More
    Thursday, March 3, 2022

    “เด็ก” ภาพเขียนแห่งความบอบช้ำ

    -

               ชีวิตน้อย ๆ ที่ลืมตาขึ้นมามองโลกผ่านดวงตาอันบริสุทธิ์ไร้เดียงสาแววตาคู่นั้นราวกับภาพเขียนใบเปล่าที่พร้อมรับการแต่งแต้มลากเส้นเล่นสีละเลงพู่กันตามแต่ใจศิลปินหากบรรจงลวดลายด้วยความรักความเข้าใจย่อมมีค่าและสวยงามไม่ต่างไปจากเด็กที่เติบโตในบ้านที่มีความรักความเข้าใจได้รับความอบอุ่นจากครอบครัวแต่หากถูกแต่งเติมด้วยความไม่ตั้งใจภาพเขียนใบนี้อาจเป็นเพียงผลงานที่สร้างขึ้นเพื่อระบายอารมณ์เพียงเท่านั้นสีสันถูกสาดกระจายด้วยความไม่ตั้งใจยั้งคิดสุดท้ายแล้ว…ภาพเขียนชิ้นนี้จะมีคุณค่าอยู่อีกหรือไม่ต่างไปจากเด็กที่ได้รับความรุนแรงในทุกๆรูปแบบไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ

     

    เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดลงภาพเขียน

     

             หากเปรียบภาพเขียนงานศิลป์เป็นสิ่งมีชีวิตทุกครั้งที่ศิลปินระบายอารมณ์อันขุ่นมัวลงไปที่ผลงานงานชิ้นนั้นก็คงจะบอบช้ำไม่น้อยเฉกเช่นเดียวกับปัญหาความรุนแรงในเด็กเป็นหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างรุนแรงเราอาจได้ยินกันจนหนาหูจนรู้สึกชินชาและคิดว่าไกลตัวแต่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอย่างที่คิดเรื่องราวที่น่าเศร้าเหล่านี้คล้ายกับเนื้อเรื่องในละครที่เราดูกันอยู่ทุกวันไม่ผิดเพี้ยน

             จากข้อมูลทางสถิติของศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ.2553-2558 พบว่า  สาเหตุการกระทำความรุนแรงต่อเด็กส่วนใหญ่เกิดจากสภาพแวดล้อม (สื่อลามกต่าง ๆ ความใกล้ชิด โอกาสเอื้ออำนวย) ประมาณ54.84% การใช้สารกระตุ้น (สุรา ยาเสพติด) 19.59% และจากข้อมูลการช่วยเหลือเด็ก พบว่า ความรุนแรงต่อเด็กเป็นความรุนแรงทางเพศมากที่สุดกว่า 62.55% ส่วนความรุนแรงทางร่างกาย 22.92%

             สำหรับจังหวัดมหาสารคามก็มีปัญหาความรุนแรงในเด็ก โดยส่วนใหญ่ปัญหาได้รับการไกล่เกลี่ยและไม่รุนแรงจนถึงขั้นต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ซึ่งในปี พ.ศ.2559 พบว่ามีเพียง 1 กรณี ที่เด็กถูกกระทำความรุนแรงอย่างร้ายแรง จนเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องแยกตัวเด็กออกมา

                    นางสาวกนกวรรณเหลืองมงคลเลิศหัวหน้าเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจ.มหาสารคาม หญิงวัยกลางคน ผมยาวประบ่าเล่าเรื่องราวของเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง ให้เราฟังด้วยสีหน้าจริงจังว่า“ในจ.มหาสารคามมีพี่น้องคู่หนึ่ง อายุ 8 และ12 ปี ถูกพ่อเลี้ยงทุบตีและใช้แรงงานอย่างหนัก ที่ร้ายที่สุดคือถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยที่แม่แท้ๆบอกว่าไม่รู้เรื่อง เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งไปยังแม่ว่าลูกถูกกระทำอย่างไรบ้างแม่กลับไม่เชื่อลูก สาปแช่งลูกต่าง ๆ นานา เพราะในความคิดแม่ พ่อเลี้ยงคือเทพบุตรพ่อเลี้ยงไม่เคยทำ”

