More
    Saturday, February 26, 2022

    มมส ยันการสอบ MSU Exit – Exam วัดคุณภาพนิสิตได้

    -

    มมส ยันการสอบ MSU IT Exit – Exam และ MSU English Exit – Exam สามารถวัดคุณภาพของนิสิตทุกคณะได้จริง แจงนิสิตต้องเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง ชี้จะมีการรายงานข้อมูลและจำนวนนิสิตที่ไม่ผ่านการสอบไปทุกคณะและมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้บริหารรับทราบและจัดทำแผนปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้านนิสิตเผยอยากให้มีการสอบ MSU Exit – Exam ต่อไป แต่ควรมีการปรับปรุงข้อสอบให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น

                ตามที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ได้มีการจัดสอบ MSU Exit – Exam ขึ้นเพื่อเป็นการประเมินคุณภาพด้านภาษาอังกฤษ (MSU English Exit – Exam) และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (MSU IT Exit – Exam) เป็นนโยบายบังคับสำหรับนิสิตระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 ทุกคณะ โดยเกณฑ์การเข้าสอบจากจำนวนนิสิตทั้งหมดของแต่ละคณะคิดเป็น 80% เกณฑ์ในการสอบผ่านของนิสิตแต่ละคนคือ 50% แต่จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีนิสิตอีกหลายคนไม่ผ่านในการสอบครั้งนี้ จึงเกิดคำถามขึ้นว่าการสอบ Exit – Exam นั้น สามารถวัดคุณภาพของนิสิตได้จริงหรือไม่

                ผศ.ดร.ดวงเด่น นาคสีหราช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ภาควิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงการสอบ MSU Exit – Exam ว่า สิ่งที่ได้คือประกันคุณภาพระดับคณะ ทุกคนที่จบไปควรจะมีความรู้ภาษาอังกฤษเพื่อนำไปใช้ในอนาคต ดังนั้น ข้อสอบ Exit – Exam จึงเกิดขึ้น เพราะภาษาอังกฤษจำเป็น แต่พื้นฐานของนิสิตแต่ละคนที่จบมาจากชั้นมัธยมไม่เท่ากัน จึงมีคนสอบผ่านจำนวนน้อย ทั้ง ๆ ที่ข้อสอบนั้นไม่ได้ต่างจากระดับมัธยม หากจะโทษนิสิตที่มาสอบก็คงไม่ได้ เพราะพื้นฐานที่ถูกปลูกฝังมาไม่เท่ากัน

                “ถามว่าพิสูจน์อะไรได้ไหม พิสูจน์ว่าภาษาอังกฤษของแต่ละคณะต้องปรับปรุงมากแค่ไหนต่างหาก และการศึกษาของเรายังต้องปรับปรุง ต้องพัฒนาเยอะมาก เพราะกลายเป็นว่าสอนเรื่องเดิมทั้งที่สอนระดับมัธยมมาแล้ว ควรจะมาสอนเกี่ยวกับวิชาชีพ ภาษาอังกฤษในวิชาชีพ หรือภาษาอังกฤษเฉพาะด้าน ทั้งที่เป็นระดับมหาวิทยาลัย การสื่อสารจริง ๆ ในโลกของเราไม่ได้แค่คนอเมริกันหรือคนอังกฤษ อาจจะเป็นคนอินเดีย คนพม่า คนชาติอื่น ๆ ความหลากหลายของภาษาจำเป็นต้องมี แต่พื้นฐานของภาษาที่ดีในการพูด ก็คืออเมริกันหรือบริติช เพียงแต่ส่วนนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ การสื่อสารคือการทำอย่างไรก็ได้ให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจ ไม่ว่าคุณจะสำเนียงไหนก็ตาม การสื่อสารเป็นหน้าต่างของหลาย ๆ อย่าง ดังนั้น อาจารย์มองว่าการสอบนี้ควรจะมีต่อไป” ผศ.ดร.ดวงเด่น กล่าว

