More
    Tuesday, March 1, 2022

    มอเตอร์ไซค์ล้น มมส เผยระบบขนส่งสาธารณะอ่อนแอ

    -

    นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชี้ต้องเพิ่มขนส่งสาธารณะ วิศวกรฯ เปรยจัดการมอเตอร์ไซค์ยาก เล็งมีแนวคิดสร้างจุดจอดรถเชื่อมขนส่งปี 61 นายกองค์กรนิสิตกร้าวหยุดโบ้ยปัญหาให้นิสิต ทุกฝ่ายควรเร่งหารือแก้ปัญหา

    กรณีจำนวนจักรยานยนต์นับหมื่นคันที่จอดอัดแน่นอยู่ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ส่งผลต่อปัญหาที่จอดรถ และการจราจรติดขัดจนเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศักดิ์ สิงห์สีโว อาจารย์ประจำสาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า โครงการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การลดโลกร้อนหรือการลดการใช้พลังงานในมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั้น ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังขาดความร่วมมือของทั้งนิสิตและบุคลากรเอง การจะเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวไม่ใช่เพียงแต่มีพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ต้องมีการจัดการในทุกด้าน ตั้งแต่การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการด้านพลังงานที่ต้องลดการใช้พลังงานภายในมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง การพัฒนาสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่สามารถทำคนเดียวได้ สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือต้องมีการพูดคุยกันในระดับนโยบายของมหาวิทยาลัยกับนโยบายของแต่ละคณะ เพื่อที่จะถ่ายทอดไปยังนิสิต คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ทั้งหมด

    ผศ.ดร.อดิศักดิ์ สิงห์สีโว กล่าวต่อว่า การเดินทางส่วนใหญ่ของนิสิต คือรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งจะต้องมีการใช้พลังงานและเกิดการเผาผลาญเชื้อเพลิงคือแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และจำนวนรถมอเตอร์ไซค์กว่า 20,000 คัน ย่อมเกิดปริมาณของการเผาผลาญเป็นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยควรจะมีระบบการขนส่งสาธารณะที่ทำให้นิสิตเดินทางได้สะดวก ยกตัวอย่างเช่น มีจุดจอดรถบัสจากสถานีขนส่งจังหวัดมหาสารคามภายในมหาวิทยาลัย แทนการเดินทางไปขึ้นรถที่สถานีขนส่ง เป็นต้น

    _MG_8183

    นายปฏิวัติ ไชยสัตย์ วิศวกร สำนักงานผังแม่บทฯ กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าว่า การจัดการจำนวนการใช้รถจักรยานยนต์ในมหาวิทยาลัยมหาสารคามถือเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่การใช้รถจักรยานยนต์สะดวกที่สุด แตกต่างจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานครที่การเดินทางที่สะดวกที่สุดคือรถสาธารณะ โดยทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้พยายามจัดให้มีรถรางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนิสิต มีการวิ่ง 80 รอบต่อวัน จำนวน 5 คัน ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์นิสิตที่พักอยู่นอกมหาวิทยาลัย เพราะรถรางวิ่งให้บริการจากหอในและวิ่งรอบมหาวิทยาลัยเท่านั้น และภายในปีการศึกษาหน้า รถรางจะเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ

    นายปฏิวัติ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมีแนวความคิดมาหลายปีที่จะสร้างจุดจอดรถและเชื่อมต่อด้วยรถสาธารณะ ให้มอเตอร์ไซค์มีจุดจอดแค่ตรงทางเข้า ซึ่งมหาวิทยาลัยยังคงใช้เวลาในการศึกษาเพื่อประเมินผล หากแนวคิดนี้ตกผลึกและมีงบประมาณที่เหมาะสม คาดว่าในอนาคตการใช้รถจักรยานยนต์ภายในมหาวิทยาลัยก็จะน้อยลง นอกจากนี้ปีการศึกษา 2561/2562  มหาวิทยาลัยจะทำการสร้างทางเดินมีหลังคา (cover way) เชื่อมต่อระหว่างตึกหลักภายในมหาวิทยาลัย โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นิสิตสามารถเดินไปเรียนระหว่างตึกอย่างสะดวกและลดการใช้รถมอเตอร์ไซค์ในการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ

    นายปฏิวัติ กล่าวต่ออีกว่า การเปลี่ยนความคิดของนิสิตถือเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องการใช้รถมอเตอร์ไซค์ แต่รวมถึงเรื่องการจัดการพลังงานและขยะที่นิสิตยังขาดวินัย หากสามารถเปลี่ยนความคิดของนิสิตได้ มหาวิทยาลัยมหาสารคามจะประสบความสำเร็จด้านการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างมาก

    นายจิรพนธ์ ทองบ่อ นายกองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสีเขียวถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งบางมหาวิทยาลัยอาจมีข้อจำกัด ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีจำนวนนิสิตค่อนข้างมากกว่า 40,000 คน สิ่งอำนวยความสะดวกอาจไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการใช้มอเตอร์ไซค์เป็นจำนวนมาก เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งไม่เพียงพอต่อจำนวนนิสิตทั้งหมด หากทางมหาวิทยาลัยต้องการให้ลดการใช้มอเตอร์ไซค์ก็ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างอื่นทดแทน เช่น การจัดให้มีรถรับส่งหรือรถสาธารณะที่รวดเร็ว และจัดให้มีการบริการตามเส้นทางตลอดเวลา