             “เมื่อได้ศึกษาเชิงลึกก็พบว่า แม่ของเด็กกำพร้าแม่ และตอนเป็นเด็กก็ถูกกระทำความรุนแรงจากพ่อเช่นเดียวกันส่งผลให้แม่ของเด็กไม่มีโรล-โมเดล (Role Model) หรือแบบอย่างที่ดีจากพ่อและแม่อีกทั้งพ่อแท้ๆก็ทุบตีแม่ตลอด เมื่อมาเจอสามีใหม่ที่ไม่ทำร้ายตนจึงมองเขาคนนั้นเป็นเทพบุตร ซึ่งมันเหมือนเป็นวงจรแห่งความรุนแรง” หัวหน้าผู้พิทักษ์เด็กเล่าด้วยสีหน้ากังวล

     

             ทั้งนี้ ในการทำหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจะยึดหลักตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 23 ว่า ผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่นแต่ทั้งนี้ต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงและต้องมีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามปกครองมิให้ตกอยู่ในภาวะอันจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ

              พนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กต้องผ่านการฝึกอบรมทั้งในด้านจิตวิทยา พัฒนาการเด็ก และกฎหมาย  จึงจะได้รับการอนุมัติบัตรเจ้าหน้าที่โดยรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อพบเห็นหรือได้ข้อเท็จจริงอันน่าเชื่อถือว่ามีการใช้ความรุนแรงหรือทารุณกรรมในครอบครัว พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถที่จะเดินเข้าไปพาตัวเด็กออกมาได้ทันที

             “มีการประชุมกับสหวิชาชีพคือ อัยการ ตำรวจ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ที่เป็นเครือข่ายหรือทีมในจังหวัดมาหารือกันโดยเอาเด็กของเราไว้ตรงกลาง ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุยจะเป็นประโยชน์สูงสุดของเด็ก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา22 คือให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ” หัวหน้าบ้านพักเด็กฯ กล่าว

     

    ภาพเขียนใบเก่า สู่บ้านหลังใหม่

     

    แสงแดดยามบ่ายแผ่กระจายความร้อนไปทั่วสารทิศไม่เว้นแม้แต่รถสองแถวพาหนะที่นำเรามาสู่สถานที่ที่เก็บภาพเขียนมากมายซึ่งครั้งหนึ่งนั้นเคยบอบช้ำ

    เมื่อก้าวย่างผ่านรั้วสีขาวเข้ามายังไม่ทันตั้งตัว เด็กๆต่างยกมือขึ้นไหว้“สวัสดีครับ/ค่ะ”ขณะที่พวกเขากำลังซ่อมรถสองแถวคันเก่าพร้อมกับอาสาสมัครชาวต่างชาติอย่างสนุกสนานภาพเขียนที่เคยบอบช้ำในวันนั้นวันนี้กลับมามีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอีกครั้ง ด้วยความรักจากคนที่เด็กทุกคนเรียกว่า “พ่อ”

    คุณครูสุริยาสมใจเลขาธิการมูลนิธิบ้านลูกรัก จ.ขอนแก่น ชายวัยกลางคน ผู้มีแววตาที่ใจดีอบอุ่นซึ่งเปรียบเสมือนพ่อของเด็กทุกคนในบ้านอันแสนอบอุ่นหลังนี้ ผู้ซึ่งก่อตั้งมูลนิธิแห่งนี้ขึ้นเพื่อหวังที่จะให้เด็กทุกคนได้รับความคุ้มครองและสิทธิตามที่ควรจะได้

    “ครูมองว่าสถานการณ์การกระทำความรุนแรงในเด็กมีแนวโน้มที่สูงขึ้นและเป็นภาวะกดดันเด็กซึ่งปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆเพราะฉะนั้นเราศึกษาแค่ตัวเด็กไม่ได้ ต้องศึกษาโครงสร้างครอบครัวของเด็กด้วย เพราะผลกระทบจากความรุนแรงส่งผลต่อตัวเด็กค่อนข้างมาก” ครูสุริยาพูดถึงปัญหาด้วยแววตาจริงจัง

    ในส่วนของมูลนิธิบ้านลูกรักนั้นมีกรณีของเด็กที่ได้รับความรุนแรงหลายราย ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางด้านร่างกาย จิตใจ และด้านเพศเมื่อมีการร้องเรียนจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากหัวหน้าชุมชน เพื่อนบ้านซึ่งการเข้าไปช่วยเหลือเด็กจะต้องประสานกับเครือข่ายได้แก่เครือข่ายของศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) ซึ่งจะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