    นางสิรีวรรณ ตติยรัตน์ หัวหน้างานพัฒนาศักยภาพ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า จุดประสงค์ของการสอบ IT Exit – Exam เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ และวัดความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของนิสิตระดับปริญญาตรีก่อนสำเร็จการศึกษา รวมถึงสามารถนำผลสอบไปประกอบการสมัครเข้าทำงาน และนิสิตสามารนำความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไปประยุกต์ใช้ในการทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของข้อสอบทุกคณะมีการใช้ชุดข้อสอบเดียวกันทั้งหมด มีทั้งหมด 50 ข้อ ซึ่งข้อสอบจะถูกสุ่มมาจากคลังข้อสอบที่ได้ผ่านการพิจารณาการประชุมจากคณะกรรมการออกข้อสอบ ว่าสามารถใช้ในการทดสอบนิสิตได้ โดยในคลังข้อสอบนั้นจะมีข้อสอบจำนวนมากกว่า 500 ข้อ ข้อสอบที่นิสิตได้รับโดยระบบการสุ่มนั้น มีโอกาสสูงที่นิสิตแต่ละคนจะได้ข้อสอบไม่เหมือนกัน เนื่องจากระบบการสุ่มนั้นจำแนกเป็น ง่าย 15 ข้อ, ปานกลาง 15 ข้อ และยาก 20 ข้อ

                นางสิรีวรรณ เผยต่ออีกว่า สำหรับข้อมูลและจำนวนนิสิตที่ไม่ผ่านการสอบ จะมีการรายงานผลไปยังแต่ละคณะที่นิสิตสังกัดอยู่และรายงานผลต่อมหาวิทยาลัย ให้ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้รับทราบและจัดทำแผนปรับปรุงการเรียนการสอน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

                ด้าน ดร.อัญญารัตน์ นาถธีระพงษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษและพัฒนาภาษาต่างประเทศ สำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า สำนักศึกษาทั่วไปทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน เพื่อประสานกับคณะแทนมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีนโยบายว่า นิสิตที่จบมหาวิทยาลัยควรจะมีความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษและไอที ในระดับที่สามารถนำไปทำงานได้ สำนักศึกษาทั่วไปทำหน้าที่ในการจัดสอบภาษาอังกฤษ เป็นวิชาแกนกลาง ซึ่งอาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันตกจะประเมินระดับภาษา ซึ่งนิสิตที่เรียนจบแล้วควรจะมีภาษาในระดับที่สามารถนำไปทำงานได้ ภาษาอังกฤษในประเทศไทยจะใช้เกณฑ์ของ CEFR หรือเกณฑ์มาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษา จากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งมีการใช้กันทั่วโลก ตั้งแต่ระดับ A1 (ระดับเริ่มต้น) A2 (ระดับต้น) B1 (ระดับกลาง) B2 (ระดับกลางสูง) C1 (ระดับสูง) C2 (ระดับชำนาญ)  โดยแต่ละเกณฑ์จะสามารถบอกว่าผู้สอบอยู่ในระดับใด ซึ่งเป็นมาตรฐานการประกันคุณภาพ

                “ถ้านิสิตสอบผ่านจะเป็นการประกันว่า ตัวนิสิตมีความสามารถพอที่จะจบไปแล้วมีงานทำ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นทักษะของคนที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัย ควรจะมีทักษะเหล่านี้อยู่ในตัวอยู่แล้ว ส่วนนิสิตจะได้ความรู้เหล่านั้นมาอย่างไรบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับตัวนิสิตเอง เช่น ข้อสอบเก่าก็สามารถหามาลองทำได้ และยังมีการจัดติวที่คณะ ปีที่ผ่านมามีคนสอบผ่านเพียงแค่ 10% แต่ปีนี้สอบผ่านประมาณ 20% นั่นหมายความว่าเด็กเริ่มตระหนักว่าการสอบมีความจริงจังมากขึ้น และนิสิตสามารถดูข้อสอบย้อนหลังได้ เด็กมีการเตรียมตัว จึงทำให้จำนวนเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นไปด้วย และถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี บางอย่างต้องใช้เวลา การที่จะสร้างความตระหนักกับนิสิตว่าการสอบนี้มันจะมีผลต่ออนาคตอย่างไร” ดร.อัญญารัตน์ กล่าว

                นายชนกนันท์ ธรรมศิลป์ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวว่า ข้อสอบที่ได้รับไม่ยากนัก และคิดว่าเป็นประโยชน์ด้วย เนื่องจากสอบเกี่ยวกับ Microsoft Word และ Microsoft Excel ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการสมัครงาน และตัวเองก็มีพื้นฐานด้านไอทีอยู่แล้ว จึงสามารถทำได้

