรื่องและช่วยเหลือโดยนำเงินมาปิดบัญชีเงินกู้นอกระบบให้ ช่วยคลายความกังวลจากการที่ต้องดิ้นรนหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละเดือน และสัญญากับตัวเองว่าจะไม่หันพึ่งเงินจากการกู้นอกระบบอีกเด็ดขาด ” นายจิมมี่ กล่าว

    ดร.ติณณ์ ชัยสายัณห์ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ข้อมูลว่า พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 ว่าด้วยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยห้ามเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราดอกเบี้ยนั้นถือเป็นโมฆะ เรียกคืนได้เฉพาะเงินต้น และกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในการทำหนังสือสัญญากู้ยืม เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินกำหนดมีโทษจำคุกปรับไม่เกินสองแสนบาทและ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 8,11 ห้ามผู้ทวงหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะข่มขู่ ประจาน ทำร้ายร่างกาย พูดจาดูหมิ่นเปิดเผยความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้คนอื่นหรือบุคคลที่สามรู้ ที่ทำให้ลูกหนี้เกิดความอับอาย มีโทษทางอาญาจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    “ ปัญหาที่พบบ่อยคือการกู้เงินนอกระบบ ควรอ่านสัญญาก่อนเขียน หากผู้ประกอบการเงินกู้ให้เว้นช่องว่างในสัญญา ควรถามว่าเว้นเพื่ออะไร ในอนาคตผู้ประกอบการเงินกู้สามารถเขียนตัวเลขเงินที่เกินจากความเป็นจริง ใส่ลงไปแทน เวลาฟ้องร้องศาลจะพิจารณาหลักฐานที่เป็นหนังสือลงลายมือผู้ที่กู้เป็นสำคัญ แต่ถ้าไม่มีการบันทึกเป็นลายลักอักษรก็ไม่สามารถฟ้องร้องสู้คดีได้ ” ดร.ติณณ์ กล่าว

    หนังสือพิมพ์สื่อมวลชน รายงาน

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