             ภายในศูนย์ช่วยเหลือสังคมจะมีโรงพยาบาลแพทย์และจิตแพทย์รวมถึงสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะมีนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐร่วมกับภาคเอกชนได้แก่มูลนิธิบ้านลูกรักที่จะทำงานร่วมกันพร้อมทั้งตำรวจเช่นตำรวจภูธรภาค 4 จ.ขอนแก่น ที่มีหน่วยงานดูแลด้านเด็กและสตรีโดยเฉพาะรวมทั้งประสานกับทางเทศบาลหรือหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงพยาบาลที่ดูแลเฉพาะส่วน

               เช่นโรงพยาบาลธัญญารักษ์จะคอยดูแลปัญหาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติดโรงพยาบาลจิตเวชจะคอยดูแลเกี่ยวกับโรคหรือสุขภาพทางจิตของเด็กโดยหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้จะทำงานประสานกันเป็นทีมเพื่อเข้าไปร่วมกันดูแลเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง

             “เมื่อทำการลงพื้นที่ เก็บข้อมูล ตรวจสอบเรียบร้อย เราจะประเมินกันในทีมซึ่งมี 2 กรณีคือไกล่เกลี่ยให้ผู้ปกครองรับปากที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอีกกรณีคือไกล่เกลี่ยไม่ได้ทางครอบครัวไม่มีความพร้อมเราก็จะปรึกษาร่วมกันในทีมว่าจะพาเด็กไปอยู่ที่ไหน ดูแลอย่างไร” พ่อของเด็ก ๆ ในบ้านลูกรักแห่งนี้เล่าด้วยท่าทีจริงจัง

             กรณีที่ส่งเด็กไปยังหน่วยงานของรัฐที่มีมาตรฐานและเป็นระบบจะมีที่พักและมีการจัดการศึกษาให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่ก็จะมีข้อจำกัดเช่นกรณีที่พี่น้องเป็นหญิงกับชายก็จะต้องแยกกันอยู่ซึ่งบางครั้งหน่วยงานอยู่คนละจังหวัดพี่น้องก็จำต้องแยกจากกัน

             แต่ในส่วนของมูลนิธิบ้านลูกรักจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าเช่นถ้าพ่อแม่ต้องการให้ลูกอยู่ด้วยกันหรือพ่อแม่ยังอยากมีส่วนร่วมในการดูแลลูกอยู่ในกรณีของครอบครัวยากจนก็สามารถทำได้ ส่วนปัญหาการกระทำความรุนแรงในเด็ก ส่วนใหญ่มูลนิธิจะพยายามเข้าไปช่วยเแก้ไขปัญหาให้กับทางครอบครัวด้วยซึ่งคือแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเช่นกรณีที่แม่เป็นโรคทางจิต ก็ต้องช่วยรักษาอาการของแม่ถือเป็นการดูแลทั้งเด็กและครอบครัวของเด็ก

             สำหรับกรณีที่เกิดการไกล่เกลี่ยเด็กยังอยู่กับผู้ปกครองในส่วนนี้ทางทีมช่วยเหลือเด็กมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจสอบว่าผู้กระทำผิดได้มีการทำร้ายหรือข่มขู่เด็กอีกหรือไม่ซึ่งจะประสานกับทางเครือข่ายของชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ได้แก่ผู้ใหญ่บ้านตำรวจและสถานีอนามัยในละแวกของหมู่บ้านที่เด็กอาศัยอยู่ให้มีการติดตามดูแลเด็กด้วยเนื่องจากมีความใกล้ชิดกับเด็กมากกว่า

             ครูสุริยากล่าวเสริมว่า “กรณีที่เด็กที่ได้รับความรุนแรงด้านร่างกายเมื่อมาอยู่ที่นี่เด็กจะอยู่ได้ง่ายเพราะเด็กถูกกระทำ ทำให้เกิดภาวะขาดความรักความเข้าใจเมื่อมาเจอเพื่อนเจอสังคมใหม่มีอาหารมีที่พัก มีคนใส่ใจเด็กก็ปรับตัวได้ง่ายแต่ในกรณีที่เด็กได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจากการที่พ่อกับแม่ทะเลาะเบาะแว้งกันจนเกิดปัญหาการหย่าร้างทำให้เด็กไม่มีคนดูแลแต่พ่อกับแม่ก็ยังรักลูกอยู่เด็กก็จะคิดถึงบ้านจะปรับตัวยากต้องใช้เวลาบางคนซึมเศร้าเพราะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องมาอยู่ที่นี่เพราะเคยมีพ่อกับแม่ดูแลซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นความรุนแรงด้านจิตใจ”