                นางสาวชลิดา ลี้พงษ์กุล นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า  สามารถทำข้อสอบได้ทั้งภาษาอังกฤษและไอที และคิดว่าในการสอบทั้งสองมีความเชื่อมโยงกันสูงมาก เพราะภาษาอังกฤษสามารถนำมาใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน รวมทั้งใช้กับการอ่านและเขียนเชิงไอทีได้ด้วย เพราะไอทีเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ที่ต้องเรียนรู้และนำมาใช้งาน ทั้งในการทำงานและการเรียน ในส่วนของข้อสอบถือว่าไม่ยากมาก สามารถวัดระดับคุณภาพการศึกษาของนิสิตได้ มองว่าควรมีการสอบ MSU Exit – Exam ต่อไป เพราะสามารถวัดระดับการศึกษาของนิสิต และวัดระดับคุณภาพการเรียนการสอนของอาจารย์ได้อีกด้วย

                นางสาวบุษบา ภูเก้าแก้ว นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การสอบภาษาอังกฤษ คะแนนที่ทำได้ค่อนข้างดี ข้อสอบไม่ได้ยากเกินไป เพราะเป็นการสอบเกี่ยวกับพื้นฐานทั่วไป ด้วยความที่เรียนสายภาษามาและความชอบภาษาเป็นส่วนตัว เลยทำให้สามารถทำข้อสอบได้ ส่วน IT คะแนนกลาง ๆ ข้อสอบบางข้อก็มองว่าไม่จำเป็น บางข้อก็ยากไป บางข้อก็ทำได้หรือเจอข้อสอบข้อที่ไม่ทราบก็สามารถตอบได้ ข้อสอบสามารถวัดความรู้เราก่อนที่เราจะออกไปฝึกงาน หรือก่อนเรียนจบไปปฏิบัติงานจริงนั้น เรามีความรู้เกี่ยวกับด้านนั้น ๆ มากน้อยเพียงใด อีกทั้งผลสอบหากอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ก็สามารถเอาไปอ้างอิงเวลาเราสมัครงานหรือขอทุนได้ด้วย

                 นางสาวบุษบา กล่าวเสริมอีกว่า สำหรับข้อสอบภาษาอังกฤษคิดว่า บางส่วนก็ง่ายไป อาจจะวัดทักษะความสามารถทางด้านภาษาได้ไม่ครอบคลุม คำถามควรจะถามเกี่ยวกับสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันหรือเกี่ยวกับธุรกิจการทำงานมากกว่า สำหรับข้อสอบไอที  มี 2 ชุด ชุดหนึ่งง่าย อีกชุดค่อนข้างยาก ควรทำเป็นชุดเดียวแบบเดียวกัน บางอย่างที่เก่าไป เช่น ช่องใดเสียบลำโพง สายนี้คือสายอะไร ระบบอินเทอร์เน็ตมีอะไรบ้าง แบบใดเป็นเช่นไรบ้าง บางทีเวลานำไปใช้ในชีวิตประจำวันก็นำไปใช้ได้ค่อนข้างน้อย

                 “ปัจจุบันก็เป็นยุคไฮเทคแล้ว ทันสมัยกว่าเดิม อีกอย่างมีข้อสอบเกี่ยวกับแอพและแอนดรอย หากนิสิตใช้ต่างประเภทกัน ก็แน่นอนว่านิสิตคนนั้นทำข้อสอบในข้อนั้น ๆ ไม่ได้ ถึงแม้จะมีการจัดติวก่อนสอบ แต่สิ่งที่ติวหรือสอนกับข้อสอบไม่เหมือนกัน คิดว่าการสอบควรมีต่อไป แต่ต้องออกข้อสอบวัดความรู้นิสิตที่สามารถนำไปได้จริงในชีวิตประจำวัน ส่วนข้อสอบภาษาอังกฤษ ในส่วนของการฟังมีปัญหา ควรเปิดเทปเป็นข้อ ๆ แยกเป็นข้อ ๆ ให้ชัด ทั้งนี้ ข้อสอบไอที ข้อสอบบางส่วนยากไป บางส่วนใช้ไม่ได้จริง บางส่วนง่ายไป ซึ่งก็จะส่งผลต่อคะแนนของนิสิตและภาพลักษณ์รวมของสาขา คณะ และมหาวิทยาลัยต่อไป” นางสาวบุษบา กล่าว

     

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