    นายจิรพนธ์ กล่าวต่ออีกว่า ได้มีการหารือระหว่างมหาวิทยาลัยกับองค์การนิสิต ที่จะให้มีจุดจอดรถ ซึ่งเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยแต่ยังไม่สามารถเอาพื้นที่คืนมาได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ติดกับชุมชนทำให้ต้องมีการประเมินถึงผลกระทบหากมีการก่อสร้าง และค่อนข้างต้องใช้เวลา หากสามารถจัดการจุดนี้ได้ ก็จะมีจุดจอดรถและระบบขนส่งที่ดีขึ้น และการสร้างทางเดินมีหลังคา (cover way) ที่เป็นทางเท้าสำหรับให้นิสิตเดินระหว่างตึก ซึ่งหลังจากทางมหาวิทยาลัยได้มีการเก็บค่าเทอมแบบเหมาจ่ายที่เริ่มในปีการศึกษา 2561 แล้วก็จะนำเงินมาพัฒนาโครงการนี้ภายในอนาคต

    “ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยไม่ใช่ความผิดของนิสิตเพียงฝ่ายเดียว หากมีมาตรการที่เหมาะสมนิสิตย่อมปฎิบัติตาม แต่มหาวิทยาลัยต้องมีสิ่งที่คอยซับพอร์ทต่อมาตรการนั้น เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกมีมากขึ้นหรือไม่ รถรางมีเพียงพอหรือไม่ ซึ่งต้องมีการจัดการหลายภาคส่วน โดยอาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัยก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นิสิตด้วย” นายกองค์การนิสิต กล่าวทิ้งท้าย

    นางสาวอังคณา  ชมภูศรี  นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาภูมิสารสนเทศ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยมุมมองของตนว่า ไม่เคยทราบมาก่อนว่ามหาวิทยาลัยติด 1 ใน 10 มหาวิทยาลัยสีเขียวของประเทศไทย ตนนึกว่ามหาวิทยาลัยสีเขียวจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่สีเขียวที่ให้ร่มเงามีความร่มรื่น และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้จักรยานในการเดินทางไปเรียน มีการใช้บริการรถรางของมหาลัยหรือมีการใช้รถอย่างมีระบบ แต่กลับกันนิสิตในมหาวิทยาลัยกลับมีการใช้รถจักรยานยนต์อยู่เป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งปัญหาการจราจรที่ติดขัด ไม่มีพื้นที่ในการจอดรถ และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งอาจเพราะมีนิสิตที่พักอยู่นอกมหาวิทยาลัย การเดินทางโดยมอเตอร์ไซค์จึงเป็นเรื่องที่สะดวกกว่า

    นางสาวอังคณา กล่าวอีกว่า อยากให้มหาวิทยาลัยมีการเพิ่มรถราง เพื่อให้รองรับการใช้งานของนิสิตที่มีจำนวนมากขึ้น และอยากให้มีการสร้างที่นั่งพักตามจุดจอดรถรางเพื่อเอาไว้หลบแสงแดดและฝน หรือส่งเสริมให้มีการปั่นจักรยานไปเรียนมากขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยอาจต้องมีการจัดบริการให้ยืมรถจักรยานภายในมหาวิทยาลัยอย่างทั่วถึง เพราะตนมองว่าหากมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ นิสิตย่อมเลือกสิ่งที่ดีให้กับตัวเองอยู่แล้ว

    7

    ทั้งนี้ มหาลัยสีเขียวถูกจัดขึ้นโดย UI Green Metric world  University Ranking 2016  ของมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียซึ่งมีมหาลัยต่างๆทั่วโลกเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมหาลัยสีเขียวเพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อความอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    จากการจัดอันดับในวันที่ 29 ธันวาคมปี 2559 มหาวิทยาลัยมหาสารคามถูกจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับที่ 9 ในประเทศไทยซึ่งมีเกณฑ์การประเมินทั้งหมด 6 ด้านคือ 1. การวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน  2. การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3.การจัดการของเสีย 4. การจัดการน้ำ 5.การศึกษา 6. ระบบการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    ด้านระบบการขนส่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีการจัดบริการรถรางที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับนิสิตที่ต้องการเดินทางไปเรียนภายในมหาวิทยาลัยเพื่อลดการใช้รถจักรยานยนต์และลดการใช้พลังงาน แต่ก็ไม่สามารถรองรับนิสิตในมหาวิทยาลัยได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากไม่สามารถให้บริการภายนอกมหาวิทยาลัยได้การสัญจรที่สะดวกที่สุดสำหรับนิสิตยังคงเป็นการใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัว จึงส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความแออัดของจำนวนรถจักรยานยนต์ภายในมหาวิทยาลัยซึ่งมีจำนวนมากกว่า 20,000 คัน

     

     

     

     

     

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