             ครูยาบอกกับเราว่าที่ตั้งชื่อมูลนิธิแห่งนี้ว่า “บ้าน” ไม่ใช่สถานสงเคราะห์ก็เพราะอยากให้เด็กๆรู้สึกว่าที่นี่คือบ้านของพวกเขาจริงๆเมื่อการพูดคุยเดินทางมาถึงบทสนทนาสุดท้ายทำให้รู้และตระหนักได้ว่า ความรัก ความอบอุ่นของสมาชิกในบ้านหลังใหญ่แห่งนี้นี่เอง คือสิ่งที่ทำให้ภาพเขียนที่บอบช้ำ ไร้คุณค่า กลับมามีความหมายอีกครั้ง ต่างตรงที่ครั้งนี้ไม่ได้ใช้พู่กันเขียน หากแต่ใช้ความรัก ค่อย ๆ แก้ไขภาพที่ผิดเพี้ยนอย่างทะนุถนอนและเข้าใจมัน

    ภาพเขียนแห่งความบอบช้ำ

                 เมื่อการผสมสีไม่ได้ดั่งใจสีที่ได้ผิดเพี้ยนภาพเขียนจึงไร้ซึ่งความหมายไร้คุณค่าที่จะเก็บรักษาไร้คุณค่าที่จะชื่นชมท้ายที่สุดก็แค่โยนทิ้งเหล่าเด็กผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงก็ไม่ต่างจากภาพเขียนที่ถูกละเลงไปด้วยสีสันที่ผิดเพี้ยนจนรู้สึกว่าตนไร้ค่าไร้ความหมายร่างกายและจิตใจบอบช้ำจนต้องได้รับการเยียวยารักษาจะต่างก็ตรงที่ไม่สามารถโยนทิ้งแล้วเขียนใหม่ได้

             นายศุภชัย ตู้กลาง หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชายหนุ่มร่างสันทัด ท่าทางใจดีอธิบายให้เราฟังด้วยท่าทีใส่ใจว่า

             “เด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัวซึ่งจะกระทบต่อเด็กทั้งในด้านร่างกายและจิตใจเช่นเด็กจะรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับเขาพ่อแม่ยังทำร้ายเลยและเกิดการป้องกันตัว คือจะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวหรือแม้กระทั่งปัญหาเด็กเร่ร่อนก็มีสาเหตุมาจากเด็กทนความรุนแรงในครอบครัวไม่ไหวจนต้องแยกตัวออกมาจากครอบครัว”

             ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กจะกระทบใน 3 ด้านได้แก่ด้านร่างกายจิตใจและสังคมในด้านร่างกายได้แก่การเจริญเติบโตสติปัญญาหรือพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กเมื่อเด็กถูกกระทำความรุนแรงจะกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กที่จะไม่สมบูรณ์ตามวัย

             ด้านจิตใจเด็กจะเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงมองว่าโลกนี้ไม่มีความปลอดภัยเกิดกลไกการป้องกันตนเองเช่นเป็นเด็กก้าวร้าวหรือซึมเศร้าและอาจมองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติและใช้ความรุนแรงเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา

             ด้านสังคมเช่นการศึกษาหรือการประกอบอาชีพในอนาคตเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือเก็บตัวจนไม่สามารถเข้ากับผู้อื่นได้ไม่มีทักษะทางสังคมการประกอบอาชีพในอนาคตถ้าเด็กโดนทำร้ายมากๆจนมองไม่เห็นคุณค่าในตนเองเด็กอาจไปทำอาชีพที่ไม่สุจริตในอนาคตได้

             “การกลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุขเป็นไปได้ที่เด็กจะกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติเพราะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านเด็กหลายหน่วยงานถ้าหน่วยงานเหล่านี้ได้เข้ามาดูแลเด็กเด็กก็มีโอกาสที่จะกลับไปใช้ชีวิตปกติในสังคมได้แต่เด็กก็อาจจะกลับไปเป็นแบบเดิมได้อีกต้องดูที่สภาพแวดล้อมของเด็กด้วยอาจต้องแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหาคือพ่อกับแม่ของเด็กและหน่วยงานต่างๆต้องเข้าไปประสานกับทางชุมชนเพื่อดูแลเด็กอย่างน้อยขอแค่ให้เด็กดีขึ้นอาจจะไม่ถึงขั้นหายดีทั้งหมดแค่ 50% ก็ถือว่าดีแล้วโดยหวังว่าเด็กจะไม่กลับไปเป็นภาระของสังคมก็เพียงพอแล้ว” นักจิตวิทยาหนุ่มอธิบาย

