More
    Monday, March 7, 2022

    ” เจาะ ขุด อุด ถม ” ปิดกั้นทางระบายน้ำ ต้นเหตุน้ำท่วมขังถนนรอบ มมส

    -

    ผอ.กองช่างฯ ชี้เหตุน้ำเจิ่งนองรอบ มมส เกิดจากสร้างถนนแต่ไร้ทางระบายน้ำลงน้ำชี วิศวกรโยธาฯ ย้ำเมืองเติบโตเร็ว ผู้ประกอบการสร้างอาคาร-หอพักขวางทางน้ำ ด้านนักวิชาการสถาปัตย์ฯ วอนเจ้าของที่ดินอย่าแข่งกันถมที่สูงซ้ำเติมปัญหา ควรหันหน้าวางแผนร่วมกัน

    จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตปัญหาน้ำซึมออกมาเจิ่งนองท่วมขัง บนถนนหลายสายรอบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) จ.มหาสารคาม ซึ่งไม่ได้มีปัญหาเฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น แต่พบน้ำเจิ่งนอนบนถนนเกือบตลอดทั้งปี จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุของปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะเหตุใด

                ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจพบว่า สภาพถนนพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) พบปัญหาน้ำเจิ่งนองและท่วมขังในหลายพื้นที่ เนื่องจากบริเวณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่ม และเมื่อมีการปรับปรุงถนนให้มีเหมาะกับการใช้งานที่มากขึ้นเมื่อมีการสร้างมหาวิทยาลัย แต่ถนนส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบการวางท่อและทางระบายน้ำที่ดี จึงส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำเจิ่งนองอยู่บ่อยครั้ง และจุดที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดที่มีน้ำเจิ่งนองคือ ถนนหมู่บ้านเมธา(เส้นด้านหลังหมู่บ้าน) ทาวน์โฮม2 อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

    นายไพรัตน์ ทัศน์ศรี ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลตำบลท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เผยว่า สาเหตุที่มีน้ำขังเจิ่งนองตลอด แม้ไม่ใช่ช่วงฤดูฝนถนนเส้นหมู่บ้านเมธา-วัดป่าดอนนา ซึ่งเป็นเขตความดูแลสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากสมัยก่อนสองข้างทางจะมีทางระบายน้ำ แต่ทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดมหาสารคาม มีการปรับปรุงสภาพถนน แต่ยังไม่การต่อเชื่อมให้มีทางระบายน้ำเหมือนเดิม ทำให้เกิดน้ำขังเจิ่งนองขึ้น”

    นายไพรัตน์ กล่าวต่อว่า ทางเทศบาลได้ดำเนินการประสานงานกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดมหาสารคามให้ดำเนินการสร้างทางระบายน้ำ ซึ่งบริเวณนั้นเป็นเขตแบ่งระหว่างตำบลท่าขอนยางและตำบลขามเรียง แม้มีการแก้ไขปัญหาโดยการขุดลอกหลายครั้ง แต่ผลตอบรับยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากพื้นที่บริเวณมหาวิทยาลัยมหาสารคามก่อนมีการสร้างมหาวิทยาลัย พื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นที่ลุ่ม ที่เกิดน้ำท่วมขังได้ง่ายอยู่แล้ว และเมื่อมีการสร้างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีการสร้างอาคารเรียนและหอพักต่างๆ จำนวนมาก ทำให้พื้นที่ดินดูดซับน้ำ ถูกนำไปสร้างหอพักและอาคารต่างๆจนมีพื้นที่ระบายน้ำน้อยมาก และปิดทางเชื่อมในการระบายน้ำลงแม่น้ำชี เมื่อน้ำไม่สามารถระบายได้จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมขังตลอดเวลา และส่งผลให้การแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการวางท่อระบายน้ำใหม่ให้เพียงพอในการระบายน้ำได้ทั้งหมด จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำเจิ่งนองได้อย่างถาวร

    ด้านนางสาวปฐมา พุทธคุยนาถ วิศวกรโยธาเทศบาลตำบลท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม กล่าวว่า สภาวะปัญหาน้ำเจิ่งนองมีส่วนเกิดจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่ขาดการวางแผนในด้านการระบายน้ำอย่างเหมาะสม เช่น ในการก่อสร้างมหาวิทยาลัยควรต้องศึกษาพื้นที่อย่างละเอียดก่อนว่ามีความเหมาะสมที่จะทำการก่อสร้างหรือไม่ เพราะเมื่อประชากรของมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีมากขึ้น เกิดการก่อสร้างหอพักหรือสถานที่อำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น มีการสร้างอาคารและหอพักขวางทางระบายน้ำเดิมและไม่มีการสร้างทดแทนขึ้นมาใหม่

    “เช่น นาย ก. ถมที่ขึ้นสูงเพื่อไม่ให้น้ำท่วม แต่นาย ข. และนาย ค. เพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆต้องรับภาระน้ำแทน คราวนี้เวลาใครจะสร้างบ้านหรือหอก็จะถมที่ให้สูงกว่าคนอื่นๆเสมอ และความคิดนี้ได้กลายมาเป็นชุดความคิดมาตรฐานในการก่อสร้างอาคารและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไปแล้ว”นางสาวปฐมา กล่าว

    นางสาวปฐมา กล่าวต่อว่า จากปัญหาข้างต้นจึงเป็นเหตุให้ เมื่อฝนตกและเกิดน้ำท่วม น้ำจึงไม่มีทางระบายออกสู่แหล่งระบายน้ำรอบข้าง ทำให้เกิดเป็นสาเหตุของน้ำเจิ่งนอง เมื่อกล่าวถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาถือเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ เพราะต้องทำการรื้อถนนและวางท่อระบายน้ำใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านระแวกนั้น ฉะนั้นต้องให้ชาวบ้านยินยอมหรือเห็นด้วยในการปรับปรุง

    ทางด้านอาจารย์ศุภธิดา สว่างแจ้ง อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ สาขาผังเมือง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวชี้แจงว่า จากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ สาเหตุหลักคือพื้นที่บริเวณมหาวิทยาลัยมหาสารคามส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเนิน มีแม่น้ำชีไหลผ่าน (ลุ่มน้ำชี) ต่อมาภายหลังได้มีบ้านเรือน และที่พักอาศัยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ต้นตอของปัญหาคือ การไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐาน เช่น ถนน ที่ระบายน้ำ โครงการการประปา การกำจัดขยะ และรวมถึงสาธารณูปโภค เพื่อไว้รองรับการดำรงชีวิตของประชาชน

    อาจารย์ศุภธิดา กล่าวต่อว่า ภายหลังได้มีการสร้างหอพักหลายแห่งนอกเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อรองรับนักศึกษาจำนวนมากขึ้น โดยเมื่อก่อนพื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่น้ำไหลผ่านหรือเป็นพื้นที่ลุ่ม สังเกตได้จากพื้นที่บริเวณนั้นมีคูหรือคลองน้ำ แต่เกิดการสร้างถนนและบ้านเรือนจากการถมที่ดิน และไม่มีที่ระบายน้ำ เกิดปัญหาตามมาคือน้ำขัง น้ำท่วมตามฤดู จึงเกิดผลกระทบในระยะยาวคือการถมที่ให้สูงขึ้น เพื่อให้บ้านเรือนของตนรอดพ้นจากวิกฤต โดยการใช้งบประมาณในการวางท่อระบายน้ำค่อนข้างสูง และจะต้องได้รับอนุมัติจากกรมโยธาจังหวัดมหาสารคาม ปัญหาเหล่านี้จึงมักจะเกิดในสถานที่รอบนอกมหาวิทยาลัยเท่านั้น

    “อีกประการหลักคือ เกิดจากการเห็นแก่ตัวของตน การถมที่สูงขึ้นเพียงเพราะให้บ้านเรือนของตนเองอยู่รอด จนไม่คำนึงถึงผลกระทบตามมา น้ำจึงมักจะท่วมขังบริเวณที่เดิมๆไม่สามารถระบายไปไหนได้ และในปัจจุบันยังมีการแบ่งที่ขายเพื่อสร้างหอพัก จะลืมคำนึงถึงการวางโครงสร้างของทางระบายน้ำ เกิดปัญหาน้ำท่วมขังและมีการเจิ่งนองของน้ำขึ้นมา” อาจารย์ศุภธิดา กล่าวทิ้งท้าย

    นางสาวปวัณรัตน์ พายัพสถาน นิสิตชั้นปีที่4 สาขาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเคยเห็นน้ำขังบนถนนทั้งที่ในขณะนั้นฝนไม่ตก คิดว่าเกิดจากสภาพผิวหน้าถนนที่เป็นแอ่งเลยเป็นเหตุทำให้น้ำขังเจิ่งนอง และอีกประเด็นคือการขยายตัวของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีจำนวนนิสิตเพิ่มขึ้นทำให้มีการสร้างหอพักทับแอ่งน้ำ และไม่มีทางระบายน้ำออกจึงเป็นสาเหตุทำให้น้ำเจิ่งนอง และเกิดอุบัติเหตุบนถนน เพราะเมื่อมีน้ำขังก็จะเกิดตะใคร่น้ำทำให้ลื่น ส่งผลให้ผู้ขับขี่สัญจรไปมาต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก

    กดแชร์ข่าวนี้

    โพสล่าสุด

    DADA delivery ธุรกิจเพื่อคนมหาสารคาม

    ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร้านอาหารถูกสั่งให้จำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านเท่านั้น ตลอดจนนโยบายให้กักตัวอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ถูกเรียกใช้บริการเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมหาสารคามเองก็มีเดลิเวอรี่หลายเจ้าให้เรียกใช้บริการ ทำให้คนในจังหวัดสะดวกสบายและลดวามเสี่ยงจากการสัมผัสเชื่อไวรัส COVID-19 อีกด้วย

    ครูชี้ นักเรียนดี ไม่ต้องพึ่งไม้เรียว

    การลงโทษนักเรียนนั้น มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษตามกฎระเบียบไปจนถึงการลงโทษที่นอกเหนือจากกฎระเบียบ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ข่าว หรือโดนกระทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ลงโทษนอกเหนือจากกฎระเบียบ หรือลงโทษโดยการใช้อารมณ์ตัดสิน ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบในด้านร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียนในโรงเรียน

    กรมอนามัยเผย อาหารทะเล ยังกินได้ แนะปรุงให้สุกทุกเมนู

    กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุขแนะประชาชน ให้กินสุก กินร้อน โดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมกินแบบยำ หรือปิ้งย่าง ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

    ร้านขายดอกไม้รับปริญญา ชี้ยอดขายปีนี้ลดลง

    "ร้านดอกไม้และของที่ระลึกที่มาขายช่วงรับปริญญาในมมส.ชี้ยอดขายปีนี้ลดลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ"

    จัดใหญ่ MSU Open house 2020 เปิดบ้านครั้งแรก 17 คณะ 2 วิทยาลัย

    กองบริการการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับกองกิจการนิสิตและ 17 คณะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรม MSU Open House ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2563 ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้ง 2 วิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสได้รู้จักกับคณะสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการให้นักเรียนที่สนใจลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือเข้ามาลงทะเบียนหน้างาน

    HashTag ที่น่าสนใจ