             นักจิตวิทยาหนุ่มอธิบายเพิ่มเติมว่า การเยียวยารักษาเด็กจะเริ่มโดยการดูสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กก่อนว่าเกิดจากอะไรเช่นถ้าเป็นปัญหาด้านร่างกายได้แก่สุขภาวะอนามัยของเด็กดูว่าเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ดีที่เหมาะสมหรือไม่การกินการอยู่ของเด็กเป็นอย่างไรหรือโรคภัยไข้เจ็บของเด็กมีหรือไม่ ในด้านสุขภาพจิตจะมีเทคนิคหนึ่งที่จะใช้ในการเยียวยาบาดแผลภายในจิตใจโดยมีเป้าหมายให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเองดูความถนัดและเชาว์ปัญญาของเด็กได้แก่ทฤษฎีการเผชิญความจริงเป็นวิธีการที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้การรู้จักรับผิดชอบโดยการเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันเพื่อช่วยให้เด็กได้ลืมเหตุการณ์เลวร้ายในอดีต

              “ทางหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือเด็กมีหน้าที่ส่งเสริมความถนัดต่าง ๆ ให้กับเด็กเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเกิดความพร้อมที่จะเผชิญโลกและเกิดการเรียนรู้ว่าสิ่งเลวร้ายต่างๆที่ได้เจอมานั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต” ชายหนุ่มร่างสันทัดเอ่ยทิ้งท้ายด้วยท่าทีจริงจัง

    ภาพเขียนที่สะท้อนความไม่มั่นคงของสังคม

             นางสุภานัน เทียนทอง นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ รักษาการแทน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จ.มหาสารคาม (สนง.พมจ มค.) หญิงวัยกลางคน ผิวขาว ท่าทางใจดี ให้ข้อมูลกับเราว่าในจ.มหาสารคามมีกรณีการใช้ความรุนแรงต่อเด็กอยู่บ้างสนง.พมจ มค. มีหน่วยงานในสังกัดได้แก่บ้านพักเด็กและครอบครัวของจังหวัดดูแลส่วนนี้โดยตรงในการรองรับและแก้ปัญหาเด็กเมื่อได้รับแจ้งปัญหาจะมีเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ลงไปประเมินสภาพแวดล้อมเพื่อดูว่าจะทำการช่วยเหลืออย่างไรเพื่อลดความเครียดและการใช้ความรุนแรงให้ลดน้อยลง

             การแก้ไขปัญหาจะมีทีมสำหรับลงไปแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนเมื่อแก้ปัญหาแล้วจะดำเนินการประเมินครอบครัวใหม่และจัดการด้านทรัพยากรของเด็กในด้านต่างๆเช่นการเงินการศึกษาการบริโภคภายใต้กองทุนการช่วยเหลือครอบครัวและมีการติดตามผลเป็นระยะจนกว่าจะแก้ปัญหาได้

             “ด้านการติดตามผลจะทำอย่างเป็นระบบโดยการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตามขั้นตอนเช่นนำไปรักษาสุขภาพจิตตามพ.ร.บ.สุขภาพจิตและพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวปี 2550  ซึ่งเป็นความผิดประเภทยอมความได้หากมีการไกล่เกลี่ยจะมีการทำบันทึกคำร้องไว้ก่อนแต่เมื่อกระทำผิดซ้ำอีกศาลจะนำคำร้องทุกข์มาพิจารณาตัดสิน

             การติดตามอย่างใกล้ชิดจะอาศัยศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค) ซึ่งจะมีทีมงานที่ประกอบไปด้วยผู้นำของหมู่บ้านที่ สนง.พมจ มคจัดตั้งขึ้นเพื่อให้มีความใกล้ชิดในการดูแลติดตามและป้องกันปัญหาความรุนแรงในชุมชนพร้อมทั้งส่งเสริมความเข้มแข็งในครอบครัวอีกกว่า 99 ศูนย์ภายในจังหวัด” นักพัฒนาสังคมชำนาญการกล่าวทิ้งท้าย

                สุดท้ายแล้วปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่มีความสำคัญ ซับซ้อนและละเอียดอ่อน ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่ายในการแก้ปัญหา ความรักและความเข้าใจคงเปรียบราวกับเส้นและสีที่ถูกบรรจงแต่งแต้มลงบนภาพเขียน หากปราศจากความรักแล้ว ไม่ว่าภาพเขียนจะถูกถ่ายทอดเรื่องราวอย่างไรลงไป ก็คงไม่มีความหมายและไร้ค่าในที่สุด

     

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